ประมวล 3 สหกรณ์ดัง‘จุฬา-คลองจั่น-รถไฟ’ ถูกสอบปมบริหารเงิน-ทุจริต รอบทสรุปปี’62
ประมวลเหตุการณ์ 3 สหกรณ์ดังฯ ตกเป็นข่าวฉาวในปี 61 โดนหน่วยงานรัฐเข้าตรวจสอบ ปมบริหารงบส่อไม่โปร่งใส-บางแห่งมีทุจริต ‘จุฬา’ ยังเหลือปมปล่อยกู้ ‘คลองจั่น-เครือข่าย’ นับพันล้าน ยังไม่ได้คืนทั้งหมด เส้นทางเงินไหลถึงอดีตบิ๊ก ‘คลองจั่น’ ปมขายที่ดิน 477 ล้าน แต่มีเงินไหลเข้าคนอื่น ‘ธาริต-สีหนาท’ ถูกสอบวินัยร้ายแรง ‘รถไฟ’ บริหารงานมีปัญหา เจอแจ้งความเอาผิด รอผลต้นปี 62
ในรอบปี 2561 มีสหกรณ์อย่างน้อย 3 แห่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงมีหน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบ เกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ รวมถึงบางแห่งมีอดีตผู้บริหารถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตด้วย ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และสหกรณ์ออมทรัพย์รถไฟ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เกาะติดและนำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจที่มาที่ไปมากขึ้น สำนักข่าวอิศรารวบรวมข้อเท็จจริง และความคืบหน้าในกรณีนี้ และทิศทางของคดีในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ดังนี้
@สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ช่วงปี 2556 เป็นต้นมา สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในยุคที่มีนายบัญชา ชลาภิรมย์ อดีตรองอธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานสหกรณ์จุฬาฯ อีกตำแหน่ง และมีนายสวัสดิ์ แสงบางปลา เป็นที่ปรึกษา (ปัจจุบันติดคุก 250 ปี แต่ติดจริง 20 ปี คดีหลอกสมาชิกลงทุนในโควตาหวย 187 ล้านบาท) ทำการปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์คลองจั่นฯ 144 ล้านบาท สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี 215 ล้านบาท และสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ 915 ล้านบาท
สำหรับการฝากเงินดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์คลองจั่นฯ ในช่วงที่ถูกตรวจสอบว่าอาจมีการยักยอกเงินเกิดขึ้นแล้ว รวมถึงสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ที่ถูกตรวจสอบพบว่า นำเงินไปลงทุนหมู่บ้านจัดสรร ทั้งที่ขัดต่อระเบียบ จึงไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้คือได้ ทำให้สหกรณ์จุฬาฯต้องตั้งหนี้เผื่อสูญไว้จำนวนมหาศาล และปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะได้คืนแต่อย่างใด โดยมีเพียงแค่สหกรณ์คลองจั่นฯเท่านั้นที่ทยอยชดใช้เงินคืน เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลล้มละลาย
สำหรับกรณีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการตรวจสอบอยู่ โดยรับเป็นคดีพิเศษไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการระบุชื่อผู้ถูกกล่าวหา แต่พบหลักฐานสำคัญเป็นเส้นทางการเงินระหว่างสหกรณ์คลองจั่นฯ ถึงอดีตผู้บริหารระดับสูงในสหกรณ์จุฬาฯ เป็นเงินกว่า 89 ล้านบาทเศษ
จุดสำคัญในคดีนี้คือ ต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้บริหารสหกรณ์จุฬาฯ วางแผนกันอย่างไรในการปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์คลองจั่นฯ และเครือข่าย ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่า ขณะนั้นสหกรณ์คลองจั่นฯถูกตรวจสอบเกี่ยวกับการยักยอกเงินจำนวนมหาศาลอยู่ นอกจากนี้จำเป็นต้องไล่เส้นทางการเงินให้ได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้บริหารระดับสูงรายได้ได้ผลประโยชน์จากกรณีนี้บ้าง
แต่คีย์แมนสำคัญ หนีไม่พ้น นายสวัสดิ์ แสงบางปลา อดีตผู้บริหารระดับสูงของสหกรณ์จุฬาฯ ที่ปัจจุบันติดคุกอยู่จากคดีหลอกลวงสมาชิกลงทุนโควต้าหวยกว่า 187 ล้านบาท ดังนั้นดีเอสไอสามารถเข้าไปสอบปากคำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอ ส่วนบทสรุปจะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามกันต่อในช่วงปี 2562 (อ่านประกอบ : ศาลสั่งคุก 250 ปี! อดีต ปธ.สหกรณ์จุฬาฯหลอกลงทุนโควตาหวย 187 ล.)
@สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (กรณีการขายที่ดินที่ถูกอายัด)
คดีทุจริตของสหกรณ์คลองจั่นฯ มีเป็นจำนวนมาก บางคดีศาลพิพากษาแล้ว บางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล และมีอีกหลายคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของดีเอสไอ โดยในช่วงปี 2561 มีความคืบหน้าในส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่อดีตข้าราชการระดับสูงในดีเอสไอ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เนื่องจากพัวพันกรณีการถอนอายัดที่ดิน เพื่อนำไปขายต่อให้กับเอกชน 477 ล้านบาท แต่คืนเงินชดใช้แก่สหกรณ์คลองจั่นฯ แค่เพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น
ที่มาที่ไปของคดีนี้ ภายหลังคดียักยอกสหกรณ์คลองจั่นฯ ถูกตรวจสอบหลายกรณี ดีเอสไอเข้าไปสอบสวน และดำเนินการอายัดทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องในชื่อของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์คลองจั่นฯ ต่อมาดีเอสไอ และ ปปง. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเตรียมขายทรัพย์สินทอดตลาดเยียวยาให้กับสหกรณ์คลองจั่นฯ โดยมีการถอนอายัดที่ดินจำนวน 33 แปลง 1,838 ไร่ เป็นเงินกว่า 477 ล้านบาทให้กับเอกชน แต่กลับให้นายศุภชัยเป็นผู้ติดต่อนายหน้ามาเป็นผู้ติดต่อเอกชนเพื่อซื้อที่ดินดังกล่าว ทั้งที่เป็นหน้าที่ของ ปปง. นอกจากนี้ยังพบว่าคืนสหกรณ์คลองจั่นฯแค่ 100 ล้านบาท ส่วนอีก 377 ล้านบาทเศษ ถูกกระจายไปอยู่ในเครือข่ายของนายศุภชัย
สำหรับอดีตข้าราชการระดับสูงอีก 2 ราย ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีนี้ ได้แก่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีเอสไอ และ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. โดยราย พ.ต.อ.สีหนาท ถูกระบุว่า มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายเมื่อปี 2556 ให้มีอนาจหน้าที่ดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และมีผลทำให้การดำเนินการของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นโดยคำสั่งดังกล่าวที่มีนายนพดล อุเทน กระทำการแทนผู้แทนสำนักงาน ปปง. ในฐานะประธานกรรมการ ย่อมเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
ส่วนนายธาริต ถูกระบุว่า เห็นชอบกับการถอนอายัดที่ดินของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ตามมติที่ประชุมคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตั้งขึ้นโดย พ.ต.อ.สีหนาท โดยไม่ตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแล ต่อมาปรากฏว่า พ.ต.หญิง นาฏยา มุตตามระ และ พ.ท.อมร มุตตามระ (ทั้งคู่เป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และถูกสอบวินัยร้ายแรงด้วย ปัจจุบันถูกไล่ออกแล้ว) ได้รับเงินจากการขายที่ดินดังกล่าวบางส่วน และนำเงินดังกล่าวมาเข้าบัญชีของตนเอง อันเป็นการฟอกเงิน (อ่านประกอบ : ก่อนคุก 1 ปี! ย้อนวิบากกรรม‘ธาริต’ ถูกฟันยื่นบัญชีเท็จ-สอบวินัยขายที่ดินคลองจั่นฯ)
ดังนั้นคงต้องรอดูผลการสอบสวนวินัยร้ายแรงว่า คณะกรรมการฯ ชุดที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรมคนปัจจุบันเป็นประธานฯ จะมีบทสรุปออกมาอย่างไร
@สหกรณ์ออมทรัพย์รถไฟ
เมื่อปลายปี 2560 กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชัน นำโดย นายกิ่งแก้ว โยมเมือง หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการตรวจสอบการกระทำของ นายบุญส่ง หงส์ทอง และพวก ว่าเป็นการกระทำที่น่าจะมิชอบต่อ สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด หรือไม่ และหรือเป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือให้เกิดประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบข้อมูลว่า มีสมาชิกได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารของคณะกรรมการที่ดำเนินงานจนประสบปัญหาการขาดทุน ทำให้ได้รับเงินปันผลล่าช้า และลดน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา อีกทั้งสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่จะลาออกไม่สามารถเบิกถอนเงินคืนได้ รวมถึงไม่สามารถกู้ยืมเงิน ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเพื่อเหตุฉุกเฉิน กู้ยืมสามัญ และกู้ยืมพิเศษ โดยคณะกรรมการอ้างว่า สหกรณ์ฯ ขาดสภาพคล่อง กรณีสืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการดำเนินการในชุดที่ 7, 8, 9, 10 และ 11 ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2546-2560 ซึ่งขณะนั้น นายบุญส่ง หงส์ทอง และ นายนรินทร์ โพธิ์ศรี เป็นประธานกรรมการ พร้อมคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ฯ
คณะกรรมการแต่ละชุด มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งกัน ได้มีการร่วมมือกันเป็นขบวนการ และวางแผนกันกับพวกเป็นขั้นเป็นตอนเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง โดยการอนุมัติจ่ายเงินกู้พิเศษเพื่อเคหะสงเคราะห์ให้กับคณะกรรมการดำเนินงานจำนวน 6 คน หลายครั้ง ประกอบด้วย นายบุญส่ง หงษ์ทอง, นายวีรชัย ศรีสวัสดิ์, นายบัญชา ช่วยประสิทธิ์, นายประพันธ์ อำพันฉาย, นายนรินทร์ โพธิ์ศรี และ นายปรีชา ธนะไพรินทร์
แยกออกเป็น 199 สัญญา รวมเป็นเงินจำนวน 2,279 ล้านบาท และบุคคลทั้ง 6 นำเงินจำนวนดังกล่าวไปจัดซื้อที่ดินในนามตนเอง เพื่อดำเนินโครงการจัดสรรที่ดิน ชื่อโครงการ อาลีบาบารีสอร์ท โครงการ บุญสิตา ตั้งอยู่ที่ ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ และเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ ทั้งที่ระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการให้กู้ยืมเงิน พ.ศ. 2554 ข้อ 13 โดยกำหนดให้กู้เงินได้ไม่เกินคนละ 15 ล้านบาท และต้องมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ฯ แต่กลับกระทำการที่ฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์และสมาชิก
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2561 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดทำเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทุจริตสหกรณ์รถไฟฯ ระบุว่า ภายหลังจากที่อดีตผู้บริหารสหกรณ์รถไฟฯ กับพวก รวม 6 ราย ได้ปล่อยเงินกู้ 199 สัญญา วงเงิน 2,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบสหกรณ์ที่กำหนดให้กู้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท นั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แต่งตั้งข้าราชการเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2561 และจะมีวาระการดำตำแหน่งไม่เกินวันที่ 28 ก.ย. 2561 โดยตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการชั่วคราวได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่อง การ
ดำเนินคดีอดีตผู้บริหารสหกรณ์รถไฟฯ และเตรียมฟ้องคดีทั้งทางแพ่ง และอาญา มีผู้ถูกกล่าวหาหลายราย ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว
อย่างไรก็ดีต่อมานายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ ได้สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งอธิบดี ระบุว่า ข้าราชการทั้ง 3 ราย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการที่ไปเอื้อหรือไปดำเนินการให้อดีตกรรมการของสหกรณ์รถไฟฯ ไปฝากหรือกู้เงินจากสหกรณ์อื่น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องของการส่งเสริมสหกรณ์ปกติตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น
ส่วนความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินคดีอาญา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ เปิดเผยว่า ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่ม 1 คน รวมเป็น 5 คน เหลืออีก 1 คน ที่ยังไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งจะติดตามและเปิดเผยความคืบหน้าอีกครั้งในช่วงเดือน ม.ค. 2562 (อ่านประกอบ : ตร.ขอหลักฐานบัญชีเงินกู้ส.รถไฟ2.2พันล.เพิ่ม-กลุ่มบุญส่ง ยังไม่รับทราบข้อกล่าวหา1ราย)
ทั้งหมดคือที่มาที่ไปของสหกรณ์ชื่อดังอย่างน้อย 3 แห่ง ที่ตกเป็นข่าวโด่งดังในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา และต้องรอช่วงปี 2562 ว่า จะมีบทสรุปกี่คดีบ้าง ?