ไขปม ‘ชูวิทย์’ซุกหุ้น - นาฬิกาหรู‘บิ๊กป้อม’ คนละเรื่องเดียวกัน?
ไขปมดรามาคดี‘ชูวิทย์’ซุกหุ้นภัตตาคารในชื่อลูกจ้าง ป.ป.ช.ชงศาลฎีกาฯฟัน ติดคุก 1 เดือน เทียบกรณีนาฬิกาหรู 22 เรือน ‘บิ๊กป้อม’อ้างของเพื่อน ดูชัดๆ ข้อเท็จจริงต่าง หรือ เหมือนกัน?
กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก! กรณี 27 ธ.ค. 2561 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 3 เสียง (พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ขอถอนตัวออกจากห้องประชุม ไม่ร่วมพิจารณา) ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้ยี่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเท็จ กรณีนาฬิกาหรู 22 เรือน โดยเชื่อตามคำกล่าวอ้างของ พล.อ.ประวิตรว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้เป็นเจ้าของนาฬิกาเพียงแต่ พล.อ.ประวิตรยืมจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนสนิท มาใส่และได้คืนไปหมดแล้ว และจากการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องก็พบว่านายปัฐวาทชอบสะสมนาฬิการาคาแพงจำนวนมาก ข้อร้องเรียนการปกปิดบัญชีทรัพย์สินจึงถูกยกคำร้อง
ขณะเดียวกันมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เอาไปเปรียบเทียบกับคดี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทย ถูกจำคุก 1 เดือนโดยไม่รอการลงโทษ กรณีไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขณะที่เจ้าตัวออกมาออกมาโพสต์ข้อความเหน็บแนมทำนองว่า กรณีของเขาลืมรายงานหุ้นเป็นเงินแค่ 150,000 บาท มูลค่าน้อยกว่าให้เงินนักร้องในสมัยก่อน และถ้าอ้างว่ายืมเพื่อนมาแล้วรอด ไม่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูล “ไม่สารภาพให้ติดคุกจริงๆ หรอก” (คดีนี้นายชูวิทย์สารภาพในศาลฎีกาฯยอมรับว่าซุกหุ้น)
เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงที่หลากหลาย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลคดีนายชูวิทย์ซุกหุ้นมารายงานให้เห็นอย่างชัดๆ
นายชูวิทย์ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2561 ว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ลงโทษจำคุก 2 เดือน ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน แต่นายชูวิทย์เคยได้รับโทษจำคุกเกินหกเดือนมาก่อน และพ้นโทษจำคุกมาไม่เกินห้าปี จึงไม่อาจรอการลงโทษจำคุกได้กระทั่งนายชูวิทย์ พ้นโทษเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2561
ชนวนเหตุแห่งคดีก็คือ นายชูวิทย์ ไม่แสดงรายการเงินลงทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ภัตตาคารซินกี่ จำนวนเงิน 150,000 บาท นายชูวิทย์ชี้แจงว่าโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวให้แก่ นายชุมสิน จิระนคร และนายสุเมธ เตชะผ่องพันธ์ ไปแล้ว ก่อนถึงกำหนดยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน แต่เมื่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.เรียก นายชุมสิน จิระนคร และนายสุเมธ เตชะผ่องพันธ์ มาสอบปากคำ ทั้งสองคน ให้ถ้อยว่าเป็นเพียงพนักงานของ สถานบริการไฮคลาส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ ซึ่งดำเนินกิจการโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ภัตตาคารซินกี่ พยานทั้งสองมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด ภัตตาคารซินกี่ แทนนายชูวิทย์ เพื่อยื่นเรื่องขออนุญาตต่อใบอนุญาตสถานบริการไฮคลาส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ แทนนายชูวิทย์เท่านั้น แต่นายชูวิทย์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในห้างหุ้นส่วนจำกัด ภัตตาคารซินกี่
จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ภัตตาคารซินกี่ เดิมชื่อ หจก.โรงแรมจิวซินกี่ฮ่งไต้ จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 18 ต.ค. 2493 ทุน 150,000 บาท ประกอบธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ที่ตั้งเลขที่ 1181,1183,1185,1187 ถ.ริมทางรถไฟสายปากน้ำ แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพฯ มีผู้ถือหุ้น 4 คนคือ นายโชคชัย กอปทุมกาญจน์ นายพิทักษ์ มัศยานันท์ นายสมชัย ตั้งอาสนะวิทย์ และนายจงรักษ์ กอปทุมกาญจน์
นายชูวิทย์ เข้ามาถือหุ้นเมื่อ 6 ต.ค.2542 จำนวน 100,000 บาทและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายจงรักษ์ กอปทุมกาญจน์ 50,000 บาท และย้ายที่ตั้งเลขที่ 55/2 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร มีการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างน้อย 4 ครั้ง
13 ม.ค.2543 นายชูวิทย์ ยังคงถือหุ้นใหญ่ 100,000 บาท นายชุมสิน จิระนคร เข้ามาถือหุ้น 50,000 บาท (แทนนายจงรักษ์ กอปทุมกาญจน์)
ปี 2546 นายชูวิทย์ลดสัดส่วนเงินลงทุนเหลือ 15,000 บาท นายชุมสิน 15,000 บาท บริษัท เดวิส เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (ของนายชูวิทย์) ถือ 85,000 บาท (ลดทุนจดทะเบียนเหลือ 115,000 บาท) (ดูเอกสาร)
23 พ.ย.2547 หุ้นนายชูวิทย์หายไป มีถือหุ้น 2 คนคือ นายสรสรรค์ บุนนาค 105,000 บาท นายชุมสิน จิระนคร 45,000 บาท รวมทุน 150,000 บาท (ดูเอกสาร)
กระทั่ง 16 ก.พ. 2550 มีผู้เป็นหุ้นส่วน 3 คน ได้แก่ นายสรสรรค์ บุญนาค ลงทุนด้วยเงิน 85,000 บาท (56.66%) นายชุมสิน จิระนคร 45,000 บาท (30%) และ นายสุเมธ เตชะผ่องพันธ์ 20,000 บาท (13.33%) นายชุมสิน จิระนคร และ นายสุเมธ เตชะผ่องพันธ์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กระทั่งจดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2556
จากข้อมูลเห็นได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งนี้นายชูวิทย์เป็นเจ้าของในช่วงปี 2543 ต่อมาปี 2547 ก็โอนหุ้นให้ลูกน้องเป็นผู้ถือครองแทน
จากข้อมูลเห็นได้ว่า
1.นายชูวิทย์ถือหุ้นใน หจก.ภัตตาคารซินกี่ มาตั้งแต่ปี 2542 ต่อมาโอนหุ้นให้ลูกน้องในปี 2547
2.ขณะที่ลูกน้องนายชูวิทย์ยอมรับกับ ป.ป.ช.ไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง ผู้เป็นเจ้าของคือนายชูวิทย์ นายชูวิทย์เอาชื่อลูกน้องมาถือหุ้นใน หจก. ภัตตาคารซินกี่เพื่อยื่นเรื่องขออนุญาตต่อใบอนุญาตสถานบริการไฮคลาส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ แทนนายชูวิทย์เท่านั้น
3.ในข้อเท็จจริงลูกน้องนายชูวิทย์ยังมีชื่อถือหุ้นในธุรกิจอาบอบนวดของนายชูวิทย์อีกหลายแห่ง
ต่างจากกรณีนายฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรที่อ้างว่านาฬิกาเป็นของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนรัก พล.อ.ประวิตรยืมเพื่อนมาใส่ เพื่อนชอบสะสมนาฬิกา และพยานผู้เกี่ยวข้องให้การว่านาฬิกาเป็นของนายปัทวาท
เห็นได้ว่าทั้ง 2 คดี มีข้อเท็จจริงต่างกัน ยกเว้นว่าเครือญาตินายปัฐวาท หรือพยานคนใดคนหนึ่ง ให้การว่านาฬิกา 22 เรือนไม่ใช่ของ นายปัฐวาท นายปัฐวาท เป็นนอมินีของพล.อ.ประวิตร และหรือมีหลักฐานว่าคนซื้อนาฬิกาคือ พล.อ.ประวิตร
เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาตามเนื้อผ้า ตรงไปตรงมา จะเห็นว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน
ส่วน กรณีนาฬิกายืมเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร คล้ายหรือแตกต่างกับคดีรถตู้ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม หรือไม่นั้น สำนักข่าวอิศรานำข้อมูลมารายงานไปแล้ว (อ่านประกอบ : ชอตต่อชอต! เทียบคดีนาฬิกาหรู 'บิ๊กป้อม' - รถโฟล์คตู้ ‘สุพจน์’)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
เรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีนายชูวิทย์
ชื่อหรา‘เสี่ยชูวิทย์’หุ้นใหญ่ ภัตตาคารซินกี่ โอนให้ลูกน้องปี 47 คดีจำคุก ซุก ป.ป.ช.
คำพิพากษาฉบับเต็ม!คดีจำคุก‘ชูวิทย์’ ที่แท้ซุกหุ้น‘ภัตตาคารซินกี่’ ใช้ลูกน้อง‘นอมินี’
ป.ป.ช.ฟันเงียบ‘ชูวิทย์’คดีบัญชีทรัพย์สิน ศาลฎีกาฯ นัด 21 มิ.ย.61