ถูก คสช.คุม-ธุรกิจระส่ำ! ส.นักข่าวฯรายงานสถานการณ์สื่อปี’61 ยก 4 ปัจจัยทำ‘ซึมทรุด’
สมาคมนักข่าวฯ แพร่รายงานสถานการณ์สื่อไทยรอบปี 61 ยกให้เป็นปีแห่ง ‘ซึมแทรก ซึมทรุด’ เปิด 4 ปัจจัยเสี่ยงทั้งการถูกควบคุมด้วยกฎหมายพิเศษของ คสช.-กฎหมายอื่นกระทบเสรีภาพ-ความระส่ำระส่ายด้านธุรกิจ-บทเรียนเสนอข่าวถ้ำหลวง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2561 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์ด้านสื่อมวลชนไทยในรอบปี พ.ศ. 2561 ระบุว่า เป็นปีแห่งการ “ซึมแทรก ซึมทรุด” เพราะสื่อมวลชนยังคงเผชิญความเสี่ยงและท้าทายหลายประเด็น โดยเฉพาะการไม่มีสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่ ภายใต้กฎหมายพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในห้วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อทั้งระบบยังอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลกระทบด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสารที่มุ่งไปสู่ทิศทางทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจึงสรุปสถานการณ์สื่อฯใน 4 ประเด็นสำคัญ
1.การถูกควบคุมด้วยกฎหมายพิเศษ แม้ว่าในปี 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญรองรับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การพูด การพิมพ์ไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 บัญญัติ ให้บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ทว่ายังคงมีการบังคับใช้ ประกาศคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช.4ฉบับ เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนที่ยังไม่มียกเลิก สวนทางกับบรรยากาศของการปลดล็อคทางการเมืองเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ที่ประชาชนต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนรอบด้าน แม้ว่าองค์กรสื่อจะร่วมกันรณรงค์ เรียกร้องและออกแถลงการณ์มาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แต่การยกเลิกประกาศคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช. ทั้ง 4 ฉบับก็ไม่เป็นผล
2.ยังมีกฎหมายกระทบสิทธิเสรีภาพ แม้ประเทศไทยอยู่ในช่วงขับเคลื่อนตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ รวมถึงแผนปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ หนึ่งในนั้นคือการจัดทำ พระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน. พ.ศ. . ซึ่งก่อนหน้านี้องค์กรสื่อได้รวมพลังคัดค้านในหลายประเด็น แต่ในที่สุดร่างกฎหมายดังกล่าวก็ได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 โดยมีข้อสังเกตบางประการ และคณะรัฐมนตรีได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณาก่อนเสนอกลับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ในชั้นนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงไม่น่าจะทันการพิจารณาของสภานิติบัญญัติชุดนี้ ถึงกระนั้น องค์กรสื่อก็ยังยืนยันหลักการในการกำกับดูแลกันเอง อันเป็นหลักการสากลที่นานาประเทศใช้กำกับดูแลเรื่องจริยธรรม อีกทั้งจะต้องไม่มีตัวแทนฝ่ายรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับเสรีภาพบนโลกออนไลน์ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้วเช่นกัน แต่หลายประเด็นอาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ รวมทั้งติดตาม ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.... ร่างพระราชบัญญัติการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ... การแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ว่าจะมีส่วนใดริดรอนเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนหรือไม่
3.ธุรกิจสื่อที่ระส่ำระส่าย แม้ว่าการใช้อำนาจพิเศษของ คสช. ในการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ด้วยการพักชำระหนี้ค่าสัมปทานเป็นเวลา 3 ปี ตามที่ผู้ประกอบการร้องขอ เป็นสัญญาณที่การแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ของธุรกิจสื่อได้อย่างชัดเจนตลอดทั้งปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 นอกจากนี้ยังมีธุรกิจสื่อทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ หรือโทรทัศน์ ที่หลายสำนักออกนโยบายลาออกด้วยความสมัครใจ รวมถึงนิตยสารต่าง ๆ ที่ทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง
4. บทเรียนถ้ำหลวง เป็นเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้กับเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนทั่วโลกมากกว่าพันชีวิต ปักหลักทำข่าวต่อเนื่องยาวนาน 17 วัน ในภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เป็นสถานการณ์ที่ยากทั้งการช่วยเหลือ และยากต่อการรายงานข่าวบนเนื้อที่ปากถ้ำที่มีหลากหลายอุปสรรค เงื่อนไข ข้อจำกัดที่ต้องแข่งกับเวลา และการช่วงชิงยอดผู้ชมและเรตติ้งของข่าวให้ได้มากที่สุด นำมาซึ่งคำชื่นชม ตำหนิ และบทเรียนให้กับสื่อมวลชนนำกลับไปเป็นการบ้านเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/