ป้ายพรึบ! บ.ปาล์มน้ำมันตระกูลดัง อ้างคำสั่งศาลคุ้มครอง ที่ดิน จ.กระบี่ 7.1 พันไร่
บ.ตระกูลดังติดป้ายพรึบริมถนน 3 แห่ง อ้างคำสั่งศาลคุ้มครอง ที่ดินสวนปาล์ม จ.กระบี่ 7,108 ไร่ ไร่ ฟ้องกรมป่าไม้จำเลย เข้าดูแลเก็บเกี่ยวผลผลิต เผยภาคใต้ปัญหาพิพาทหลายแห่ง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธ.ค. 2561 ที่บริเวณริมถนนทางหลวงแผนดิน ที่ 44 ทั้งขาเข้าและขาออก บริเวณบ้านโคกเจียก-บ้านพระยา ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ได้มีป้ายจำนวน 3 ป้ายเขียนข้อความระบุว่า
“ประกาศ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลจังหวัดกระบี่ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1123/2561 โดยศาลจังหวัดกระบี่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ฝ่ายโจทก์ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ดังนี้ :
ศาลจังหวัดกระบี่มีคำสั่ง ห้ามจำเลยและบริวารเข้ารบกวนสิทธิในการครอบครองทำประโยชน์ของโจทก์ในที่ดิน รวม 7,108 ไร่ ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.7 จ.8 และ จ.9 อีกต่อไปและให้โจทก์เข้าทำการปกป้องคุ้มครอง ดูแลบำรุงรักษาให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ฟื้นฟูต้นปาล์มน้ำมันหรือเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันในที่ดินของโจทก์ตามแผนที่เอกสาร จ.7 จ.8 และ จ.9 จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) 20 ธันวาคม 2561”
แหล่งข่าวใน กรมป่าไม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า คดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้อง นายธนัช เนมีย์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 จังหวัดกระบี่ เป็นจำเลย และขณะนี้กรมป่าไม้กำลังรอรายงานเป็นทางการจากสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 เพื่อกรมป่าไม้จะต้องดำเนินการพิจารณาว่าจะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลจังหวัดกระบี่ หรือไม่ หากไม่อุทธรณ์จะเข้าข่ายปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฎิบัติหน้าที่หรือไม่อย่างไร
บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนวันที่ 26 ก.ย. 2543 ทุนปัจจุบัน 470 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ น้ำมันปาล์มเปลือกนอก น้ำมันเมล็ดในปาล์ม ที่ตั้งเลขที่ 258 หมู่ที่ 2 ถนนอ่าวลึก-แหลมสัก ต.อ่าวลึกใต้ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ นายอภิรักษ์ วานิช ถือหุ้นใหญ่ 175,910,420 หุ้น (18.71%) และเป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินรอบปี 2560 รายได้ 6,287,542,624 บาท กำไรสุทธิ 623,052,715 บาท สินทรัพย์ 3,958,763,071 บาท หนี้สิน 446,778,807 บาท กำไรสะสม 2,774,480,845 บาท
ทั้งนี้ ปัญหาข้อพิพาทการเช่าที่ดินระหว่างกรมป่าไม้กับเอกชนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ ในส่วนของภาคใต้มีประมาณ 14 แปลง เนื้อที่ 2 แสนไร่ เอกชนประมาณ 10 ราย เมื่อปี 2528-2530 ในช่วงแรกปลูกมะม่วงหิมพานต์ และเปลี่ยนมาเป็นปาล์มน้ำมัน หลังจาก อายุการเช่าสิ้นสุดลง ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 มีมติคณะรัฐมนตรีให้นำที่ดินบางส่วนหรือจำนวน ร้อยละ 40 ของพื้นที่เช่าทั้งหมดมาจัดสรรให้ราษฎร์ที่ไม่มีที่ดิทำกิน แต่เวลาล่วงเลยมาเป็นเวลานับ 10 ปี ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานใดเข้าบริหารจัดการ ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เข้าบุกรุกยึดถือครอบครองและมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ซึ่งกันและกันระหว่างเอกชนที่เช่าและกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มภาคีเรียกร้องที่ดินทำกิน ต่อมากรมป่าไม้เข้าไปดำเนินการจนนำมาซึ่งปัญหาและคดีพิพาทในขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/