เปิดตัว 3 มูลนิธิดันผู้สมัคร ส.ว. ก่อนถูกร้องขัดคุณสมบัติ-วัดฝีมือ กกต. สอบ?
เปิดตัว 3 มูลนิธิดัน 3 ผู้สมัคร ส.ว. ด้านกฎหมายฯ ก่อนถูกร้องขัดคุณสมบัติ เหตุตั้งอยู่คนละโซนแต่โผล่ส่งชื่อคนขอนแก่น พบ ‘นายศรีผ่อง-นางกี่’ ของคนสกุลภูเก้าล้วน ตระกูลการเมืองดังกระบี่ ‘อุษรินทร์’ ของมารดานักธุรกิจดัง ‘เอธัส’ แห่งสุดท้าย ‘มหาจุฬามณีฯ’ มีไว้เผยแผ่ศาสนา เจ้าอาวาสวัดจันทรสุขเจ้าของ
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูท่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นเสียแล้ว ?
เนื่องจากช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา มีการคัดสรรตัวผู้สมัคร ส.ว. ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ เกิดเรื่องมากมายก ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ส่งผู้สังเกตการณ์ไปดูในวันเลือกตั้ง พบว่า มีผู้สมัครบางรายห้อยป้ายกลับหลัง อาจเข้าข่ายหาเสียง หรือมีบางรายใช้โทรศัพท์ในสถานที่เลือกตั้ง เป็นต้น (อ่านประกอบ : หวั่นลาม ส.ส.!พีเน็ตปูดมีผู้สมัคร ส.ว.ห้อยป้ายหาเสียง-คนใช้โทรศัพท์ในสถานที่)
นอกจากนี้มีสื่อหลายสำนักตีข่าวว่า มีผู้สมัคร ส.ว. บางรายยื่นเรื่องร้องเรียนให้ประธาน กกต. ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้สมัคร ส.ว. กลุ่ม 2 ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อย่างน้อย 3 ราย ที่อาจสมัครโดยขัดคุณสมบัติ และไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นายสุทัศน์ น้อยผาง ถูกส่งมาโดยมูลนิธินายศรีผ่อง-นางกี่ ภูเก้าล้วน จดทะเบียนที่ จ.กระบี่ จ.ส.ต.บัณฑิตย์ มูลวิชา ถูกส่งมาโดยมูลนิธิอุษรินทร์ จดทะเบียนที่ กทม. และนายมนตรี ฤทธิ์มนตรี ถูกส่งมาโดยมูลนิธิมหาจุฬามณีเจดีย์ ศรีสุวรรณภูมิ จดทะเบียนที่ จ.ปทุมธานี โดยผู้สมัครทั้ง 3 ราย ไม่เคยเป็นสมาชิก หรือทำกิจกรรมกับมูลนิธิทั้ง 3 แห่งดังกล่าวมาก่อน รวมถึงมูลนิธิ 3 แห่งก็ไม่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมายด้วย ? (อ้างอิงข่าวจาก แนวหน้าออนไลน์)
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สำหรับขั้นตอนการสมัคร ส.ว. จะมีทั้งหมด 10 กลุ่ม ทั้งหมดต้องใช้ใบสมัคร (ส.ว. 17) เอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (ส.ว. 18) หนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (ส.ว. 19) เอกสารหลักฐานอื่น ๆ ตามประกาศรับสมัคร และเงินสดค่าธรรมเนียมสมัคร 2,500 บาท ส่วนกรณีสมัครโดยคำแนะนำจากองค์กร จะต้องมีหนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กรหรือนิติบุคคล (ส.ว. 20) และหนังสือยินยอมให้แนะนำชื่อ (ส.ว. 21)
ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ระบุหลักเกณฑ์และคุณสมบัติ กำหนดให้องค์กรนิติบุคคลประชุมกรรมการลงมติ และประธาน หรือนายกสมาคมฯ ต้องลงชื่อรับรองว่า ผู้ที่ส่งลงสมัครเป็นสมาชิก หรือเคยเป็นสมาชิก ทำงานหรือเคยทำงานที่นิติบุคคลไม่น้อยกว่า 2 ปี ที่สำคัญต้องมีประวัติ ระบุเพศ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และสาขาอาชีพของผู้ที่จะส่งลงสมัคร
ข้อเท็จจริงดังกล่าว คงต้องรอผลการสอบสวนของ กกต.
แต่คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ 3 มูลนธิดังกล่าวมาจากไหน ใครเป็นเจ้าของ ทำกิจกรรมอะไรบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลผ่านราชกิจจานุเบกษา พบรายละเอียด ดังนี้
มูลนิธินายศรีผ่อง-นางกี่ ภูเก้าล้วน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2538 ทุนแรกเริ่ม 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 53/57 ถ.พัฒนา ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.กระบี่
แจ้งวัตถุประสงค์ว่า ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่จังหวัดกระบี่ ส่งเสริมการศึกษา อนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่น ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น เพื่อสาธารณประโยชน์ และไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
มีคณะกรรมการ 16 ราย ได้แก่ นายชวน ภูเก้าล้วน และส่วนใหญ่เป็นคนสกุลภูเก้าล้วนทั้งหมด ซึ่งตระกูลภูเก้าล้วนคือตระกูลดังใน จ.กระบี่
สำหรับนายชวน ภูเก้าล้วน เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่หลายสมัย โดยเมื่อกลางปี 2561 ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีรุกเกาะปอดะ ล้อมรั้วลดหนามในพื้นที่อุทยานรวม 22 ไร่ อย่างไรก็ดีนายชวนได้รับการประกันตัว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการยื่นฎีกา (อ้างอิงข่าวจาก ไทยรัฐออนไลน์)
มูลนิธิอุษรินทร์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2557 ทุนแรกเริ่ม 2 แสนบาท ตั้งอยู่ที่ 603 ซ.รามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม.
แจ้งวัตถุประสงค์ว่า เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา ให้ทุนการศึกษานักเรียนผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ส่งเสริมและทำนุบำรุง สนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา ส่งเสริมการดำเนินงานและการปฏิบัติตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
มีคณะกรรมการ 5 ราย ได้แก่ นางอุษา มนต์เสรีนุสรณ์ พล.ต.ท.ระพีพัฒน์ ปาละวงศ์ นายศศิศ มนต์เสรีนุสรณ์ นายพงศ์ศักดิ์ ธรรมศุภพงษ์ น.ส.สุรีย์พร กิจเจริญ
สำหรับนางอุษา เป็นมารดาของนายเอธัส มนต์เสรีนุสรณ์ นักธุรกิจชื่อดัง และอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เมื่อปี 2552
มูลนิธิมหาจุฬามณีเจดีย์ ศรีสุวรรณภูมิ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 ทุนแรกเริ่ม 100,500 บาท และมีทรัพย์สินแรกเริ่มเป็นโฉนดที่ดิน ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 5-2-45 ไร่ ราคาประเมิน 239,500 บาท มูลนิธิตั้งอยู่ที่ อาคารวิปัสสนาธุระ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) วัดจันทรสุข เลขที่ 89 ม.5 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
แจ้งวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายในประเทศและต่างประเทศ และการก่อสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือพรรคการเมืองแต่ประการใด
มีคณะกรรมการ 5 ราย ได้แก่ พระครูธรรมธร (สัมพันธ์ เศรษฐบัณฑิต) ฉายา ถิรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดจันทรสุข นายรักสยาม นามานุภาพ น.ส.พิงพันธุ์ พลรวีโรจน์ น.ส.จุรีรัตน์ ศรีไสยา และนายพัฒนชัย ใบเงิน
นี่คือข้อมูลเบื้องต้นของ 3 มูลนิธิที่ถูกพาดพิงว่า เป็นผู้ส่งชื่อผู้สมัคร ส.ว. 3 ราย ในกลุ่ม 2 ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่อาจส่อขัดคุณสมบัติในการสมัคร
ส่วนข้อเท็จจริงเบื้องลึกเบื้องหลังประการใด คงต้องรอผลการสอบสวนของ กกต. อีกครั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
หมายเหตุ : ภาพประกอบคูหาเลืกตั้ง ส.ว. จาก the momentum