ข้อมูลลับ 'ทอท.' จัดซื้อเครื่องตรวจรันเวย์ 668 ล้าน เฉลี่ยตัวละ1.4 ล.- เคยขัดข้องปี 55?
"... เอฟโอดี ถูกระบุว่า เป็นวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมที่เกิดให้เกิดอันตรายหากถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์ของเครื่องบินขณะเครื่องบินทำการขับเคลื่อนหรือทำการบินขึ้น-ลง เป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินเสียหายไม่สามารถทำการบินต่อไปได้ หรือหากกระแสไอพ่นเป่าไปโดนอากาศยาน อุปกรณ์ภาคพื้น หรือพนักงานที่ปฏิบัติงานบริเวณใกล้เคียง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เป็นมูลค่าที่ประเมินมิได้..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยตรวจสอบพบข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2561 บริษัท การท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เผยแพร่ประกาศรายชื่อ ผู้ชนะการเสนอราคาจ้างซ่อมบำรุงรักษาระบบตรวจจับวัสดุแปลกปลอมบนทางวิ่ง (FOD Detection System) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ระบุุชื่อบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก คือ บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด เสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 49,755,000 บาท (ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่งค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวง)
ขณะที่จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2554 ทอท. ได้ว่าจ้าง บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดี ในวงเงิน 668.75 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 330 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2554 - 22 ก.พ.2555 โดยที่มาของโครงการนี้ มีจุดเริ่มต้นหลังจากเกิดโศกนาฏกรรมทางการบินของสนามบินชาร์ลเดอโกลในกรุงปารีส ประเทศเทศฝรั่งเศส จึงทำให้ ทอท.ต้องจัดทำโครงการนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอุบัติเหตุของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขึ้น
เท่ากับว่าบริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด ได้รับงานว่าจ้างจัดซื้อและซ่อมบำรุงระบบอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดี จากทอท.ทั้ง 2 สัญญา รวมวงเงินกว่า 718 ล้านบาท (อ่านประกอบ : พบ ทอท.จ้างแดนไทยฯซ่อมบำรุงเครื่องตรวจรันเวย์49 ล. หลังขายให้เมื่อ 8 ปีก่อน 668 ล.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับมอบเอกสารประกอบการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดี ในวงเงิน 668.75 ล้านบาท เมื่อปี 2554 ดังกล่าว จากแหล่งข่าวระดับสูงใน ทอท. พร้อมเรียกร้องให้สำนักข่าวอิศรา เข้าไปติดตามตรวจสอบข้อมูลงานการจัดซื้อโครงการนี้เพิ่มเติม
โดยเอกสารที่ได้รับมา มี 2 ส่วนที่สำคัญ คือ รายงานผลการดำเนินงานจัดซื้อระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดีของ ทอท. และ เอกสารแสดงวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรและราคากลางในการจัดซื้อ
ทั้งนี้ ในส่วนรายงานผลการดำเนินงานจัดซื้อระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดีของ ทอท. ลงวันที่ 10 ก.ย.2555 ระบุข้อมูลที่มาที่ไปการจัดซื้อเครื่องเอฟโอดีว่า ทอท. ได้ทำสัญญาซื้อพร้อมติดตั้งระบบและอุปกรณ์ตรวจจับวัสดุแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ท่าอากาศยาน หรือ เอฟโอดี ทางวิ่ง 19R-01L (ฝั่งทิศตะวันออก) และ 19L-01R (ฝั่งทิศตะวันตก) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามสัญญา ที่ 6CP4-541083 เป็นจำนวนเงิน 688 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 330 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2554 ถึง 22 ก.พ.2555 ผู้รับจ้างคือ บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด
โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้ทำการตรวจรับงานเมื่อวันที่ 29 ก.พ.2555 มีกำหนดรับประกันผลงาน 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2555 ถึง 28 ก.พ.2557
สำหรับ เอฟโอดี ถูกระบุว่า เป็นวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมที่เกิดให้เกิดอันตรายหากถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์ของเครื่องบินขณะเครื่องบินทำการขับเคลื่อนหรือทำการบินขึ้น-ลง เป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินเสียหายไม่สามารถทำการบินต่อไปได้ หรือหากกระแสไอพ่นเป่าไปโดนอากาศยาน อุปกรณ์ภาคพื้น หรือพนักงานที่ปฏิบัติงานบริเวณใกล้เคียง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เป็นมูลค่าที่ประเมินมิได้
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ติดตั้งระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดี บนทางวิ่ง 19R-01L (ฝั่งทิศตะวันออก) และ 19L-01R (ฝั่งทิศตะวันตก) เพื่อตรวจสอบเอฟโอดี ร่วมกับการตรวจสอบตามรอบเวลาปกติของพนักงาน ทอท. โดยมีวงรอบปกติในขับรถนำเข้าทางวิ่งและตรวจสอบด้วยสายตา 6 รอบต่อวัน และในปัจจุบันยังคงมีการขับรถนำเข้าทางวิ่งและตรวจสอบตามวงรอบดังกล่าวอยู่เป็นประจำทุกวัน
สำหรับส่วนประกอบของเครื่องเอฟโอดี มีดังนี้
1. SDU คือ อุปกรณ์ Sensor ที่ติดตั้งตามตำแหน่งของไฟขอบทางวิ่ง เพื่อตัวจับเอฟดีโอ ความเร็วสูงราคาตัวละ 1,430,000 บาท ติดตั้งฝั่งทิศตะวันตก 19L-01R จำนวน 120 ตัว ติดตั้งฝั่งทิศตะวันออก 19R-01L จำนวน 132 ตัว และสำรองอะไหล่ จำนวน 22 ตัว
2. MMI คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ แสดงผลการตรวจจับ ของอุปกรณ์ SDU ราคาเครื่องละ 1,940,000 บาท ติดตั้งสถานีดับเพลิงฝั่งทิศตะวันออก จำนวน 2 เครื่อง ติดตั้งสถานีดับเพลิงฝั่งทิศตะวันตก จำนวน 1 เครื่อง และติดตั้งห้องเจ้าหน้าที่ จำนวน 1 เครื่อง
3. FOD Server คือ เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายสำหรับควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ในระบบ FODetect ทั้งหมด ติดตั้งสถานีดับเพลิงฝั่งทิศตะวันออกจำนวน 1 ชุด ราคาชุดละ 8,800,000 บาท
4. FODetect Network หรือ Switch คือ ระบบเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงอุปกรณ์ทุกตัวของ ระบบ FODetect เข้าด้วยกัน จำนวน 4 เครื่อง ราคาเครื่องละ 154,000 บาท
5. CCR คือ อุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า ไปยังอุปกรณ์ SDU บนรันเวย์ จำนวน 4 เครื่อง ราคาเครื่องละ 1,227,800 บาท
อย่างไรก็ดี ในรายงานฉบับ ที่มีการระบุข้อมูลสำคัญ ว่า จากการตรวจสอบสถานะระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดี ณ วันที่ 11 ก.ย.2555 พบว่า อุปกรณ์ SDU ทางวิ่งฝั่งทิศตะวันออก อุปกรณ์ทั้งหมด 132 ตัว มีเหตุขัดข้อง 52 ตัว ใช้งานได้ 80 ตัว ส่วนอุปกรณ์ SDU ฝั่งทิศตะวันตก อุปกรณ์ทั้งหมด 120 ตัว มีเหตุขัดข้อง 79 ตัว ใช้งานได้ 41 ตัว
แต่มิได้มีการระบุรายละเอียดว่าสาเหตุความขัดข้องดังกล่าว เกิดจากเครื่องมือ หรือเกิดการปฏิบัติงานของสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่มีกำหนดรับประกันผลงาน 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2555 ถึง 28 ก.พ.2557?
เบื้องต้น ทอท. จึงมีการทำสัญญาว่าจ้างบริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด เข้ามารับงานจ้างรื้อถอนพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ตรวจับเอฟโอดี ตามสัญญาที่ 6CP4-551032 เป็นจำนวนเงิน 13,482,000 บาท ระยะเวลาดำเนินงาน 150 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.2555 ถึง 29 ส.ค.2555
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา ภายหลังได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว ได้ติดต่อไปยัง นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง
แต่มีผู้ชายคนหนึ่งรับสายแจ้งว่า ให้ทิ้งคำถามไว้ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับไว้ เพื่อจะได้นำเรียนให้นายนิตินัยรับทราบต่อไป
ล่าสุดจนกระทั่งช่วงหัวค่ำวันที่ 27 ธ.ค.2561 สำนักข่าวอิศรา ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากนายนิตินัย ศิริสมรรถการ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
ขณะที่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ นับเป็นข้อมูลใหม่สำหรับกรณีการจัดซื้อระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดี ระหว่าง ทอท. และ บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด ที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการมาก่อน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/