ชมรมแพทย์ชนบทยื่นสอบ รมว.-ปลัด สธ.ส่อทุจริตงบไทยเข้มแข็ง-สปสช.
หมอชนบทกว่า 100 คน ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน-ป.ป.ช.-วุฒิสภา สอบปลัด-รมว.สธ.ส่อทุจริตงบไทยเข้มแข็ง-งบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
วันที่ 19 มิ.ย.55 สมาชิกชมรมแพทย์ชนบทกว่า 100 คนนำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมฯ ยื่นหนังสือต่อนายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) และ นพ.ไพจิตย์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่าประพฤติมิชอบในหน้าที่ราชการส่อเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริตในโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และการทุจริตงบค่าเสื่อมของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับประเทศร้อยละ 10 ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปีงบประมาณ 2555
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนทบได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกและหน่วยงานหลายแห่งถึงพฤติกรรมดังกล่าวของ รมว. และปลัด สธ. โดยในกรณีโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 54 อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินโครงการฯวงเงิน 3,426,349,100 บาท และต่อมา ครม.มีมติให้ สธ.ทบทวนความจำเป็นเหมาะสมและแจ้งยืนยันไปที่กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาและเสนอให้ ครม.อนุมัติ แต่ทั้ง รมว.และปลัดสธ.กลับไม่ใส่ใจ
กระทั่งถึงวันที่ 12 มิ.ย. 55 ที่กระทรวงการคลังขีดเส้นตายให้ สธ.ยืนยันความจำเป็นอีกครั้งก็ยังเพิกเฉย ส่งผลให้งบประมาณของกระทรวงที่จะนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการจัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ที่จะมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพมาตรฐานตกไป ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขกลายเป็นโรงพยาบาลอนาถา ขาดความน่าเชื่อถือ นำมาซึ่งการล้มเหลวของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ สธ.ไม่ได้ตั้งงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในปีงบประมาณ 2555 แต่อย่างใด และขณะนี้ผ่านมาจนกระทั่งจะหมดเวลาการใช้จ่ายเงินกู้แล้ว แต่ปลัด สธ.และ รมว.สธ.ก็ยังไม่ยอมนำเรื่องเข้า ครม. จึงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่คำนึงถึงความจำเป็นในการใช้เครื่องมือแพทย์เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย ขาดคุณสมบัติในตำแหน่งหน้าที่ และอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาให้หน่วยงานภายใต้การกำกับมีคุณภาพมาตรฐาน เนื่องจากงบประมาณก้อนนี้เป็นงบก้อนเดียวที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาหน่วยบริการสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2555
นอกจากนี้ยังพบว่า การบริหารงบประมาณลงทุนคือค่าเสื่อมระดับประเทศของปลัด สธ.ภายใต้การกำกับของ รมว.สธ. กลับใช้งบอย่างไม่ประหยัดและมีประสิทธิภาพมีเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริต ซ้ำรอยกรณีโครงการไทยเข้มแข็งฉาวภาคแรก เช่น ตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องซักผ้าระบบอุโมงค์ 39.3 ล้านบาท ทั้งที่กลาง ก.พ.55 กรมสอบสวนคดีพิเศษเพิ่งเข้าไปตรวจสอบวชิรพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และรับไว้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งอาจส่อเจตนาทุจริตในราคา 34 ล้านบาท ตลอดจนกรณีการอนุมัติงบประมาณจัดซื้อเครื่อง Real time PCR หรือเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม)กว่า 5 เครื่อง ราคาเครื่องละ 8.5 ล้านบาท ทั้งที่หลายหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งดำเนินการลงนามในสัญญาเพียงราคาเครื่องละ 3.5-4.3 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ทางชมรมแพทย์ชนบทจะเดินทางไปยื่นหนังสือดังกล่าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และวุฒิสภา เพื่อให้ร่วมตรวจสอบด้วย .