แง้มผลวิจัย สกว.คนไทยตีกรอบแคบ ให้คำนิยาม 'คอร์รัปชัน' แค่นักการเมือง-ขรก.ยักยอกเงิน
แง้มผลวิจัย สกว. พบคนไทยตีกรอบแคบ ให้คำนิยาม 'คอร์รัปชัน' แค่การที่นักการเมือง-ขรก.ยักยอกเงิน ส่งผลทำให้มุมมองพฤติกรรม บุคคล องค์กรอื่น เอื้อปย.ทางเครือข่ายใช้ทรัพย์สินสาธารณะในทางที่ผิดหายไปจากบริบท เผยผลสำรวจส่วนใหญ่รู้เข้าใจเรื่องการให้สินบนในระดับดีพอสมควร แต่การช่วยเหลือพวกพ้องครอบครัวในทางที่ผิดยังมีความไม่ชัดเจนอยู่มาก โดยเฉพาะการทับซ้อนความหมาย "น้ำใจ" และ "บุญคุณ" 2 ค่านิยมหลักเสริมการทุจริตที่ซับซ้อนกว่าดำรงอยู่ในประเทศ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ขณะนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อยู่ระหว่างการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย เรื่อง 'สังคมไทยไร้คอร์รัปชัน' แก่อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อออกแบบงานวิจัยสำหรับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ สร้างความท้าทายใหม่ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ พัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ในการป้องกันและลอคอร์รัปชันในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นกลไกหนุนเสริมการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันโดยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระ
โดยเบื้องต้น จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเพื่อเป็นตัวแทนของประชากรประเทศไทยทั้งประเทศตามหลักการทางสถิติ พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ให้นิยาม "คอร์รัปชัน" หมายถึง "การที่นักการเมืองและข้าราชการยักยอกเงิน" ซึ่งการให้ความหมายในลักษณะนี้เป็นการให้ความหมายที่แคบใน 2 ประการ คือ หนึ่ง หมายรวมเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการ ซึ่งแท้จริงแล้วบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นๆ ก็มีโอกาสแสดงพฤติกรรมคอร์รัปชันเช่นเดียวกันทำให้พฤติกรรมของบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากนักการเมืองและข้าราชการได้หายไปจากบริบทนิยามของการคอร์รัปชันในมุมมองของคนไทย และ สอง คือ เป็นการให้ความสำคัญกับการยักยอกเท่านั้น แม้ว่าอาจจะหมายรวมถึงงบประมาณ แต่ในแง่ของการเอื้อประโยชน์ทางเครือข่าย การใช้ทรัพย์สินสาธารณะในทางที่ผิดไม่ได้ถูกรวมเข้าไปด้วย
นอกจากนี้ จากการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจว่า สิ่งใดเป็นหรือไม่เป็นการคอร์รัปชันในเรื่องของการให้สินบนในระดับดีพอสมควร แต่หากเป็นคอร์รัปชันในรูปแบบอื่น เช่น การช่วยเหลือพวกพ้องหรือการช่วยเหลือคนในครอบครัวในทางที่ผิดยังมีความไม่ชัดเจนอยู่มาก โดยเฉพาะเป็นการทับซ้อนกับความหมายของคำว่า "น้ำใจ" และ "บุญคุณ" ซึ่งค่านิยม 2 ประการนี้ เป็นค่านิยมหลักที่เสริมให้การคอร์รัปชันที่ซับซ้อนกว่าดำรงอยู่ในประเทศไทย
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังระบุด้วยว่า จากการวิเคราะห์ความสำคัญของค่านิยมคนไทย พบว่า ค่านิยมความกตัญญูหรือการสำนึกในบุญคุณ เป็นค่านิยมที่สำคัญที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับค่านิยมด้านความขยันหมั่นเพียร ความประหยัดอดออม และความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งค่านิยมความกตัญญูในการสำนึกบุณคุณ ถือได้ว่าเป็นค่านิยมหนึ่งที่รองรับการคอร์รัปชันในสังคมไทย
อย่างไรก็ดี เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามช่วงอายุ พบว่า การให้น้ำหนักกับค่านิยมความกตัญญูและการสำนึกบุญคุณค่อยๆ ลดลงตามอายุ ในขณะที่ค่านิยมของความขยันหมั่นเพียรค่อยๆ สูงขึ้น แต่ค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตเปลี่ยนแปลงน้อยมาก และกลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญในระดับที่ไม่สูงมากนัก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/