15 ปีไฟใต้...หมุดหมายสันติสุข?
ในวาระครบรอบ 15 ปีปล้นปืน 15 ปีไฟใต้ ทุกฝ่ายคงไม่ได้อยากมาพูดกันแค่เรื่องสถิติความรุนแรงและความสูญเสีย...
เพราะวันที่ 4 มกราคมกำลังจะเป็นหมุดหมายใหม่ของปัญหาชายแดนใต้ เนื่องจากเป็นวันดีเดย์กระบวนการพูดคุยสันติสุขรอบใหม่ ที่มีหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ คือ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
ทั้งยังมีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ หรือ สล.คพส. จากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2561 ที่จะทำให้การพูดคุยเข้มแข็ง จริงจัง และรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ (อ่านประกอบ : นายกฯตั้ง "สำนักเลขาฯ" คุมยุทธศาสตร์พูดคุยดับไฟใต้ เพิ่มบทบาทสันติบาล!)
วันที่ 4 มกราคม คณะพูดคุยฯชุดใหม่ของรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.อุดมชัย จะเปิดการหารือแบบเต็มคณะกับผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย ซึ่งก็นเป็นคนใหม่เหมือนกัน คือ ตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย ที่โรงแรมพูลแมน จากนั้นจะมีการเปิดเวทีให้สื่อมวลชนซักถามกันอย่างจุใจด้วย
ไทม์ไลน์การพูดคุยฯถูกวางเอาไว้แล้วตลอดปีงบประมาณ 2562 ที่น่าจับตาคือจะมีการแถลงข่าวกับสื่อต่างประเทศ และพบปะหารือกับสถานทูต 5 ประเทศด้วย (อ่านประกอบ : ไทม์ไลน์พูดคุยดับไฟใต้ ดีเดย์ 15 ปีปล้นปืน)
ผมได้มีโอกาสเชิญ พล.อ.อุดมชัย มาให้สัมภาษณ์แบบเปิดใจถึงทิศทางของโต๊ะพูดคุยดับไฟใต้ ในรายการ "คมชัดลึก" ทางเนชั่นทีวี มีกำหนดออกอากาศในคืนวันที่ 4 มกราคม ถ้าไม่ถูกอิทธิพลของ "พายุปาบึก" เบียดตกจอไปเสียก่อน หลังจากนั้นผมจะถอดเทปมาให้อ่านกันในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา
ก่อนการบันทึกเทป ผมได้พูดคุยนอกรอบกับ พล.อ.อุดมชัย หรือ "บิ๊กเมา" ท่านบอกอย่างมีความหวังว่า การพูดคุยรอบนี้จะมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะได้ข้อสรุปบางอย่างในกรอบเวลาที่ไม่นานนัก ที่สำคัญการกำหนดให้วันที่ 4 มกราคมเป็นหมุดหมายแห่งการเริ่มต้น ก็เป็นเรื่องจงใจ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
"ทางมาเลเซียเองก็แสดงเจตนาอยากให้จบเร็ว อยากให้จบในวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของท่านมหาธีร์ โมฮาหมัด" บิ๊กเมาว่าเอาไว้
เมื่อมาเลเซียเอาจริง ก็ถือเป็นความหวังสำคัญของไทย เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ขบวนการที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะแกนหลักๆ ล้วนหลบหนีและพำนักอยู่ในมาเลเซีย
การตั้ง ตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย คือเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่างานนี้เพื่อนบ้านของเราเอาจริง
"ทั้งท่านมหาธีร์ และตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ คือกลุ่มคนที่เราเคยช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาจนประสบความสำเร็จ มีการเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพกันในประเทศไทย ทั้งท่านมหาธีร์ และตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ ก็มีบทบาทอยู่ในช่วงนั้น ส่วนผมก็ทำงานอยู่ในพื้นที่ เป็นผู้กอง" บิ๊กเมาย้อนความหลัง
คำสัมภาษณ์ล่าสุดในประเทศไทยช่วงปลายปีที่ผ่านมาของผู้นำมาเลเซีย ที่บอกทำนองว่าปัญหาไฟใต้ไม่มีทางจบที่เอกราช แต่อาจจบที่เขตปกครองตนเอง หรือเขตปกครองพิเศษนั้น พล.อ.อุดมชัย มองว่า เป็นท่าทีที่เป็นประโยชน์กับกระบวนการพูดคุย
"เรื่องเอกราชเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว มาเลเซียไม่ให้ เราก็ไม่ให้ มันเป็นไปไม่ได้ ส่วนเรื่องเขตปกครองพิเศษก็ต้องมาคุยกันในบริบทของการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ" บิ๊กเมาแง้มท่าที
อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ที่วันนี้มารับหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ บอกว่า ถ้าตั้งเป้ากันที่การปกครองท้องถิ่น ก็มีความเป็นไปได้ เพราะจุดยืนของไทยคือต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการปกครองท้องถิ่นสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่การแยกดินแดนออกไป ส่วนจะเป็นรูปแบบไหน ก็เป็นเรื่องที่ต้องมาคุยกัน และคนไทยทั้งประเทศต้องยอมรับได้ด้วย
"คำว่าเขตปกครองพิเศษ ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กลัว ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันตรงนี้ เพราะถือเป็นเรื่องอ่อนไหว การหยิบยกโมเดลเมืองพัทยา หรือกรุงเทพมหานครมาเปรียบเทียบ คงไม่สามารถทำได้ เพราะสาระสำคัญและความรู้สึกมันไม่เหมือนกัน เมืองพัทยา หรือ กทม.ไม่ได้มีปัญหาความมั่นคง และทุกคนก็รู้ดีว่าไม่ใช่การปกครองในแบบที่จะทำให้เกิดการแยกดินแดนออกไป ฉะนั้นรายละเอียดเรื่องการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ จึงต้องมาพูดคุยกัน"
บิ๊กเมาบอกด้วยว่า ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะปัญหาภาคใต้แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งในบริบทที่มาเลเซียเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ก็เป็นเรื่องการเมืองเช่นเดียวกัน
"เสนอมาเถอะเรื่องเขตปกครองพิเศษ เสนอมาก็จะได้คุยกัน ตอนนี้ทราบว่าพรรคการเมืองบางพรรคก็ไปหาเสียงในพื้นที่ว่าถ้าเลือกเขาจะให้เขตปกครองพิเศษ ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่ประชาชนจะรับหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะรูปแบบการปกครองต้องถามประชาชน" บิ๊กเมาสรุป
ส่วนปฏิบัติการความรุนแรงที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบช่วงส่งท้ายปีเก่าที่มีการบุกยึดโรงพยาบาลในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และวางระเบิดนางเงือกทองริมหาดสมิหลานั้น บิ๊กเมา บอกว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้กฎหมายจัดการ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของแม่ทัพภาคที่ 4
"จริงๆ แล้วศักยภาพของกลุ่มขบวนการก็ลดน้อยลงไปเยอะ แต่ที่ยังปฏิบัติการอยู่ และไม่เคารพกติกาสากล อย่างเรื่องยึดโรงพยาบาล ซึ่งทำมาแล้วหลายครั้ง เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่ง ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย จับกุมดำเนินคดีให้ได้ และการที่ยังมีการก่อเหตุรูปแบบนี้อยู่ มาเลเซียก็ต้องตระหนักว่าอาจจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่อันตรายกับมาเลย์ด้วยเหมือนกัน"
บทสรุปของ พล.อ.อุดมชัย ก็คือความเชื่อมั่นในความร่วมมือที่แนบแน่นขึ้นระหว่างไทยกับมาเลเซีย จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ...
ฉะนั้นคงไม่มากเกินไป หากจะทิ้งท้ายด้วยความหวังว่า 15 ปีปล้นปืน 15 ปีไฟใต้ อาจเป็นหมุดหมายของสันติสุขที่ปลายขวานทอง!