- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ก่อนคุก 1 ปี! ย้อนวิบากกรรม‘ธาริต’ ถูกฟันยื่นบัญชีเท็จ-สอบวินัยขายที่ดินคลองจั่นฯ
ก่อนคุก 1 ปี! ย้อนวิบากกรรม‘ธาริต’ ถูกฟันยื่นบัญชีเท็จ-สอบวินัยขายที่ดินคลองจั่นฯ
“…นายธาริต ในฐานะอธิบดีดีเอสไอขณะนั้น เห็นชอบกับการถอนอายัดที่ดินของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ตามมติที่ประชุมคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตั้งขึ้นโดย พ.ต.อ.สีหนาท โดยไม่ตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแล ต่อมาปรากฏว่า พ.ต.หญิง นาฏยา และ พ.ท.อมร ได้รับเงินจากการขายที่ดินดังกล่าวบางส่วน และนำเงินดังกล่าวมาเข้าบัญชีของตนเอง อันเป็นการฟอกเงิน…”
ชื่อของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง!
ภายหลังศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ในฐานะความผิดหมิ่นประมาท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรณีกล่าวหาว่าเป็นผู้อนุมัติให้แก้สัญญาก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน 396 หลัง วงเงินกว่า 5.8 พันล้านบาท จากรายภาคมาเป็นเอกชนรายเดียว โดยศาลฯระบุว่า นายธาริต ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิด (อ่านประกอบ : ศาลฎีกาพิพากษาคุก 1 ปี'ธาริต'ไม่รอลงอาญา ปมหมิ่น'สุเทพ'คดีสร้างโรงพัก)
ก่อนหน้านี้นายธาริต เผชิญวิบากกรรมมาแล้วหลายกรณี โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาทที่มีหลายคดีมาก โดยโจทก์ส่วนใหญ่มากจากพรรคประชาธิปัตย์
แต่หากนับคดีสำคัญ ๆ มีอย่างน้อย 2 คดี ที่หลายคนอาจยังไม่ทราบ หรือทราบแต่ลืมไปแล้ว มีบทสรุปไปแล้ว 1 คดี ยังเหลืออีก 1 คดีที่อยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริง
หนึ่ง คดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และคดีร่ำรวยผิดปกติ 346 ล้านบาท
กรณีนี้เกิดขึ้นช่วงปี 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้สอบสวนบัญชีทรัพย์สินเชิงลึกของนายธาริต และนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ภรรยา พบว่า ในช่วงดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ มีทรัพย์สินมาก หรือหนี้สินลดลงมาก เกินกว่าฐานะและรายได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะพึงมีได้ อีกทั้งปรากฎพฤติการณ์โอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินให้บุคคลอื่นถือแทน
โดยพบว่า นายธาริตให้นายปิยฤกษ์ อรรถกานต์รัตน์ ซึ่งเป็นหลานชายของนายธาริต และนางวรรษมล และบริษัท ปิยธนวรรษ จำกัด ซึ่งมีนายปิยฤกษ์ และนางกานดา เผือดจันทึก น้องสาวของนางวรรษมล เป็นกรรมการบริษัท มีชื่อเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินจำนวนมากแทนนายธาริต และนางวรรษมล จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายธาริต ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่า 346,652,588 บาท โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือหนี้สินลดลงมากผิดปกติ รวมถึงจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จด้วย
คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า นายธาริต ร่ำรวยผิดปกติ 346 ล้านบาท สั่งจำคุก 3 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ปรับ 5,000 บาท และให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน
หลังจากนั้นช่วงกลางปี 2560 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงโทษนายธาริตออกจากราชการ (โอนย้ายมาเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่ง คสช. หลังรัฐประหาร) สาเหตุเกิดจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายธาริตร่ำรวยผิดปกติ (อ่านประกอบ : ฉบับเต็มคดี‘ธาริต’ซุกทรัพย์สิน! รับโอนหุ้น บ.ในฮ่องกง-เงินฝากโผล่ บช.หลานเมีย)
สอง กรณีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ปมสหกรณ์คลองจั่นฯ
กรณีนี้เกิดขึ้นภายหลังสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดียักยอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แต่งตั้งขึ้น มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานฯ เป็นผู้ถูกกล่าวหา นำที่ดินบริเวณ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา จำนวน 36 แปลง เนื้อที่ 1,836 ไร่ ที่ดีเอสไออายัด มาขายทอดตลาด เป็นเงินจำนวน 477,800,000 บาท โดยคืนสหกรณ์คลองจั่นฯ จำนวน 100 ล้านบาท ทั้งที่เงินทั้งหมดควรตกเป็นของสหกรณ์คลองจั่นฯ และในการติดต่อซื้อขายที่ดินปล่อยให้นายศุภชัย เป็นผู้ดำเนินการติดต่อผู้ซื้อเอง รวมถึงเจอเช็คกระจายไปยังเครือข่ายของนายศุภชัย และมีการจ่ายค่านายหน้าให้กับบริษัทเอกชนก่อนหน้าที่จะมีมติขายที่ดินด้วย (อ่านประกอบ : ขมวดเงื่อนปมซับซ้อน! การขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 477 ล.ชดใช้หนี้คดีคลองจั่น, INFO: ใครเป็นใคร? พลิกพฤติการณ์ผู้ถูกกล่าวหาคดีฟอกเงินขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 477 ล.)
หลังจากนั้นดีเอสไอสมัย น.ส.สุวรรณา สุวรรณจูฑะ เป็นอธิบดี (ปัจจุบันเป็นกรรมการ ป.ป.ช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น 3 ราย ต่อมามีการเปิดเผยรายชื่อและแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคล-นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 14 ราย ได้แก่ 1.นายศุภชัย (ไปแจ้งข้อกล่าวหาที่เรือนจำ) 2.นายณฐพร โตประยูร (อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน) 3. พันตรีหญิงนาฏยา มุตตามระ 4.พันโทอมร มุตตามระ 5.น.ส.อุมาดาห์ จำนงค์เขตต์ 6.นายรัฐสิทธิ์ โตประยูร (กรรมการบริษัท อินเตอร์อลายซ์ฯ ของนายณฐพร) 7.นายโชคอนันต์ ช้อยสุชาติ
8.นายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล (อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย) 9.บริษัท เอส ดับบลิว โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (นายสถาพรเป็นกรรมการ) 10.น.ส.พรพิมล คัทธมารถ 11.บริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีนายศุภชัยเป็นอดีตกรรมการ 12.นาย Kumar Latchman Sigh 13.นายสุลสิด ทะนะโสด 14.นางโบนาลิน ตระกูลทอง
ต่อมาสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แบ่งเป็น ดีเอสไอ 4 ราย ได้แก่ กับนายธาริต นายกิตติก้อง พ.ท.อมร มุตตามระ และ พ.ต.หญิง นาฏยา มุตตามระ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 2 ราย ได้แก่ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ อดีตเลขาธิการ ปปง. และนายนพดล อุเทน อดีต ผอ.กองคดี 3 สำนักงาน ปปง. โดยถูกกล่าวหาว่า มีส่วนร่วมกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการติดตามดูแล ปล่อยให้ผู้ต้องหาดำเนินการทำธุรกรรมด้วยตนเอง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย
สำหรับพฤติการณ์ของผู้ถูกล่าวหาแต่ละรายตามหนังสือคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เกี่ยวพันต่อเนื่องกัน ดังนี้
พ.ต.อ.สีหนาท ถูกกล่าวหาว่า ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายเมื่อปี 2556 ให้มีอนาจหน้าที่ดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และมีผลทำให้การดำเนินการของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นโดยคำสั่งดังกล่าวที่มีนายนพดล อุเทน กระทำการแทนผู้แทนสำนักงาน ปปง. ในฐานะประธานกรรมการ ย่อมเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
เมื่อต่อมาพนักงานสอบสวนดีเอสไอในคดีดังกล่าวดำเนินการถอนอายัดที่ดินของผู้ต้องหาจนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหานำไปขายจนทำให้เกิดความเสียหาย นายธาริต ในฐานะอธิบดีดีเอสไอขณะนั้น เห็นชอบกับการถอนอายัดที่ดินของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ตามมติที่ประชุมคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตั้งขึ้นโดย พ.ต.อ.สีหนาท โดยไม่ตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแล ต่อมาปรากฏว่า พ.ต.หญิง นาฏยา และ พ.ท.อมร ได้รับเงินจากการขายที่ดินดังกล่าวบางส่วน และนำเงินดังกล่าวมาเข้าบัญชีของตนเอง อันเป็นการฟอกเงิน
กระทรวงยุติธรรม จึงแต่งตั้ง ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการสอบสวนฯ พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ น.ส.ทัศนีย์ ฉัตรศักดารักษ์ น.ส.พัชรียา เหมวิรุฬห์ เป็นกรรมการ และนายนพดล ก้อนทอง เป็นกรรมการและเลขานุการ
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยสอบถามไปยัง ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ หลายครั้งเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสอบสวนวินัยร้ายแรงกรณีนี้ แต่ ศ.พิเศษ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยระบุว่า ไม่มีอำนาจในการบอกข้อมูล
นี่คือ 2 คดีสำคัญของนายธาริต ที่จบไปแล้ว 1 คดีคือกรณีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และร่ำรวยผิดปกติ แต่ยังเหลือคดีใหญ่ เกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งในดีเอสไอ และสำนักงาน ปปง. คือ กรณีการขายที่ดินสหกรณ์คลองจั่นฯ ที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน
ท้ายที่สุดบทสรุปจะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามผลกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/