ผลวิจัยชี้ พฤติการณ์ 'ครม.-ผู้มีอำนาจ' ยุคหลังส่อใช้ข้อมูลภายในครอบครองที่ดินแนวเขตศก.พิเศษ
เผยผลวิจัย สกว. เรื่อง 'สังคมไทยไร้คอร์รัปชัน' ชี้พฤติการณ์ 'ครม.-ผู้มีอำนาจบางราย' ส่อใช้ข้อมูลภายในช่วยครอบครองที่ดินผืนใหม่ สอดรับแนวทางพัฒนาเชิงนโยบายรัฐบาลชุดนั้นๆ ยุคเก่าได้ที่ดินตามแนวตัดถนน ยุคหลังได้ตามแนวเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะที่การใช้ปย.บัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน ตรวจสอบนักการเมือง ยังทำได้ไม่เต็มที่ เหตุข้อมูลแจ้งสาธารณะเปลี่ยนแปลงน้อยมาก อาจเป็นเพราะเจตนาปิดบังซ่อนเร้น แถม ป.ป.ช.ยังตรวจไม่เจอ แนะดูแนวทางตปท.แก้ไข
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลว่า ขณะนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อยู่ระหว่างการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย เรื่อง 'สังคมไทยไร้คอร์รัปชัน' แก่อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อออกแบบงานวิจัยสำหรับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ สร้างความท้าทายใหม่ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ พัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ในการป้องกันและลอคอร์รัปชันในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นกลไกหนุนเสริมการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันโดยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระ
โดยเนื้อหางานวิจัยส่วนหนึ่ง เปิดเผยข้อมูลผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเพื่อเป็นตัวแทนของประชากรประเทศไทยทั้งประเทศตามหลักการทางสถิติ พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ให้นิยาม "คอร์รัปชัน" หมายถึง "การที่นักการเมืองและข้าราชการยักยอกเงิน" ซึ่งการให้ความหมายในลักษณะนี้เป็นการให้ความหมายที่แคบใน 2 ประการ คือ หนึ่ง หมายรวมเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการ ซึ่งแท้จริงแล้วบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นๆ ก็มีโอกาสแสดงพฤติกรรมคอร์รัปชันเช่นเดียวกันทำให้พฤติกรรมของบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากนักการเมืองและข้าราชการได้หายไปจากบริบทนิยามของการคอร์รัปชันในมุมมองของคนไทย และ สอง คือ เป็นการให้ความสำคัญกับการยักยอกเท่านั้น แม้ว่าอาจจะหมายรวมถึงงบประมาณ แต่ในแง่ของการเอื้อประโยชน์ทางเครือข่าย การใช้ทรัพย์สินสาธารณะในทางที่ผิดไม่ได้ถูกรวมเข้าไปด้วย
ขณะที่จากการวิเคราะห์ความสำคัญของค่านิยมคนไทย พบว่า ค่านิยมความกตัญญูหรือการสำนึกในบุญคุณ เป็นค่านิยมที่สำคัญที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับค่านิยมด้านความขยันหมั่นเพียร ความประหยัดอดออม และความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งค่านิยมความกตัญญูในการสำนึกบุณคุณ ถือได้ว่าเป็นค่านิยมหนึ่งที่รองรับการคอร์รัปชันในสังคมไทย (อ่านประกอบ : แง้มผลวิจัย สกว.คนไทยตีกรอบแคบ ให้คำนิยาม 'คอร์รัปชัน' แค่นักการเมือง-ขรก.ยักยอกเงิน)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า มีการระบุผลวิเคราะห์บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง ที่แจ้งไว้ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการถือครองที่ดิน ปรากฎข้อมูลที่น่าสนใจ คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ ผู้มีอำนาจในรัฐบาล จะมีการได้มาของที่ดินผืนใหม่ ที่ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเชิงนโยบายของรัฐบาลชุดนั้นๆ และลักษณะการได้มาของที่ดินเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตจะเป็นการได้มาของที่ดินผืนใหม่ตามแนวตัดถนน แต่ยุคหลังจะเป็นการได้มาของที่ดินผืนใหม่ ตามแนวเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม้ว่าอาจจะไม่สามารถบอกได้ถึงการคอร์รัปชันได้โดยตรง แต่อาจตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำ insider trading (การใช้ข้อมูลภายใน) ได้ในอนาคต
ผลการวิเคราะห์ ยังพบว่า เครื่องมือในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ มูลค่าทรัพย์สินและหนีสิ้น ที่ได้รับแจ้งต่อสาธารณะมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก และเกือบทั้งหมดแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าจะรับตำแหน่งใดๆ ก็ตาม ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะมีเจตนาปิดบังซ่อนเร้น
ประการที่สอง คือ เมื่อมีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว สิ่งที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทำได้ก็คือ การตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่ามีอยู่จริง แต่ปัญหาสำคัญกว่านั้น คือ ทรัพย์สินที่่ไม่ถูกแจ้งในบัญชี และสำนักงาน ป.ป.ช. เองก็ไม่สามารถตรวจสอบหรือไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามีอยู่จริง ซึ่งปัญหาทั้งสองประการนี้ต้องได้รับการแก้ไขโดยดูวิธีการปฏิบัติของต่างประเทศหลายประเทศ และได้ร่วมมือในการพัฒนารูปแบบการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกับทางสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน กพ.แล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/