สตง.เชือด “โครงการชุมชนพอเพียง” รบ.มาร์ค! ไม่โปร่งใส-ล้มเหลว
เปิดผลสอบ "โครงการชุมชนพอเพียง" รัฐบาลมาร์ค! สตง.ชี้ล้มเหลว แอบอ้างชี้นำชุมชนซื้อสินค้า เปลี่ยนหัวเรือจาก "กอร์ปศักดิ์" เป็น "มีชัย" แก้ปัญหาไม่ตก ชง “ยิ่งลักษณ์” หาทางออกเตาเผาขยะ–เครื่องทำปุ๋ย-ตู้น้ำดื่ม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) หรือ โครงการชุมชนพอเพียง ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ตามนโยบายเร่งด่วน ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงานโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ใช้งบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวนมากถึง 26,356.65 ล้านบาท
ทั้งนี้ สตง.ระบุว่าจากการตรวจสอบการดำเนินโครงการระยะแรก ที่มี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารโครงการ พบว่า การจัดสรรงบประมาณโดยตรงให้หมู่บ้าน/ชุมชน มีปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอันเป็นเจตนารมณ์ของนโยบายแห่งรัฐที่ประกาศต่อรัฐสภา ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการคัดเลือกโครงการ และการบริหารโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ ไม่เป็นไปตามระเบียบและแนวทางที่คณะกรรมการบริหารโครงการกำหนด โดยมีการแทรกแซงจากบุคคลภายนอกที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน หรือมีความใกล้ชิดกับผู้นำชุมชนที่เข้ามาเสนอโครงการที่มีผลประโยชน์แอบแฝง
สตง.ระบุว่า ชุมชนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 77 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 56.62 ของ 136 ชุมชนที่เลือกตรวจสอบ คัดเลือกโครงการโดยผ่านการประชุมประชาคม แต่ประชาคมเพื่อเลือกโครงการที่บุคคลภายนอกนำมาเสนอ และชุมชน 51 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 37.50 ตัดสินใจเลือกโครงการที่บุคคลภายนอกชี้นำโดยไม่ผ่านกระบวนการประชาคม ต่างจากหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ปริมณฑล จำนวน112 แห่ง ใช้กระบวนการประชาคมในการคัดเลือกโครงการ คิดเป็นร้อยละ 77.24 ของหมู่บ้าน/ชุมชนที่เลือกตรวจสอบ จำนวน 145 แห่ง
ทั้งนี้ โครงการที่ชุมชนเสนออนุมัติไม่เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารโครงการกำหนด จากการตรวจสอบพบว่า ชุมชนส่วนใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีความต้องการโครงการที่คล้ายคลึงกันและจำกัดอยู่ใน 9 ประเภท ตามที่ได้รับการชี้นำจากบุคคลภายนอกหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการผลประโยชน์จากชุมชน โดยชุมชน 147 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 81.67 ของ 180 ชุมชนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ เลือกจัดทำโครงการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด จำนวน 168 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 53.67 ของทั้งหมด 313 โครงการเป็นเงินงบประมาณ 57.65 ล้านบาท ส่วนโครงการที่ชุมชนในกรุงเทพมหานครจัดทำมากลำดับรองลงมาได้แก่ โคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ เตาเผาขยะชุมชน เครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอดีเซล ห้องเย็นชุมชน เครื่องสีข้าว และกลองยาวประยุกต์ ต่างจากการเลือกโครงการของหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ปริมณฑล ซึ่งเลือกจัดทำโครงการประเภทส่งเสริมอาชีพด้านต่าง ๆ จำนวน 122 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 29.33 ของทั้งหมด 416 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ26.80 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม โครงการที่หมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ปริมณฑลจัดทำมีความหลากหลายกว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น โครงการจัดซื้อเครื่องมือ/เครื่องจักรกลการเกษตร โครงการประปาชุมชน/ประปาบาดาล โครงการศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง โครงการร้านค้าชุมชน และโครงการเครื่องสีข้าว/โรงสีข้าว
นอกจากนี้ ในขั้นตอนกระบวนการดำเนินงานชุมชนไม่ได้บริหารจัดการโครงการตามแนวทางของระเบียบที่คณะกรรมการบริหารโครงการกำหนด โดยชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 271 แห่ง คิดเป็นร้อยละ96.44 ของชุมชน 281 แห่งที่เลือกตรวจสอบ ไม่ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินตามแบบที่สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนกำหนด และจำนวน 254 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.39 ของชุมชน 281 แห่งที่เลือกตรวจสอบ ไม่ได้จัดทำสรุปผลการดำเนินโครงการเมื่อดำเนินงานเสร็จสิ้นครั้งแรก และเมื่อดำเนินงานครบรอบ 6 เดือน หรือ 1 ปีปฏิทิน เนื่องจากไม่ทราบว่าต้องจัดทำ และไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร
สตง. ยังระบุด้วยว่า จากการที่มีบุคคลภายนอกแทรกแซงการคัดเลือกโครงการ โดยชุมชนต้องเลือกจัดทำโครงการตามที่บุคคลภายนอกชี้นำและอาสาดำเนินการเอกสารการประชุมประชาคม ทำให้ชุมชนขาดการเชื่อมโยงกับสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน จึงไม่ทราบว่าโครงการที่เสนอได้รับอนุมัติและมีการโอนเงินงบประมาณไปยังบัญชีเงินฝากของชุมชนแล้ว ส่งผลให้มีเงินค้างอยู่ในบัญชีเงินฝากของชุมชนที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายรวม 23.10 ล้านบาท โดยเป็นเงินค้างอยู่ในบัญชีของชุมชนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 17.70 ล้านบาท และเป็นของหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ปริมณฑล จำนวน 5.40ล้านบาท เท่ากับชุมชนเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติไปจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์
นอกจากนี้ จากการที่ชุมชนไม่ได้บริหารจัดการโครงการตามแนวทางของระเบียบที่คณะกรรมการบริหารโครงการกำหนด ส่งผลให้เกิดความสูญเปล่างบประมาณ จำนวน 31.75 ล้านบาท ของ 122 โครงการที่ชุมชนไม่ได้ใช้ประโยชน์/ใช้ประโยชน์ไม่ต่อเนื่อง/ไม่มีความยั่งยืนในการดำเนินงานเนื่องจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน จังหวัด อำเภอ/เขตและเทศบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลหมู่บ้าน/ชุมชน และชุมชน ต่างมีข้อจำกัดในการดำเนินงานตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่ระเบียบคณะกรรมการบริหารโครงการกำหนด
สตง. ยังระบุต่อไปว่า สำหรับการดำเนินงานโครงการระยะที่ 2 และ 3 แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบโครงการ นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานกรรมการบริหาร และมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานโครงการระยะแรก แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ซึ่งการแก้ปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ด้วยการลดเกณฑ์องค์ประชุมประชาคมลงเหลือร้อยละ 50 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดของชุมชน การปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการ และการให้อำนาจจังหวัดและกรุงเทพมหานครพิจารณากลั่นกรองโครงการและอนุมัติโครงการก่อนส่งให้สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนเพื่อเสนอคณะอนุกรรมการอำนวยการโครงการพิจารณาอนุมัติงบประมาณนั้น
จากการตรวจสอบพบว่า การปรับเกณฑ์สำคัญรวมถึงกรอบแนวทางปฏิบัติที่กำหนดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ยังไม่สามารถเอื้อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิผลด้านการอนุมัติโครงการให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศได้ กล่าวคือ จัดสรรให้หมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศได้เพียง 4,656 แห่ง คิดเป็นร้อยละ7.59 ของหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 61,330 แห่ง ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับจัดสรร ส่งผลให้หมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 6,100 แห่ง ไม่ประสงค์ขอรับจัดสรรงบประมาณจากโครงการ ในจำนวนนี้เป็นหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกัน 2,557 แห่ง
ทั้งนี้เนื่องจากความไม่ชัดเจนของแนวทางการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับจังหวัดและความล่าช้าในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับกรุงเทพมหานคร ความไม่พร้อมของระบบการรายงานผลและการส่งแบบเสนอโครงการ ที่อำเภอ/เขต และเทศบาล จะต้องเสนอข้อมูลโครงการไปยังจังหวัด/กรุงเทพมหานคร รวมถึงการจัดทำเอกสารเสนอโครงการของหมู่บ้าน/ชุมชน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบโครงการชุมชนพอเพียงครั้งนี้ สตง. ยังได้ระบุข้อเสนอแนะเพื่อเสนอไปให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการดังนี้
1. ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนำเสนอสภาพปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดของการดำเนินงานซึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการภายใต้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เรียนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายจัดทำโครงการเร่งด่วนอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันต่อไป
2. ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน ดำเนินการดังนี้
2.1 เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดสถานภาพ บทบาท อำนาจ และหน้าที่ของสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน เพื่อให้มีความชัดเจนในการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่รัฐบาลกำหนด
2.2 เสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการทบทวนหลักเกณฑ์การประชุมประชาคมให้มีลักษณะยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนมากขึ้น และให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นชุมชนระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนชนบท
2.3 เสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการทบทวนหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการที่ชุมชนเสนออนุมัติ ให้มีความชัดเจนและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชน เนื่องจากหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการในระเบียบแต่ละฉบับกำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ ซึ่งชุมชนขาดความเข้าใจ ไม่สามารถเลือกโครงการได้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เป็นเหตุให้ชุมชนต้องจัดประชุมมากกว่าหนึ่งครั้ง
2.4 เสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการทบทวนกรอบการพิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณให้มีความชัดเจน อีกทั้งซักซ้อมความเข้าใจให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับจังหวัดและระดับกรุงเทพมหานครในการปฏิบัติตามกรอบการพิจารณาดังกล่าว
2.5 เสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการประสานจังหวัดและกรุงเทพมหานครในการกำกับให้อำเภอ/เขต เทศบาล ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การส่งเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์การประชุมประชาคมของชุมชน การจัดส่งแบบเสนอโครงการให้พิจารณา การติดตามประเมินผลโครงการที่ชุมชนต่าง ๆ ดำเนินการภายหลังได้รับอนุมัติโครงการและงบประมาณ รวมถึงการทำหน้าที่ในฐานะพี่เลี้ยงเพื่อแนะนำด้านการจัดทำเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการกำกับให้ชุมชนปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่ระเบียบคณะกรรมการบริหารโครงการกำหนด
2.6 เสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการพิจารณาแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาให้ชุมชนกรณีครุภัณฑ์ของบางโครงการที่ชุมชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ ได้แก่ เตาเผาขยะชุมชน เครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ เครื่องผลิตไบโอดีเซล และตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์
2.7 เสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการพิจารณาแนวปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับชุมชนธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการแก้ปัญหาเงินของชุมชนที่ค้างอยู่ในธนาคาร เพื่อให้มีการนำไปใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อชุมชนต่อไป