ย้อนคดีดังเอกชนปี61 'เสี่ยกำพล-ราชาปีเตอร์-สินบนโรงไฟฟ้า-จำคุกผู้บริหารบ.ขายจีที200'
"... จากรายงานข่าวพบว่ายังมีผู้เสียหายรายอื่นๆจากการขายเครื่อง GT200 อีก ได้แก่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากรกรมการปกครอง จังหวัดภูเก็ตตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดยะลา ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาทองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองทัพเรือและจังหวัดสุโขทัย แต่ก็ยังไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่าหน่วยงานเหล่านี้จะมีการดำเนินคดีกันอย่างไร และไม่ปรากฏด้วยว่านอกจากตัวผู้ขายแล้ว จะมีการดำเนินการกับส่วนราชการซึ่งเป็นผู้ซื้อด้วยหรือไม่..."
ในรอบปี 2561 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป!
มิใช่แค่หน่วยงานราชการเท่านั้น มีเกิดข้อครหาการบริหารที่ไม่โปร่งใส และนำไปสู่กระบวนการสอบสวนตามกระบวนการทางกฎหมาย หากแต่ในส่วนของภาคเอกชน ก็ปรากฎชื่อบริษัทดังหลายแห่ง ที่ปรากฎชื่อเข้าไปมีส่วนกระทำความผิด และกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลคดีที่เกิดขึ้นกับบริษัทเอกชนเหล่านี้ มานำเสนอเพื่อทบทวนความทรงจำกันอีกครั้ง
@เปิดเครือข่าย เสี่ยกำพล กับพวกถูกพิพากษาปมค้ามนุษย์
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน รายคดีค้ามนุษย์ สถานบริการอาบ อบ นวด วิคตอเรียซีเครท รวมทรัพย์สิน จำนวน 45 รายการ รวมมูลค่ากว่า 463,000,000 บาท ได้แก่ ทรัพย์สินประเภทเงินฝากธนาคาร จำนวน 28 รายการ โดยมีชื่อ นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ นางนิภา ธีระตระกูลวัฒนาหรือวิระเทพสุภรณ์ และบุคคลผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ รวมจำนวน 11 คน เป็นเจ้าของบัญชี ทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์และหน่วยลงทุน จำนวน 9 รายการ โดยมีชื่อนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ และนางนิภา ธีระตระกูลวัฒนา หรือวิระเทพสุภรณ์ เป็นเจ้าของหลักทรัพย์และหน่วยการลงทุนทรัพย์สินประเภทที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด รวมจำนวน 8 รายการ โดยมีชื่อนายธนพล วิระเทพสุภรณ์ นายสรพงศ์ วินิจฉัยกุล นางรสิก์พันธุ์ วินิจฉัยกุล นายสมชาย แสงอุดม นางวิไล วิระเทพสุภรณ์ นายมงคลแจ้งฉาย และนายอารักษ์ เพชรรัตน์ มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ศาลได้ออกหมายจับใน นายกำพล และนางนิภา ในคดีดังกล่าว
เบื้องต้น จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของสำนักข่าวอิศรา พบว่า เครือข่ายธุรกิจของนายกำพล มีหลายแห่งหลายประเภท ได้แก่
1.ธุรกิจสถานบริการ สปา อาบ อบ นวด โรงน้ำชา จำนวน 19 บริษัท 2.ธุรกิจเช่าชื้อ อสังหาริมทรัพย์ ประมาณ 12 บริษัท 3.ธุรกิจอื่นๆ อาทิ ให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารและงานพิมพ์ สวนสนุกเครื่องเล่น และ โรงเรียนกวดวิชา จำนวน 4 บริษัท
4.ธุรกิจที่เลิกดำเนินการแล้ว ประกอบด้วยธุรกิจขายเครื่องมือ อุปกรณ์สื่อสาร อสังหาฯ รวม 6 บริษัท
นอกจากนี้ ยังมีการถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างน้อย 5 บริษัท ได้แก่ หุ้น บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ จำนวน 500 ล้านหุ้น มูลค่า 250 ล้านบาท ,หุ้น บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ AQUA จำนวน 591,406,000 หุ้น (12.88%) ,หุ้นบริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO จำนวน 39,356,500 หุ้น ,หุ้น บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG จำนวน 142,297,600 หุ้น และหุ้น บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK จำนวน 25,000,000 หุ้น (ในช่วงปี2555-2560)
และกรณีการขายที่ดินให้แก่ บริษัท แทนเจอรีน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (บริษัทลูกของ บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) จำนวน 10 แปลง ในราคา 2,859.4 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ภายหลังสำนักข่าวอิศรา ทำการเผยแพร่ข่าว และสารคดีเชิงข่าวเกี่ยวกับข้อมูลทางธุรกิจของนายกำพล บุตร เครือญาติ และคนใกล้ชิดของนายกำพลไปหลายครั้ง ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงการถือครองหุ้น และการเป็นกรรมการบริษัทเอกชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และพบว่า ช่วงปี 2556-2558 มีบุคคลรวม 25 ราย รวมถึงนายกำพล และบุตร รู้เห็นหรือตกลงร่วมกันในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยสลับกันเข้าซื้อขายหลักทรัพย์รวม 6 แห่ง ในลักษณะอำพรางหรือต่อเนื่อง ทำให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อชักจูงให้บุคคลอื่นเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว พร้อมมีคำสั่งปรับเงินกว่า 890 ล้านบาท และเสนอให้อัยการฟ้องต่อศาลแพ่งแล้ว
ปัจจุบัน นายกำพล อยู่ในสถานะเป็นผู้ต้องหาหลบหนี และไม่มีข่าวความชัดเจนในการนำตัวมาดำเนินคดี (อ่านประกอบ:ปปง.อายัดทรัพย์ 'เสี่ยกำพล'พร้อมพวกอีก 9 คน ฐานเอี่ยวค้ามนุษย์ รวม 463 ล้าน, 41 บริษัทเครือข่ายธุรกิจ กำพล วิระเทพสุภรณ์)
@ย้อนรอย จุดสิ้นสุดคดีประวัติศาสตร์หงสา ก่อนศาลฎีกาสั่งบ้านปูชดใช้
ในปี 2561 ยังถือเป็นจุดสิ้นสุดของคดีประวัติศาสตร์บ้านปูหงสา ซึ่งความเป็นไปเป็นมาของคดีนั้น เริ่มตั้งแต่บมจ.บ้านปู ได้แจ้งข้อมูลการฟ้องร้องคดีในงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ว่า ในระหว่างปี 2550 บุคคลและกลุ่มกิจการบริษัทไทย-ลาว ลิกไนต์ จำกัด (โจทก์) ซึ่งเคยเป็นผู้พัฒนาโครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (โครงการหงสา) ได้ยื่นฟ้องบริษัท และบริษัท บ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นใน Hongsa Power Company Limited โดย Hongsa Power Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าจากรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (รัฐบาลลาว) และผู้บริหารของกลุ่มกิจการ 3 คน เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง
โดยกล่าวหาว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์โดยเข้าร่วมทำสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ เพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลโครงการหงสา และได้ใช้สิทธิไม่สุจริตในการรายงานเท็จทำให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานโครงการหงสาของโจทก์ เพื่อที่กลุ่มบริษัทบ้านปูจะได้เข้าทำสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลลาวเอง โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นค่าข้อมูลโครงการหงสาจำนวน 2,000 ล้านบาท ค่าลงทุนในการศึกษาและค่าใช้จ่ายในโครงการหงสาจำนวน 2,000 ล้านบาท และค่าขาดประโยชน์จากการที่ถูกรัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานโครงการหงสาอีกจำนวน 59,500 ล้านบาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 63,500 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย
ต่อมา ในวันที่ 20 กันยายน 2555 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาร่วมพัฒนาโครงการหงสา โจทก์ผิดสัญญาร่วมพัฒนาโครงการหงสา แต่จำเลยกระทำละเมิดด้วยการนำเอาข้อมูลโครงการหงสาของโจทก์ (สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาด 600 เมกกะวัตต์) ไปใช้ในการพัฒนาโครงการหงสาสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 1,800 เมกกะวัตต์ในปัจจุบัน และพิพากษาให้จำเลยเฉพาะบริษัทและบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นค่าข้อมูลจำนวน 2,000 ล้านบาท และค่าลงทุนในการศึกษาและค่าใช้จ่ายในโครงการหงสาอีกจำนวน 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และชดใช้ค่าเสียหายอันได้แก่ค่าขาดประโยชน์ในอนาคตที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงการเป็นเงินรายปี ปี 2558 ถึง 2570 ปีละ 860 ล้านบาท และปี 2571 ถึง 2582 ปีละ 1,380 ล้านบาท ชำระทุกสิ้นปี เป็นจำนวนรวม 27,740 ล้านบาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 31,740 ล้านบาท
ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้ยกฟ้องบริษัท บ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้บริหารของกลุ่มกิจการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ได้พิพากษายกคำฟ้องของโจทก์โดยให้เหตุผลว่าจำเลยซึ่งได้แก่บริษัทและบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) (บริษัทย่อย) ได้กระทำการโดยสุจริตทั้งก่อนและหลังเข้าทำสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ และจำเลยไม่ได้กระทำการละเมิดต่อโจทก์ แต่ฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ และจำเลยไม่ต้องคืนเอกสารซึ่งเป็นเอกสารข้อมูลโครงการหงสาให้แก่โจทก์ ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ส่วนฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558
ก่อนที่ ศาลแพ่ง จะนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 6 มี.ค.ให้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1.5 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ให้ บริษัทไทย-ลาว ลิกไนต์ ที่เป็นโจทก์ ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้นเมื่อนำดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2550 มารวมกับเงิน 1,500 ล้านบาท ทางบริษัทบ้านปูจะต้องจ่ายเงินให้โจทก์ทั้งสิ้น 2,737 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทบ้านปูก็พร้อมจ่ายแต่โดยดี (อ่านประกอบ:ปิดฉากคดีประวัติศาสตร์หงสา! ศาลฎีกาสั่งบ้านปูชดใช้ บ.ไทย-ลาว ลิกไนต์ 1.5พันล., ย้อนคดีประวัติศาสตร์หงสา ก่อนศาลนัดชี้ขาดบ.ไทย-ลาว ฟ้องเรียกค่าเสียหายบ้านปู3.1หมื่นล. )
@คดีดังข้ามชาติ กับสินบนโรงไฟฟ้า MHPS
กรณีนี้ถือได้ว่ามีความเกี่ยวข้องไปถึงการกระทำผิดของบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ ที่โยงใยมาถึงการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐไทย
โดยในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวหลายแห่งของญี่ปุ่นรายงานว่า สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียวกำลังสืบสวนบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ หรือ MHPS ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยทางบริษัทได้จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศไทย เพื่อแลกกับการชนะประมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในประเทศไทย
รายงานข่าวระบุว่า ถือได้ว่ามีการการต่อรองการรับสารภาพ หรือ plea bargain เป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น โดยทางบริษัทจะให้ข้อมูลกับพนักงานสืบสวน เพื่อแลกกับการที่ทางบริษัทจะไม่ถูกดำเนินคดีหรือลดโทษ
แหล่งข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS ได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ทางการของไทย โดยผ่านนายหน้ารายหนึ่ง เป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านเยน หรือราว 20 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา บนหน้าเว็บไซต์ของบริษัท MHPS ก็ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีนี้ว่า
“ช่วงเดือน ก.พ.ปี 2558 เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS ที่รับผิดชอบด้านการขนส่งชิ้นส่วนได้รับข้อความว่าเมื่อผู้รับเหมารายย่อยของบริษัทซึ่งทำหน้าที่ขนส่งชิ้นส่วนที่จำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทางเรือ จะขนย้ายชิ้นส่วนขึ้นบนท่าเทียบเรือชั่วคราวใกล้กับไซต์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้า ประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งคาดว่าน่าจะมาจาก กรมเจ้าท่า จ.นครศรีธรรมราช ได้ปิดท่าเรือชั่วคราว เพื่อไม่ให้ขนย้ายวัตถุดิบ โดยเรียกร้องเงินเป็นจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเปิดท่าเรือ
การที่ท่าเรือถูกปิดนั้นเป็นความผิดพลาดที่ทางผู้ให้บริการขนส่งไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้น ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนก็คือการเปิดท่าเทียบเรือให้ใช้การได้ตามปกติ เพราะถ้าหากการปิดท่าเทียบเรือยังดำเนินต่อไป ก็จะส่งผลทำให้การขนส่งชิ้นส่วนมีความล่าช้า และจะส่งผลทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้าตามไปด้วย ซึ่งกรณีนี้จะทำให้บริษัท MHPS ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเพื่อหลีกเรื่องไม่ให้บริษัทต้องพบเจอกับสถานการณ์เลวร้ายดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของบริษัท MHPS จึงได้มอบเงินจำนวน 20 ล้านบาทให้กับผู้รับเหมารายย่อยเพื่อนำเงินไปจ่ายตามคำเรียกร้องของผู้ที่ปิดท่าเรือ สถานการณ์จึงถูกคลี่คลายด้วยดี” (อ่านประกอบ:เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดประกาศ บ.ญี่ปุ่น แจงเหตุจ่ายสินบน20ล.แลกเปิดท่าเรือ-พนง.โชว์สปิริตคืนเงินด.)
และล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ไมนิชิของญี่ปุ่นรายงานว่า นายฟุยุฮิโกะ นิชิคิดะ วัย 63 ปี และนายโยชิกิ สึจิ วัย 57 ปี อดีตผู้บริหารของบริษัท ก็ได้รับสารภาพว่ากระทำผิดในเรื่องการจ่ายสินบนจริง
ขณะที่ สื่อญี่ปุ่นรายงานว่านายนิคิชิดะเป็นผู้รับผิดชอบด้านการจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่บริษัท MHPS ต้องใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าท้องถิ่นของประเทศไทยในขณะนั้น และได้รับแจ้งจากข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงคมนาคมของไทยว่า การขนส่งสินค้าของ MHPS มายังไทย "ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข" ทำให้ไม่สามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือได้ทัน และเสนอให้นายนิคิชิดะจ่ายเงินพิเศษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการช่วยเหลือให้สินค้าออกจากท่าเรือตามเวลาที่กำหนด
นายนิคิชิดะนำเรื่องไปปรึกษานายสึจิและนายซาโทชิ อุชิดะ วัย 64 ปี อดีตผู้บริหาร MHPS อีกรายหนึ่งที่รับผิดชอบดูแลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในไทยในขณะนั้น และทั้งหมดเห็นชอบให้จ่ายเงินสินบนตามที่ข้าราชการไทยรายดังกล่าวเรียกร้อง รวมเป็นเงิน 11 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า เพราะเกรงว่าถ้านำสินค้าออกมาไม่ได้ตามกำหนดเวลา จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า
ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏข้อมูลต่อสาธารณชนว่าข้าราชการระดับสูงรายนี้เป็นใคร และกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า รวมไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้ดำเนินการสอบสวนไปถึงไหน อย่างไรบ้าง
@ย้อนรอยปม ก.ล.ต.สั่ง 7 ผู้บริหาร-4 ผู้เกี่ยวข้องปมอินไซเดอร์หุ้น EARTH ชดใช้เงิน 143 ล.
คดีนี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 (1) นายขจรพงศ์ คำดี ในฐานะประธานกรรมการบริหารและกรรมการของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน)หรือ EARTH ได้เข้าพบธนาคารเจ้าหนี้เพื่อขอเลื่อนชำระหนี้เนื่องจากEARTH กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี การขอเลื่อนชำระหนี้ได้รับการปฏิเสธ จึงคาดการณ์ได้ว่า EARTH จะผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินและหนี้อื่น ๆ ซึ่งนายขจรพงศ์ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ (2) นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์ และ (3) นายพิพรรธ พิหเคนทร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานกรรมการ และกรรมการของ EARTH ตามลำดับ
ต่อมาในช่วงวันที่ 16 พฤษภาคม–7 มิถุนายน 2560 (1) นายขจรพงศ์และ (2) นายพิสุทธิ์ใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายในข้างต้นขายหุ้น EARTH จำนวน 33.34 ล้านหุ้น และ EARTH-W4 จำนวน 72.12 ล้านหน่วย มูลค่า 88.80 ล้านบาทเพื่อหลีกเลี่ยงผลขาดทุนอันเกิดการลดลงของราคาหลักทรัพย์จากปัญหาการขาดสภาพคล่องดังกล่าว โดยขายหุ้นผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคล 4 ราย ในลำดับที่ (8) – (11) ได้แก่ (8) นายจิตตเกษม คุณชยางกูร (9) นายเกษมสัณห์ คุณชยางกูร (10) นางลักขณา จันทร์เต็ม และ (11) นางสาวสุภาภรณ์ สายคำโดยมี (7) นายพัชวัฏ คุณชยางกูร ช่วยเหลือดำเนินธุรกรรมทางการเงินและจัดหาบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลทั้ง 4 รายดังกล่าว
ในวันที่ 2 มิถุนายน 2560 (3) นายพิพรรธซึ่งรู้ข้อมูลภายในดังกล่าวได้ยินยอมให้บริษัทหลักทรัพย์ขายหุ้น EARTH ในบัญชีของตนเองเพื่อชำระหนี้ในบัญชีเงินกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่น จำนวน 2.34 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 5.19 ล้านบาท
ในช่วงวันที่ 22 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2560 (4) นางธัญกมลตริตระการ ขณะเป็นกรรมการของ EARTH รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามบทสันนิษฐานตามกฎหมาย ได้ขายหุ้น EARTHและ EARTH-W4 ออกจนหมดบัญชี จำนวน 7.94 ล้านบาท และ2.89ล้านหน่วย ตามลำดับมูลค่ารวม 18.29 ล้านบาท
ในวันที่ 22 และ 31 พฤษภาคม 2560(5) นางธนภรพงศ์ธิติ ซึ่งเป็นน้องสาวของนายพิสุทธิ์มีพฤติกรรมการขายหุ้นที่ผิดไปจากปกติวิสัย จากเดิมที่มีลักษณะการถือครองระยะยาว โดยนางธนภรรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามบทสันนิษฐานตามกฎหมายได้ขายหุ้นEARTH ออกจนหมดบัญชี จำนวน 13.96 ล้านหุ้น มูลค่า 32.12 ล้านบาท
นอกจากนี้ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 (6) นายพิริยะ พิหเคนทร์ ซึ่งเป็นน้องชายของนายพิสุทธิ์ มีพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นที่ผิดไปจากปกติวิสัย จากเดิมที่มีลักษณะการถือครองระยะยาว โดยนายพิริยะรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามบทสันนิษฐานตามกฎหมายได้ขายหุ้นEARTH ออกจนเกือบหมดบัญชี จำนวน 9.2 ล้านหุ้น มูลค่า 19.44 ล้านบาท
การกระทำของบุคคลทั้ง 11 รายข้างต้น ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในและขายหุ้นEARTH ในระหว่างที่ข้อมูลภายในยังไม่ถูกเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไป เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 243 มาตรา 244 และมาตรา 315 อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับบุคคลทั้ง 11 ราย โดยมีรายละเอียดดังนี้
บุคคลลำดับที่ (1) ขจรพงศ์ และ (2)นายพิสุทธิ์ กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นเงินรายละ 42,458,636.59 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามบุคคลทั้งสองเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 4 ปี
บุคคลลำดับที่ (3) นายพิพรรธ กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงิน 3,873,870 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 1 ปี
บุคคลลำดับที่ (4)นางธัญกมลกำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงิน 13,998,516.61 บาทและกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 2 ปี
บุคคลลำดับที่ (5)นางธนภรกำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงิน 25,526,154.50บาทและกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 3 ปี
บุคคลลำดับที่ (6) นายพิริยะ กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงิน 13,123,600บาทและกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 2 ปี
บุคคลลำดับที่ (7)นายพัชวัฏกำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง เป็นเงิน 500,000 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 4 ปี
บุคคลลำดับที่ (8) – (11)นายจิตตเกษม นายเกษมสัณห์นางลักขณา และนางสาวสุภาภรณ์ กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง เป็นเงิน รายละ 500,000 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลารายละ 1 ปี
รวมทั้ง 11 รายเป็นเงิน 143,939,412 บาท (อ่านประกอบ:ก.ล.ต.สั่ง 7 ผู้บริหาร-4 ผู้เกี่ยวข้องปมอินไซเดอร์หุ้น EARTH ชดใช้เงิน 143 ล.)
@ไขปม เสี่ย ปีเตอร์ ราชาบ.พันปี กรุ๊ป อ้างยูเอ็น หลอกลวง เกษตรกร เสียหาย 300 ล้าน
กรณี บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด ซึ่งปรากฎชื่อนายพิชย์พิพรรธ ศรีตระกูลรักษ์ หรือเสี่ยปีเตอร์เป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ ถูกตรวจสอบพบว่า มีพฤติการณ์ส่งทีมงานเข้าไปชักชวนเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ มาสมัครเป็นสมาชิก เพื่อเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือด้านเกษตรกรรมในประเทศไทย โดยกล่าวอ้างว่าได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมากจาก องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และธนาคารโลก ให้นำเงินมาช่วยเหลือเกษตรกร ในรูปแบบของเงินอุดหนุนรายละ 1 ล้านบาท เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และรับซื้อผลผลิต ซึ่งเกษตรกรต้องเสียค่าสมัครเป็นสมาชิกตั้งแต่ 200-5,000 บาท และเสียค่าอบรมอีก 2,500 บาท แต่หลังโครงการผ่านไปได้ระยะหนึ่ง สมาชิกกลับไม่ได้รับเงินกู้สนับสนุนตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง โดยนับตั้งแต่เปิดบริษัทเมื่อปี 2558 เป็นต้นมา ก็พบว่า มีเกษตรกรและประชาชนตกเป็นเหยื่อมากกว่า 60,000 คน มูลค่าความเสียหาย 300 ล้านบาท
เบื้องต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประสานไปยัง องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อขอคำยืนยันว่าบริษัทพันปี เป็นสมาชิก และได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จริงหรือไม่ และก็ได้รับคำยืนยันข้อมูลว่า บริษัท พันปี กรุ๊ปฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกของ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และไม่เคยให้การสนับสนุนการทางเงินกับบริษัทพันปี กรุ๊ปฯ แต่อย่างใด
ขณะที่ ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ออกตัวมาเป็นแม่งานในการตามจับกุมนายพิชย์พิพรรธ โดยได้สั่งการขอความร่วมมือ กระทรวงพาณิชย์ ได้ตรวยสอบเส้นทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทพันปี กรุ๊ป เพราะปรากฎว่าเคยแจ้งรายได้ในช่วงปี 2558 ว่ามีรายได้อยู่ที่ 8,000 บาท ,ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยเข้าไปสำรวจว่า บริษัทเครือข่ายกว่า 200 บริษัท ว่ามีที่ไหนบ้าง ประสานความร่วมมือไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) เฝ้าระวังพฤติกรรมการจัดตั้งพรรคการเมืองของ นายพิชย์พิพรรธ ในชื่อว่า พรรคพันปีธรรมดีเพื่อแผ่นดิน
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้บุกเข้าจับกุมตัว นายพิชย์พิพรรธ ศรีตระกูลรักษ์ หรือเสี่ยปีเตอร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พันปี กรุ๊ป ตามหมายจับศาลอาญา ในคดีฉ้อโกงประชาชน
และเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสุรินทร์ ก็ได้ยกคำร้องขอให้ประกันตัวนายพิชย์พิพรรธ จึงทำให้จนถึงบัดนี้นายพิชย์พิพรรธยังคงถูกคุมขังในเรือนจำกลางจังหวัดสุรินทร์
ปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการคุมขังนายพิชย์พิพรรธไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับบริษัท พันปี กรุ๊ป ออกมาให้สาธารณชนได้รับทราบแต่อ่างใด (อ่านประกอบ:ลุยล้างบางเครือข่าย200แห่งด้วย! พล.ท.ผดุง ยันให้ตร.จับกุมตัว 'เสี่ยปีเตอร์' คดีฉ้อโกงพันปีฯแล้ว)
@ปิดคดีคลองด่าน ศาลจำคุก,ปรับ วัฒนา-บ.เอกชน
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 เวลา 13.30 น. ศาลแขวงดุสิต ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ 254/2547 ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี กับพวกจำนวน 19 ราย กรณีร่วมกันทุจริตจัดซื้อที่ดิน อำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่รวม 1,900 ไร่ มูลค่า 1.9 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างฯ มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยศาลฏีกาพิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยที่กระทำความผิด ทั้งปรับและจำคุก จากเดิมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยไปก่อนหน้านี้
โดยคดีนี้มีจำเลยอยู่ มี 19 ราย ได้แก่ จำเลยที่ 1 กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี, จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด , จำเลยที่ 4 บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, จำเลยที่ 5 นายสังวร ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำกัด , จำเลยที่ 6 บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, จำเลยที่ 7 นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา จำกัด , จำเลยที่ 8 บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, จำเลยที่ 9 นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด , จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด, จำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด , จำเลยที่ 12 บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด, จำเลยที่ 13 นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 14 นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 15 นายชยณัฐ โอสถานุเคราห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 16 บริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, จำเลยที่ 17 นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ , จำเลยที่ 18 นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ , จำเลยที่ 19 นายวัฒนา อัศวเหม
ศาลได้พิพากษาความผิดใน 2 กระทงคือ 1.ในส่วนประเด็นความผิดฐานฉ้อโกงขายที่ดินซึ่งบางส่วนออกโฉนดโดยไม่ชอบนั้น ข้อเท็จจริงสำหรับ จำเลยที่ 19 นายวัฒนา อัศวเหม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า โฉนดที่ดินทั้ง 5 โฉนด ออกโดยมิชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย
และ 2 ในความผิดฐานฉ้อโกงสัญญา ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึง 11 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงให้โจทก์ทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง โดยหลอกลวงปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งว่า บริษัท นอร์ธเวสต์วอเตอร์ฯ ไม่ได้ยิมยอมที่จะผูกพันตามสัญญา และได้บอกเลิกหนังสือมอบอำนาจที่ให้ทำการและลงนามในสัญญาแล้วหรือไม่
โจทก์ได้มีการนำพยานเบิกความ ว่า ได้สอบสวนผู้บริหารและอดีตผู้บริหารบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ โดยกลุ่มผู้บริหารยืนยันว่า บริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ ตกลงกับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคีเจ ไว้คราวๆ ว่าจะเข้าร่วมทำงานในโครงการ โดยมีข้อกำหนดว่า จะรับจ้างช่วงทำหน้าที่เดินระบบให้กับโครงการเท่านั้น จะไม่รับผิดร่วมกันและแทนกันกับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ และแจ้งชัดเจนว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์จะไม่ลงนามหรือมอบอำนาจให้ผู้ใดไปเซ็นสัญญากับโจทก์ และต่อมามีการออกหนังสือมอบอำนาจให้ จำเลยที่ 2 แต่เกรงว่าจะถูกนำไปใช้ฝ่าฝืนคำสั่งและนโยบาย จึงบอกเลิกหนังสือมอบอำนาจ แต่กลุ่มกิจการร่วมค้า ฯ ก็ไปลงนามในสัญญากับโจทก์โดยที่บริษัทฯ มิได้รู้เห็นยินยอม จึงทำหนังสือโต้แย้งคัดค้านไปแล้ว ซึ่งการที่จำเลยทราบแล้วว่าบริษัทนอร์ธเวสต์วอเตอร์ฯ ยกเลิกการมอบอำนาจแต่ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงในข้อที่เป็นสาระสำคัญ อันควรบอกโดยทุจริต ทำให้ได้เงินค่าจ่างไปเป็นจำนวนเงินเกือบ 20,000 ล้านบาท การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึง 11 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงสัญญาตามฟ้อง
ขณะที่ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์พิพากษา พิพากษากลับเป็นว่า
จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด , จำเลยที่ 4 บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, จำเลยที่ 5 นายสังวร ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำกัด , จำเลยที่ 6 บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, จำเลยที่ 7 นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา จำกัด , จำเลยที่ 8 บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, จำเลยที่ 9 นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด , จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด, จำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด , จำเลยที่ 12 บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด, จำเลยที่ 13 นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 14 นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 15 นายชยณัฐ โอสถานุเคราห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 16 บริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, จำเลยที่ 17 นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ , จำเลยที่ 18 นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ , จำเลยที่ 19 นายวัฒนา อัศวเหม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83
การกระทำของจำเลย จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์, จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และจำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ฐานฉ้อโกงที่ดิน
จำคุก จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์, จำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา , จำเลยที่ 13 นายชาลี ชุตาภา, จำเลยที่ 14 นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ, จำเลยที่ 15 นายชยณัฐ โอสถานุเคราห์, จำเลยที่ 17 นางบุญศรี ปิ่นขยัน, จำเลยที่ 18 นายกว๊อกวา โอเยง, จำเลยที่ 19 นายวัฒนา อัศวเหม คนละ 3 ปี
ปรับ จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด , จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด,จำเลยที่ 12 บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัดและจำเลยที่ 16 บริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด คนละ 6,000 บาท
ฐานฉ้อโกงสัญญา
จำคุก จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์, จำเลยที่ 5 นายสังวร ลิปตพัลลภ, จำเลยที่ 7 นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล, จำเลยที่ 9 นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล และ จำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา คนละ 3 ปี
ปรับ จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, จำเลยที่ 4 บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, จำเลยที่ 6 บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด,จำเลยที่ 8 บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด และ จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด คนละ 6,000 บาท
นับเป็นคดีใหญ่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของเอกชน ในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา อีกหนึ่งคดี (อ่านประกอบ:การศึกษาดีมีวุฒิภาวะ-วางแผนแยบยลซับซ้อน! เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีคลองด่านจำคุก'วัฒนา-บ.เอกชน')
@ย้อนประเด็น จำคุก ผู้บริหาร บ.เอวีเอ ปมขาย จีที200 ขณะคนซื้อส่อลอยนวล
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการทำผิดของเอกชนที่เป็นประเด็นระดับโลกอีกหนึ่งกรณี โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2561 ศาลแขวงดอนเมืองนัดอ่านคำพิพากษาในคดีอาญา ระหว่างกรมราชองครักษ์ ที่มีอัยการคดีพิเศษที่ 1 เป็นโจทก์กับบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด และกรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ 1-4 จากกรณีบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด และสารเสพติด หรือเครื่อง GT200 แต่ปรากฎว่าไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งกรมราชองครักษ์ซื้อเครื่อง GT200 รวม 3 สัญญา รวมวงเงิน 9 ล้านบาท
ศาลพิพากษาให้นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ในฐานะจำเลยที่ 2 รับโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 3 กรรมคงจำคุก 9 ปี ปรับกรรมละ 6,000 บาท รวมปรับ 18,000 บาท ตามความผิดมาตรามาตรา 347 ประกอบ มาตรา 83 ต่อมานายสุทธิวัฒน์ก็ได้ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเพื่อจะขออุทธรณ์คดีด้วยเงินสดจำนวน 9 แสนบาท
ส่วนจำเลยอื่นได้แก่ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จำเลยที่ 1 นายเดชพิภัทร์ วัฒนกิจ จำเลยที่ 3 และ นางศศกร ปลื้มใจ จำเลยที่ 4 ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง
คำพิพากษาของศาลได้ระบุคำให้การของตำรวจ จ.ปัตตานี ที่ระบุว่า ทหารเคยใช้เครื่อง GT 200 ตรวจรถต้องสงสัย และแจ้งว่า 'ไม่พบระเบิด' แต่เมื่อตำรวจเข้าไปตรวจสอบ กลับพบว่า มีระเบิดทำงานอยู่ และเกิดระเบิดขึ้น ส่วนคำให้การของพยานจำเลย 3 ปาก ที่ยืนยันกับศาลว่า เครื่องใช้งานได้จริงนั้น เป็นเพียงคำกล่างอ้างไร้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จึงถือว่า 'ฟังไม่ขึ้น'
ส่วนกรณีจำเลยที่ 2 อ้างไม่ทราบคุณสมบัติและประสิทธิภาพของเครื่อง GT 200 ว่าใช้การได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายของ บริษัท โกลบอล เทคนิคอล จำกัด บริษัทผู้ผลิตที่อังกฤษนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยไม่ใส่ใจในการซื้อขายสินค้า เพราะเครื่อง GT 200 มีราคาสูงมาก ในฐานะผู้ขายจำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติและประสิทธิภาพของสินค้าก่อนส่งมอบเสมอ หรืออาจรู้ก่อนแล้วว่า เครื่อง GT 200 ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังขายให้หน่วยงานของรัฐ ศาลจึงเชื่อว่า จำเลยที่ 2 มีเป้าหมายแสวงหาผลประโยชน์ มีความผิดฐานฉ้อโกง
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ศาลแขวงดอนเมือง ได้อ่านคำพิพากษาในสำนวนการสอบสวน คดีพิเศษที่ 218/2555 คดีระหว่าง กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก ผู้กล่าวหา กับ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวก ผู้ต้องหา โดยศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงตามที่อัยการโจทก์ฟ้อง จึงพิพากษาจำคุก นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ กรรมการบริษัท ในฐานะส่วนตัว กรรมละ 3 ปี รวม 12 กรรม รวมจำคุก 36 ปี แต่ตามประมาวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1)กำหนดให้จำคุกได้ไม่เกิน 10 ปี ปรับ บริษัทเอวิเอฯ ในฐานะนิติบุคคล กรรมละ 6,000 บาท รวม 12 กรรม รวมปรับ 72,000 บาท ส่วนจำเลยอื่น ให้ยกฟ้อง
แต่อย่างไรก็ตาม จากรายงานข่าวพบว่ายังมีผู้เสียหายรายอื่นๆจากการขายเครื่อง GT200 อีก ได้แก่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากรกรมการปกครอง จังหวัดภูเก็ตตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดยะลา ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาทองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองทัพเรือและจังหวัดสุโขทัย แต่ก็ยังไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่าหน่วยงานเหล่านี้จะมีการดำเนินคดีกันอย่างไร และไม่ปรากฏด้วยว่านอกจากตัวผู้ขายแล้ว จะมีการดำเนินการกับส่วนราชการซึ่งเป็นผู้ซื้อด้วยหรือไม่ (อ่านประกอบ: จีที 200 เอาผิดแค่คนขาย แต่คนซื้อลอยนวล?, ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก)
---------------
ทั้งหมด คือ ข้อมูลข่าวความไม่โปร่งใส ของบริษัทเอกชนดังหลายแห่ง ที่ปรากฎชื่อเข้าไปมีส่วนกระทำความผิด และกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งหลายคดี สำนักข่าวอิศรา ได้เข้าไปมีส่วนรวมในการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการสอบสวนคดีต่างๆ ด้วย
ส่วนปี 2562 จะมีคดีสำคัญเกี่ยวกับบริษัทเอกชนชื่อดังแห่งใดอีกบ้าง คงต้องจับตาดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/