รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ -สนช.ห่วงยกเลิกต่อใบอนุญาตประกอบกิจการรง.
ที่ประชุมสนช.ลงมติรับหลักการวาระ 1 ร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ -สนช.ห่วงยกเลิกอายุใบอนุญาต ถามรมช.อุตฯ มีประเทศไหนพิจารณาแบบนี้บ้าง ยันใบอนุญาตไม่ได้ขวางการอำนวยความสะดวก แต่มีประโยชน์ใช้กำกับดูแล ติดตามการประกอบกิจการโรงงาน
วันที่ 27 ธันวาคม เวลา 12:00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ ซึ่งมีทั้งหมด 28 มาตรา เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ได้บังคับใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การควบคุมการประกอบกิจการโรงงานที่มีความเข้มงวดและล่าช้า อันสร้างปัญหาและอุปสรรคต่อการประกอบกิจการโรงงาน สมควรเปลี่ยนหลักเกณฑ์การควบคุมการประกอบกิจการโรงงานใหม่ เพื่อให้การควบคุมการประกอบกิจการโรงงานเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็น เกิดความรวดเร็วและประหยัด และลดภาระแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการโรงงานขนาดเล็ก โดยการปรับปรุงขั้นตอน และระยะเวลาการพิจารณาของผู้อนุญาต และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายให้มีความชัดเจน ลดการใช้ดุลยพินิจ ยกเลิกกำหนดให้มีการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และแก้ไขเพิ่มเติมบทลงโทษ รวมทั้งปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียม
สำหรับการแก้ไขพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มีทั้งหมด 15 ข้อ หนึ่งในนั้น แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่าโรงงาน และการตั้งโรงงาน และเพิ่มบทนิยาทคำว่า ผู้ตรวจสอบเอกชน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4) และยกเลิกการกำหนดอายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การต่ออายุใบอนุญาตและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์คำสั่งของผู้อนุญาตให้เหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น (ยกเลิกมาตรา 14 และมาตรา 15 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16 )
ในที่ประชุมนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ สมาชิกสนช. กล่าวถึงข้อความในมาตรา 26 ระบุว่า " ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ซึ่งออกไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้จนกว่าจะมีการยกเลิกประกอบกิจการโรงงานหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต
"ต่อไปนี้ใบอนุญาตโรงงานจะไม่มีอายุ มีประเทศไหนพิจารณาแบบนี้บ้าง ใบอนุญาตบางอย่างไม่ใช่เพื่อไม่อำนวยความสะดวก การยกเลิกด้วยเหตุนี้ ผมไม่สบายใจ ใบอนุญาตมีหลายประเภท การมีอายุใบอนุญาตไม่ได้หมายความว่า ไม่อำนวยความสะดวก แต่ใบอนุญาตบางประเภทมีประโยชน์ในการกำกับดูแล ติดตามการประกอบกิจการ ฉะนั้นการกำกับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานบางประเภท ถือเป็นกระบวนการทำงานให้ผู้ประกอบการอยู่ในกรอบ อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ผมไม่อยากให้มองด้านอำนวยความสะดวกอย่างเดียว"
นายศิริพล กล่าวถึงอายุใบอนุญาต เจตนาก็เพื่อต้องการรู้ตัวตน ทำกิจการนั้นๆยังดำเนินการอยู่หรือไม่ ส่วนเรื่องการเพิกถอนหรือลงโทษนั้น ความผิดต้องปรากฎชัด "ผมไม่ติดใจและเป็นห่วง หากมีมาตรฐานต่างประเทศ โรงงานต่างๆ ไม่กำหนดอายุใบอนุญาต ผมก็ไม่ติดใจ แต่หลายเหตุผลที่หลายประเทศกำหนดไว้ เพื่อประโยชน์สาธารณะจริงๆ"
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวชี้แจงถึงการยกเลิกต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมก็ยังกำกับดูแล ควบคุม การตรวจโรงงานและใช้อำนาจสั่งปรับปรุงแก้ไข สั่งหยุด สั่งปิดได้เหมือนเดิม "ในต่างประเทศ บางประเทศอาจไม่มีการต้องมาขอใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงาน เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายการใช้อาคาร กฎหมายการควบคุมของท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งกฎหมายสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม"
สุดท้ายที่ประชุมสนช.มีมติรับหลักการวาระที่ 1 ร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ ไว้พิจารณา และตั้งกรรมาธิการ 14 คนพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภามีมติ
ด้านนางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง สนช. ระงับพิจารณา ร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ ฉบับลดทอนคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนี้ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา หลังสนช.ผ่านวาระรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวว่า จะหาทางขับเคลื่อนและต่อสู้คัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป ทั้งนี้ สนช.ไม่ควรพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ควรปล่อยให้รัฐสภาชุดต่อไปพิจารณา โดยระหว่างนี้กระทรวงอุตสาหกรรมควรเปิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ จากภาคส่วนต่างๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำอย่างรวบรัดแบบช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ประเด็นที่เครือข่ายภาคประชาสังคม แสดงความเป็นห่วง 1. การแก้ไขนิยามคำว่า "การตั้งโรงงาน" ของร่างกฎหมาย โดยลดความหมายของการตั้งโรงงานเหลือเพียงการนำเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งเท่านั้น เป็นการเปิดช่องว่างให้การก่อสร้างอาคารโรงงานสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ 2. การแก้ไขนิยาม “โรงงาน” ซึ่งจะทำให้โรงงานขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้า หรือกิจการที่มีคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่ถือเป็นโรงงานตามร่างกฎหมายฉบับใหม่ 3. การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการ และ 4. การตัดทิ้งข้อเสนอเรื่องประกันภัยเพื่อการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการ (อ่านประกอบ:ประชาสังคม เรียกร้อง สนช. ระงับพิจารณา ร่างพ.ร.บ.โรงงาน ฉบับลดทอนคุ้มครองสิ่งแวดล้อม )