สมาคมนักข่าวฯ ชวนพรรคการเมือง รณรงค์เลิกประกาศคสช.-ลิดรอนเสรีภาพสื่อ-ปชช.
"...หวังว่าพรรคการเมืองทุกพรรคจะให้การสนับสนุน แสดงเจตนารมณ์ในการเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ/คำสั่งดังกล่าวทั้งหมด เพื่อให้สังคมไทย ได้ก้าวไปสู่บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคประกาศนโยบาย แสดงจุดยืน และร่วมรณรงค์ให้ยกเลิกประกาศคสช./คำสั่งหัวหน้าคสช.โดยพลัน..."
จดหมายเปิดผนึก
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เรียน หัวหน้าพรรค
เรื่อง ร่วมรณรงค์ยกเลิกประกาศคสช./คำสั่งหัวหน้าคสชที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน
ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่22/2561ยกเลิกประกาศคสช./คำสั่งหัวหน้าคสช.รวมทั้งสิ้น 9 ฉบับ ให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามปกติได้อีกครั้ง เพื่อปูทางมุ่งสู่การเลือกตั้ง ช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 โดยพรรคการเมืองทุกพรรคจำเป็นต้องมีความชัดเจนในนโยบาย ชัดเจนในการสนับสนุนตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ประการสำคัญจะต้องแสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายของความเป็นพรรคการเมืองในวิถีประชาธิปไตยเพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชน
ไม่เพียงประกาศคสช./คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ปิดกั้นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองเท่านั้น หากยังมีประกาศคสช./คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ปิดกั้น ลิดรอน เสรีภาพ ของสื่อมวลชนและประชาชน ในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่ได้ยกเลิกแต่อย่างใด ประกอบด้วย
1.ประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การขอความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ กรณีการห้ามเสนอข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคง ความลับของหน่วยราชการ ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง ผู้ใดฝ่าฝืนให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศรายการดังกล่าวโดยทันที
2.ประกาศคสช.ที่103 /2557 แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคสช.ฉบับที่ 97 /2557 โดยห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช.โดยเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งความจริงแล้วองค์กรวิชาชีพสามารถสอบสวนทางจริยธรรมของสมาชิกได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีประกาศฉบับนี้
3.คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่3/2558 (ข้อ5)ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด และได้กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำสั่งนี้เป็นการให้ดุลพินิจกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างกว้างขวาง หากไม่มีหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจว่าข้อความใดทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น อาจนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่งคำสั่งนี้และจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นกว่ากฎอัยการศึก
4.คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยมีเจตนาในการขยายอำนาจ ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ครอบคลุมไปถึงประกาศของคสช. ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่103/2557 รวมทั้งคุ้มครองการใช้อำนาจของ กสทช. ถือเป็นการขยายอำนาจในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน จนเกินขอบเขต โดยใช้ กสทช. เป็นเครื่องมือ
ประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช.ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จะทำให้สื่อมวลชนทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารด้วยความหวาดกลัว และส่งผลให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่สื่อมวลชนจะต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารปราศจากอุปสรรคขัดขวางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
เนื่องจากเสรีภาพของสื่อ ก็คือ เสรีภาพของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้..” และมาตรา 35 บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ..”
ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสื่อมวลชนโดยส่วนใหญ่ก็ได้ใช้ความระมัดระวังในการทำหน้าที่ภายใต้กรอบกติกาและจริยธรรมของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด หากสื่อมวลชนใดกระทำผิดก็สามาราถดำเนินการหรือใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่จัดการได้อยู่แล้วไม่จำเป็นต้องมีประกาศ/คำสั่งหัวหน้าคสช.ดังกล่าวแต่อย่างใด
พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นความหวังของประชาชน ในการขับเคลื่อนการเมืองในวิถีประชาธิปไตย และควรจะได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการทำลายอุปสรรค ขวากหนามทุกประการ ที่เป็นการขัดขวาง ลิดรอน คุกคาม เสรีภาพของสื่อและประชาชน
หวังว่าพรรคการเมืองทุกพรรคจะให้การสนับสนุน แสดงเจตนารมณ์ในการเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ/คำสั่งดังกล่าวทั้งหมด เพื่อให้สังคมไทย ได้ก้าวไปสู่บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคประกาศนโยบาย แสดงจุดยืน และร่วมรณรงค์ให้ยกเลิกประกาศคสช./คำสั่งหัวหน้าคสช.โดยพลัน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
23 ธันวาคม 2561
ที่มา : http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4862:2018-12-23-04-03-54&catid=5:professional-media-organizations-and-movements&Itemid=8