ครม.เห็นชอบจัดโซนนิ่งมาบตาพุดใหม่ คนระยองจี้เร่งผังเมือง 3 ตำบล
ครม.เห็นชอบแก้ปัญหามาบตาพุดครบวงจร เร่งด่วน-ระยะยาว มอบ มท.วางผังเมืองใหม่ พื้นที่สีเขียว-ชุมชน-โรงงาน เอ็นจีโอจี้เร่งผังเมือง ต.ปลวกแดง นิคมพัฒนา บ้านแลง
ภายหลังเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จ.ระยองเรียกร้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งเดินทางไปยังสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาโดยให้ดำเนินการกับโรงงานบีเอสที อิลาส โตเมอร์ส จำกัด ที่เกิดโรงงานระเบิดขึ้นและโรงงานอดิตยา เบอร์ล่า ที่มีแก๊สรั่วทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอประกอบด้วย ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของโรงงาน นำแผนป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติมาบังคับใช้ ฟื้นฟูและบำบัดเหตุการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม สร้างระบบชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม ดำเนินคดีทางกฎหมายต่อหน่วยงานที่กระทำผิด ให้ทำบัญชีการถือครองวัตถุอันตราย ให้มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการไตรภาคีที่จะทำการตรวจสอบโรงงาน ทบทวนระงับนโยบายการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมทั้งจัดทำผังเมือง แนวกันชน และแนวป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ
วันที่ 19 มิ.ย.55 นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เปิดเผย ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า การยื่นข้อเสนอดังกล่าวเป็นการให้โอกาสรัฐบาลทำงาน ซึ่งยังคงมีหลายเรื่องที่จะต้องติดตามกรณีโรงงานอุตสาหกรรม การจัดทำผังเมืองก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนในพื้นที่อยากเห็นความชัดเจนในการจัดทำที่มีคุณภาพมากกว่าที่ผ่านมา ต้องพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะผังเมืองในพื้นที่ตำบลบ้านแล พื้นที่ตำบลปลวกแดงและพื้นที่นิคมพัฒนา ที่ยังขาดการทำแนวป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ภาครัฐมุ่งเน้นเรื่องอุตสาหกรรมมากเกินไป แต่ยังขาดการพัฒนาในเรื่องความปลอดภัย เรื่องนี้จึงเป็นรายละเอียดปลีกย่อยจะต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำที่ยังคงมีปัญหาที่ยังไม่มีทางออก ทางเครือข่ายฯได้เสนอให้รัฐทบทวนโครงการเมกกะโปรเจคกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะผันน้ำมาป้อนโรงงานอุตาหกรรมที่รัฐบาลคิดจะทำ เพราะเรื่องทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องใหญ่ การทำโครงการใหญ่ๆเพื่ออ้างการแก้ปัญหายังมองว่าไม่ใช่คำตอบที่ดี
“การที่รัฐจะทำอะไรควรตั้งกลไกเฉพาะกิจแบบบูรณาการ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโดยให้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รัฐมองต้องมองไปในระยะยาวถึงการลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าแก้ปัญหาโดยขาดการมีส่วนร่วมก็ลดเหลื่อมล้ำไม่ได้ ซึ่งจะมองแต่ทิศทางเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลขจีดีพีอย่างเดียวไม่ได้ เครือข่ายฯยังคงให้เวลารัฐบาล 1 สัปดาห์อย่างที่ประกาศไว้หากยังไม่มีการดำเนินการเป็นรูปธรรมจะฟ้องร้องต่อศาลต่อไป” นายสุทธิ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ในเรื่องแผนการแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างครบวงจร รวมไปถึงปัญหาสำคัญในพื้นที่ เช่นปัญหาด้านมลพิษ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การบริหารจัดการ และปัญหาด้านกายภาพโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้มีการนำเสนอควบคู่กับแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการแก้ไขปัญหาระยะยาว ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโดยได้สั่งการใน 5 เรื่องหลักคือ 1.การซ้อมแผนปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน และเพิ่มเติมแผนเกี่ยวกับภัยธรรมชาติเข้าไปด้วย 2.ขอให้จังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่มาก อาทิ จ.ระยองจ.พระนครศรีอยุธยา กำหนดแผนมาตรการไปสู่พื้นที่สีเขียว เพื่อให้อุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตรวจสอบคุณภาพของโรงงานอย่างเข้มงวด โดยเริ่มจาก จ.ระยองก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ
นอกจากนี้ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาการวางผังเมืองมาบตาพุด ให้มีการแบ่งเขตและโซนนิ่งอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่สีเขียวพื้นที่ชุมชนและพื้นที่โรงงาน 4.ให้ม.ร.ว.พงศ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม ติดตามผลและรายงานเพิ่มเติมในการให้อุตสาหกรรมจังหวัดจัดทำแผนป้องกันความเสี่ยง และ 5.ให้กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ไปดำเนินการสำรวจความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของประชาชนในเรื่องการตรวจสุขภาพและผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป .
ที่มาภาพ :http://61.19.54.141/fire/report_assessment.php?as_id=265&ch_id=307