สังคมเอียงกระเท่เร่ 'เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง' มองการดำเนินนโยบายรัฐบาลคสช.ตลอดปี 2561
"ทุกวันนี้รัฐบาลคสช.ให้น้ำหนักกับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จนกระทั่งสังคมเอียงกระเท่เร่ ขาดความสมดุลไปมาก อยากให้พรรคการเมืองตรองดูให้ความสมดุลกับนโยบายทุกๆด้าน นโยบายไหนที่เคยอ่อน หย่อนยาน ถูกทอดทิ้ง ถูกมองข้ามในรัฐบาลคสช. ก็อยากให้เข้ามาเติมเต็ม "
ปี 2561 ที่ผ่านมา ปัญหามลพิษในประเทศไทยหลายอย่างรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และการออกคำสั่งของรัฐบาล นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เริ่มต้นวิเคราะห์สถานการณ์ในรอบปีที่ผ่านมา
ในเรื่องของการจัดการขยะ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า เห็นด้วยที่ปัญหาขยะถูกจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่นโยบายและมาตรการกลับผิดทางมากๆ ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เช่น นโยบายสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ มีหลายชุมชนไม่เห็นด้วยเนื่องจากพื้นที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เป็นพื้นที่ที่เขาไม่ได้สร้างขยะเอง หรือบางพื้นที่มีปัญหาขยะสะสมหมักหมม อาจไม่เหมาะสร้างโรงไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งของรัฐบาลเอง เช่น การออกคำสั่งให้ระงับการใช้กฎหมายผังเมืองพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าขยะ และก็ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)หากมีขนาดต่ำกว่า 10 เมกกะวัตต์ ขณะเดียวกันมาตรการอื่นๆ ก็แทบจะถูกละเลยจากรัฐบาลชุดนี้เช่นเดียวกัน
นางเพ็ญโฉม มองว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลกับการใช้มาตรา 44 ในการออกคำสั่งต่างๆ มีผลทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น ทั้งมิติไปสร้างปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนในพื้นที่ และรุนแรงในแง่ที่ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษ ปล่อยมลพิษโดยไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมาย หรือข้อบังคับต่างๆ
"รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุน ฟังข้อมูลจากผู้ประกอบการ และไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมได้"
สำหรับปัญหาขยะนำเข้าจากต่างประเทศ ขยะอิเล็คทรอนิกส์ ขยะอันตรายนั้น ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ชี้ว่า นโยบายในอดีตและปัจจุบันได้ไปทำการความตกลงการค้าเสรีทำให้เปิดเสรีนำเข้าขยะอันตรายได้ ทั้งขยะอุตสาหกรรม ขยะเคมี ขยะชุมชนของต่างประเทศ ขยะพลาสติก ขยะอิเล็คทรอนิกส์ สามารถนำเข้ามาประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับสถานการณ์ที่เข้ามาซ้ำเติม เมื่อจีนมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะอันตราย ทำให้ขยะเหล่านั้นหลั่งไหลเข้ามาประเทศไทย
ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรองรับขยะเหล่านี้ เธอบอกว่า ปัญหาไม่ใช่หลั่งไหลเข้ามาแล้วจบ แต่มันได้กระจายไปอยู่ในโรงงานคัดแยก แปรรูป และกำจัดขยะตามที่ต่างๆ โดยกระบวนการของโรงงานเหล่านี้ก่อมลพิษอยู่แล้ว ทั้งน้ำเสีย มลพิษอากาศ เสียงดัง ฝุ่นละออง รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในรั้วโรงงานก็ไม่ได้มาตรฐาน
ขณะเดียวกันเศษซากขยะที่เหลือจากกระบวนการคัดแยกขยะ และเหลือจากการประกอบกิจการเหล่านั้นที่ไม่สามารถไปใช้เป็นวัตถุดิบก็จะกลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งตามที่ต่างๆ หรือฝังกลบภายในพื้นที่โรงงาน
"กฎหมายปัจจุบัน ยอมให้โรงงานเหล่านี้แก้ปัญหาแบบง่ายๆ ด้วยการฝังกลบขยะเหล่านี้ในพื้นที่โรงงานเลย ซึ่งก่อปัญหาบานปลาย ทำให้แหล่งน้ำใต้ดินปนเปื้อนสารอันตรายจากเศษซากขยะเหล่านี้ หรือหากมีการนำไปทิ้งนอกพื้่นที่โรงงาน แม้แต่เผา ก็ก่อปัญหามลพิษ ดินจะปนเปื้อนสารอันตราย"
ฉะนั้น ในรอบปี 2561 สถานการณ์มลพิษในประเทศไทยแย่ลง จากการที่รัฐดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดและมีมาตรการที่ไม่เหมาะสม ทั้งในเชิงการออกคำสั่ง ม.44 การหย่อนยานแหล่งก่อมลพิษ อีกทั้งผู้ประกอบการเองก็ไม่สนใจ และเพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะรัฐบาลมีแนวโน้นจะเข้าข้าง และเอียนเอียงไปในแนวทางการส่งเสริมการลงทุน ไม่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
เมื่อถามถึงการบุกทลายโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานานนับเดือน เธอบอกว่า หลายคนพูดว่า เป็นการจัดโชว์ ก่อนจะย้ำ เวลาผ่านไปก็บอกอย่างนั้นจริงๆ
"แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการตื่นตัว ลุกขึ้นมาตรวจ จับ ค้น และอายัดสินค้าอันตรายเหล่านั้น จากนั้นทุกอย่างก็เงียบไป ตู้สินค้าเหล่านั้นก็ถูกประมูลออกไป ดังนั้นสถานการณ์แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ยกเว้น การเป็นข่าว"
และแม้ว่า รัฐบาลจะมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะอันตราย ห้ามนำเข้าพลาสติกประมาณ 400 กว่ารายการ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เห็นว่า ก็ยังไม่เป็นหลักประกันรับรองมาตรานี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ และนำมาใช้อย่างจริงจังแค่ไหน อีกทั้งจะเกิดการทุจริตระหว่างทางและเกิดการนำเข้ามาอีกหรือไม่ เราก็ยังไม่รู้ว่า ชนิดของสินค้าอันตรายที่ห้ามนำเข้าจริงๆ เป็นสินค้าที่ก่อผลกระทบรุนแรงหรือไม่ ประเภทของขยะที่ห้ามนำเข้าเป็นรายการที่กฎหมายปกติควบคุมอยู่แล้วหรือเป็นรายการนอกการควบคุมของกฎหมาย ซึ่งต้องติดตามต่อไป
ปัจจุบัน เรามีร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยืนยันว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมายฉบับนี้นานแล้ว แต่ด้วยเหตุที่ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ จึงหาทางยืดเวลาการพิจารณา ซึ่งก็สามารถทำได้สำเร็จด้วย
"ร่างกฎหมายจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ สาระสำคัญได้ถูกปรับแก้จนทำให้ตัวกฎหมายอ่อนลงไปเยอะ หัวใจสำคัญของการมีกฎหมายแทบไม่เหลือสาระสำคัญที่คงความสำคัญไว้เลย" นางเพ็ญโฉม ระบุ และเน้นย้ำว่า นี่คืออีกประเด็นที่อยากบอกว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือการคุ้มครองสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัยจากมลพิษ ไม่สามารถผ่านออกมาได้ในรัฐบาลชุดนี้ อาจมีพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ผ่านสนช.และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่ก็ผิดไปจากเจตนารมณ์ของความพยายามปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ มองสาระทั้งหมด แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย
โดยภาพรวมเราคิดว่า กฎหมายที่ควรมีการปฏิรูป คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชน กฎหมายที่ควรแก้ไขให้ดีขึ้นอีกหลายๆ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษ กำกับดูแลโรงงาน หรือแก้ปัญหาขยะอันตรายต่างๆ กฎหมายไม่มีการแก้ไขให้ดีในรัฐบาลชุดนี้ ที่ผ่านออกมาก็ใช่จะดี
สุดท้าย นางเพ็ญโฉม ยังฝากความหวังถึงพรรคการเมืองต่างๆ และที่จะเข้ามาบริหารประเทศได้ให้ความสำคัญกับนโยบายพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและเท่าเทียมกัน ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ฯลฯ
"ทุกวันนี้รัฐบาลคสช.ให้น้ำหนักกับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม และเป็นทุนขนาดใหญ่ จนกระทั่งสังคมเอียงกระเท่เร่ ขาดความสมดุลไปมาก อยากให้พรรคการเมืองตรองดูให้ความสมดุลกับนโยบายทุกๆด้าน นโยบายไหนที่เคยอ่อน หย่อนยาน หรือถูกทอดทิ้ง ถูกมองข้ามในรัฐบาลคสช. ก็อยากให้เข้ามาเติมเต็ม เช่นด้านสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ การพัฒนาสังคม และแรงงานต่างๆ"