สำนักงบประมาณ แจงรัฐบาลตั้งงบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
สำนักงบประมาณ แจงรัฐบาลตั้งงบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนงบก่อหนี้ผูกพันข้ามปี เป็นไปตามกรอบและสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10
ตามที่มีการวิจารณ์ประเด็นการบริหารประเทศแบบขาดวินัยทางการคลัง ซึ่งระบุในระยะเวลา 3 ปีหลังของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลกระทำการที่ขาดวินัยทางการคลัง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ ขาดดุลเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อขาดดุลประจำปีเพิ่มอีกไม่ได้แล้วก็ใช้วิธีอนุมัติงบประมาณที่มีผลผูกพันไปในอนาคต จนถึงปีงบประมาณปัจจุบันมีการผูกพันงบประมาณไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าถึง 1,178,275 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ช่วงปี 2557 - 2558 เศรษฐกิจไทยประสบกับภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยอยู่ในภาวะหดตัว การลงทุนภาคเอกชนมีอัตราการขยายตัวลดลงเนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการผลิตภาคเกษตรประสบปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตการเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ ทำให้กลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งภาคการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศประสบปัญหา ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงมีมาตรการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง อาทิ รถไฟรางคู่และรถไฟฟ้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้มีการต่อยอดการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวและขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุล โดยปี 2559 ขาดดุลจำนวน 390,000 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 552,921.7 ล้านบาท และปี 2561 จำนวน 550,358 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังโดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในช่วงร้อยละ 41.81 - 42.01 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 60 ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง
อีกทั้งการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ โดยการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณ มีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณ (ไม่รวมเงินนอกงบประมาณ และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด) ปี 2557 สัดส่วนร้อยละ 6.095 ปี 2558 สัดส่วนร้อยละ 6.947 ปี 2559 สัดส่วนร้อยละ 8.070 ปี 2560 สัดส่วนร้อยละ 8.007 ปี 2561 สัดส่วนร้อยละ 7.746 และปี 2562 สัดส่วนร้อยละ 8.854
ในส่วนงบผูกพันของกระทรวงกลาโหม จำนวนสูงถึง 177,294 ล้านบาท (ในขณะที่งบประจำปีเป็นเพียง 227,000 ล้านบาท) เป็นเรื่องที่ดูแล้วขาดวินัยการคลัง นอกจากการสร้างเรือดำน้ำซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี (ประมาณ 30,000 ล้านบาทเศษ) และยานยนต์บางประเภทแล้ว อาวุธต่างๆ ไม่ได้ใช้เวลานานในการสร้างไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นงบผูกพันแต่อย่างใด สามารถรอตั้งเป็นงบประจำปีได้
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยืนยันว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของกระทรวงกลาโหม จำนวนทั้งสิ้น 227,126.5663 ล้านบาท งบประมาณดังกล่าวตั้งไว้สำหรับดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานหลักในการเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ มีรายจ่ายผูกพันข้ามปีงบประมาณในปี 2562 จำนวน 43,860.6063 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้ตั้งงบประมาณโดยคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 และอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ
สำหรับการจัดหายุทโธปกรณ์บางประเภทที่ต้องตั้งงบประมาณเป็นรายการผูกพัน เนื่องจากเป็นการจัดหาจากต่างประเทศ ซึ่งมีระยะเวลาในการเจรจาและเงื่อนไขในการดำเนินการจัดหา ทำให้การส่งมอบยุทโธปกรณ์ดังกล่าวเกินปีงบประมาณ ไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณในลักษณะรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ