ขอยืมนาฬิกาเพื่อน ชีวิตจะอับเฉา : กรรมบันดาลหรือพรหมลิขิต
ในสังคมไทยสมัยก่อนจึงมักมีข้อห้ามที่พูดกันติดปากว่าไม่ควรขอยืมหรือให้ยืมสิ่งของที่เป็นของใช้ส่วนตัว เป็นต้นว่า ปืน กล้องถ่ายรูป รถยนต์ พระเครื่อง ฯลฯ นอกจากนี้ในบางประเทศยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการห้ามหยิบยืมของส่วนตัวเช่นกัน
นับตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นบนโลก นอกจากมนุษย์ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเองแล้ว มนุษย์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ยังกระหายที่จะเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัวสองอย่างซึ่งได้แก่ ช่องว่าง(Space) และ เวลา(Time) มนุษย์ได้สร้างแผนที่เพื่อเติมเต็มช่องว่างที่อยู่รอบตัว ทำให้รู้ว่าตัวเองยืนอยู่ตรงไหนบนพื้นโลก ในขณะเดียวกันมนุษย์ได้สร้างนาฬิกาขึ้นเพื่อเป็นหน่วยวัดแทนการเคลื่อนไหวของวันเวลาที่ผ่านไปในโลก แผนที่และนาฬิกาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์ให้ความสนใจตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างนาฬิกาคงไม่มีใครมีบทบาทมากเท่ากับพระคริสเตียนในยุคโบราณ เพราะพระต้องมีกิจกรรมการสวดอย่างสม่ำเสมอวันละหลายครั้ง พระจึงมีอิทธิพลต่อการสร้างนาฬิกาตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาและกลายเป็นผู้ผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีของนาฬิกาที่ต้องการความแม่นยำ ดังนั้นนาฬิกาเรือนแรกจึงถูกสร้างขึ้นในวัดเพื่อกิจกรรมของพระและด้วยอิทธิพลของเสียงนาฬิกาจากหอคอยของวัดซึ่งดังขึ้นเป็นระยะตลอดวันจึงทำให้ผู้คนที่อยู่อาศัยชุมชนรอบวัดได้ออกมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันได้
ความต้องการความแม่นยำของนาฬิกาได้ขยายขอบเขตจากวัดไปสู่ราชสำนักในยุโรปทำให้เกิดการลงทุนในโรงงานของเหล่าราชสำนัก นอกจากนี้การหลั่งไหลของผู้คนจากชนบทสู่สังคมเมืองเพื่อทำงานใน ตลาด โรงสี โรงงาน แทนที่การทำไร่นา ทำให้เวลาของพวกเขาถูกแบ่งย่อยอย่างละเอียดขึ้น อันเป็นผลมาจากเสียงจากหอนาฬิกาของวัดที่บอกเวลาเป็นหลายช่วงซึ่งช่วยให้ผู้คนสามารถกำหนดเวลา การเริ่มงาน การหยุดพักทานอาหาร การเลิกงาน เวลาเปิด-ปิดตลาด การประชุมของชุมชน การทำความสะอาดถนนหนทาง เป็นต้น
ในศตวรรษที่ 14 นาฬิกากลายเป็นสิ่งที่พบเห็นโดยทั่วไปและกลายเป็นสื่อประสานการทำงานของผู้คนในสังคมเมือง ทำให้เมืองต่างๆต้องการนาฬิกามาเพื่อติดตั้งบนหอคอยของเทศบาล โบสถ์และพระราชวัง เป็นจำนวนมาก
นอกจากเทคโนโลยีจะทำให้นาฬิกามีความแม่นยำขึ้นแล้วยังทำให้นาฬิกามีขนาดเล็กลงจนสามารถนำไปใช้ในบ้าน ที่ทำงานหรือแม้แต่พกพาติดตัวจนกลายเป็นนาฬิกาข้อมือที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
นาฬิกาจึงมิใช่สิ่งของขนาดใหญ่ที่ต้องตั้งอยู่กับที่อีกต่อไปเพราะนาฬิกาสามารถเคลื่อนที่ไปพร้อมเจ้าของและสามารถเตือนเจ้าของได้ตลอดเวลาว่า ได้ใช้เวลาไปเท่าใดหรือเหลือเวลาอีกเท่าใดในการทำกิจกรรมระหว่างวัน
นาฬิกาสามารถเป็นได้ทั้งเครื่องมือที่ใช้แสดงผลเวลาด้วยการดูและสามารถเตือนผู้คนได้ด้วยเสียง นาฬิกาจึงกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการนำพามนุษย์ออกจากยุคกลาง เข้ามาสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการและเข้าสู่ยุคเรืองปัญญาในระยะต่อมาและด้วยความสามารถอันน่าทึ่งจึงทำให้นาฬิกาถูกจัดเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า “เทคโนโลยีแห่งปัญญา” เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องบอกเวลาแล้ว การแพร่หลายของนาฬิกาไปยังคนหมู่มากยังช่วยให้มนุษย์เกิดความคิดใหม่ๆแพร่กระจายออกไปจากที่เคยจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มคนชั้นสูงด้วย
นาฬิกาได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยลำดับจนกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่มากกว่าเครื่องบอกเวลาเพราะนาฬิกากลายเป็นทั้งสินค้าและสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของบุคคลในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังถือว่าความเป็นบุคคลที่มีความเที่ยงตรงในเรื่องของเวลาคือคุณสมบัติสำคัญที่คนตะวันตกถือว่ามีอารยะธรรมอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่า ผู้ครองอำนาจในบ้านเมือง นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ นักการเมือง และผู้มีอันจะกินทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่ต้องการแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตัวเองประสบความสำเร็จ จึงต้องเสาะแสวงหานาฬิกาที่มีจุดเด่น เป็นที่นิยมและเข้ากับบุคลิกของตัวเองมาประดับข้อมือเพื่อแสดงออกถึงรสนิยมและแสดงว่าตัวเองเป็นอารยชนกันถ้วนหน้าไม่ว่าว่านาฬิกาเรือนนั้นจะมีราคาแพงมากเพียงใดหรืออยู่มุมใดของโลกก็ตาม
นอกจากนี้ผู้ผลิตนาฬิกายังได้ออกแบบนาฬิกาที่สามารถสะท้อนตัวตนของบุคคลที่สวมใส่ เป็นต้นว่า การสวมใส่นาฬิกายี่ห้อ Rolex เป็นการแสดงออกถึงความสำเร็จอย่างสูงของผู้สวมใส่ การใส่นาฬิกายี่ห้อ Tag Heuer หรือ Hublot จะหมายถึงผู้สวมใส่เป็นคนทันสมัยหรือเป็นผู้นำแฟชั่นหรือถ้าใครชอบนาฬิกายี่ห้อ IWC เป็นพิเศษ ก็มักแสดงว่าผู้สวมใส่มีความมั่นใจในตัวเองสูงและมีความเป็นอนุรักษ์นิยม เป็นต้น นาฬิกาแต่ละรุ่นหรือแต่ละยี่ห้อจึงอาจไม่เหมาะกับบุคลิกหรือความต้องการของคนทุกคน แต่เป็นเรื่องความเหมาะสมและความชอบเฉพาะตัวมากกว่า
ความต้องการนาฬิกาเพื่อบอกเวลาและสื่อให้คนรอบข้างได้รับรู้ถึงสถานะตัวเอง รวมทั้งเป็นเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาจึงทำให้ธุรกิจนาฬิกาเจริญรุ่งเรืองตลอดมาและส่งผลให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อเพื่อนาฬิการาคาแพงและธุรกิจให้เช่านาฬิกาเพื่อใช้ในโอกาสสำคัญต่างๆ เป็นต้น
นาฬิกาจึงเป็นเทคโนโลยีอันทรงคุณค่าที่ทำให้คนทั้งโลกต้องหลงใหล ไม่เฉพาะคุณประวิตรหรือคุณปัฐวาทเพื่อนรักเท่านั้นที่นิยมชมชอบนาฬิกา นักการเมือง นักธุรกิจหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงทั่วโลกมักชื่นชอบและหลงใหลในนาฬิกาข้อมือแบรนด์หรูเป็นพิเศษ คุณทักษิณเองเพิ่งจะอวดนาฬิกายี่ห้อ ปาเต็ก ฟิลิป ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดนาฬิกาด้วยราคาถึง 21 ล้านบาทผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซียที่พ้นจากเก้าอี้ไปไม่นานก็มีนาฬิกาหรูอยู่ในความครอบครองมากถึง 423 เรือนโดยพบว่าหนึ่งในเรือนที่แพงที่สุดในจำนวนนั้นคือนาฬิกา Rolex รุ่น Paul Newman Daytona ซึ่งเจ้าหน้าที่ประเมินว่าราคาเฉียด 30 ล้านบาททีเดียว
นาฬิกาแบรนด์ดังและราคาแพงจึงเป็นเหมือนอวัยวะชิ้นหนึ่งของร่างกายที่คนบางจำพวกต้องมีติดข้อมืออยู่เสมอและกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของบุคคลนั้นๆ แต่การหยิบยืมสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์หรือของใช้ส่วนตัวของใครคนหนึ่งไปใช้เองนั้นออกจะเป็นเรื่องที่ผิดปกติสำหรับคนทั่วๆไป เพราะปุถุชนคนธรรมดาถือกันนักหนาว่า การหยิบยืมของผู้อื่นซึ่งเป็นของเฉพาะตัวมาใช้นั้น มักเป็นเหตุให้เกิดการผิดใจกันอยู่เสมอเพราะผู้ยืม อาจยืมไปแล้วไม่ยอมคืน อาจทำความเสียหายแก่สิ่งของ อาจนำไปขายต่อหรือนำไปใช้ทำผิดกฎหมาย เป็นต้น
ในสังคมไทยสมัยก่อนจึงมักมีข้อห้ามที่พูดกันติดปากว่าไม่ควรขอยืมหรือให้ยืมสิ่งของที่เป็นของใช้ส่วนตัว เป็นต้นว่า ปืน กล้องถ่ายรูป รถยนต์ พระเครื่อง ฯลฯ นอกจากนี้ในบางประเทศยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการห้ามหยิบยืมของส่วนตัวเช่นกัน เป็นต้นว่า
• การขอยืมปากกาจากใครไปแล้วไม่ยอมคืนจะทำให้คนผู้นั้นยากจนอย่างน่าเวทนาและตกอยู่ในห้วงแห่งความอัปยศอดสู
• ห้ามขอยืมเสื้อผ้าผู้อื่นมาสวมใส่เพราะจะนำโชคร้ายและเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีมาสู่ผู้ยืมเอง
• ห้ามให้ผู้อื่นยืมผ้าเช็ดหน้าเพราะเรากำลังมอบความมั่งคั่งและโชคชะตาให้กับผู้นั้น
• ห้ามขอยืมนาฬิกาของผู้อื่นมาสวมใส่เด็ดขาดเพราะผู้ยืมจะประสบปัญหาในชีวิตการงานรวมทั้งจะเกิดปัญหาด้านการเงินด้วย
แม้ความเชื่อเกี่ยวกับการขอยืมสิ่งของส่วนตัวเหล่านี้อาจเป็นอุบายเพื่อเตือนสติไม่อยากคนผิดใจกันหรือป้องกันไม่ให้ผู้ให้ยืมขาดสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้หรือป้องกันการเกิดโรคติดต่อก็ตาม แต่ความเชื่อเหล่านี้เป็นความเชื่อที่ยังมีมนต์ขลังอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน
การขอยืมนาฬิกา ยังถูกนำไปใช้เป็นคำเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นๆในแง่มุมที่ไม่สู้ดีนักเป็นต้นว่า เมื่อพูดถึงบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ ผู้ว่าจ้างหลายคนที่ไม่ประทับใจต่อผลงานของบริษัทที่ปรึกษามักให้คำจำกัดความบริษัทที่ปรึกษาว่า “บริษัทที่ปรึกษา คือคนที่ขอยืมนาฬิกาคุณไป เพื่อบอกเวลาแก่คุณ แถมยังเชิดนาฬิกาคุณไปเสียอีก” แสดงให้เห็นว่าเรื่องของการขอยืมนาฬิกาที่ชอบพูดถึงกันนั้นมักเป็นเรื่องในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น การหยิบยืมนาฬิกาเพื่อนมาสวมใส่จนมีเรื่องมีราวต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.จึงเป็นเหตุการณ์ที่สอดคล้องกับความเชื่อเกี่ยวกับข้อห้ามการขอยืมนาฬิกาซึ่งคงสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจและสร้างปัญหาชีวิตให้กับชายวัยเจ็ดสิบปีเศษซึ่งเป็นผู้ยืมนาฬิกาอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แม้ว่าจะพ้นจากข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช. มาแล้วก็ตาม แต่ข้ออ้างการขอยืมนาฬิกาจากเพื่อนยังอยู่ในกระแสข่าวที่ค้างคาใจผู้คนและคงเป็นเรื่องที่อึดอัดใจต่อผู้ยืมนาฬิกาอยู่พอควร
ความเชื่อเรื่องข้อห้ามยืมนาฬิกากับเหตุการณ์การขอยืมนาฬิกาหรูที่เกิดขึ้นจึงอาจมิใช่เป็นเรื่องเลื่อนลอยเสียเลยทีเดียว เพราะการขอยืมนาฬิกาของเพื่อนแล้วทำให้เกิดปัญหาแก่ชีวิต อย่างน้อยก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆในกรณีของท่านรองนายกฯ ประวิตร ส่วนความเชื่อที่ว่าขอยืมนาฬิกาแล้วจะนำพาชีวิตของท่านไปสู่ปัญหาทางการเงินอีกด้วยหรือไม่นั้นคงต้องรอให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป
อ้างอิง
1. The Shallows โดย Nicholas Carr
2. https://www.boldsky.com/insync/pulse/2017/you-should-never-lend-or-borrow-these-things/articlecontent-pf182369-119126.html
ภาพประกอบ https://www.google.com/search?q=luxury+watches+brands&client=firefox-b&source=lnms&tbm=isch&sa=X&ved=0ahUKEwjYprGvus7fAhUNcCsKHeXTB34Q_AUIDigB&biw=1138&bih=545#imgrc=2m8xuPxNcaNnOM