ปชป. จี้ 'บิ๊กตู่'ปลดล็อกคำสั่ง คสช.กระทบสิทธิปชช.-สื่อ เปิดทางเลือกตั้ง
‘องอาจ คล้ามไพบูลย์’ จี้ประยุทธ์ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. กระทบสิทธิเสรีภาพปชช.-สื่อมวลชน ชี้ขัดแย้งกับรธน. มาตรา 35 เปิดทางบรรยากาศเลือกตั้ง ปี 62
วันที่ 23 ธ.ค. 2561 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา เรื่อง ปลดล็อกสื่อมวลชน คืนเสรีภาพประชาชน เดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เวลาบ้านเมืองกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง เข้าสู่บรรยากาศการเป็นประชาธิปไตย อะไรควรเป็นเนื้อหาสาระของการทำให้เกิดบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย เพราะเมื่อเป็นการเลือกตั้ง ไม่ว่าความเป็นประชาธิปไตยถูกตีความมากหรือน้อย คิดว่าจะต้องเป็นการเลือกตั้งบนพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะดำเนินการในฐานะเป็นพลเมืองไทยร่วมแสดงออกต่าง ๆ ทางการเมืองได้อย่างเสรี แน่นอนที่สุด เมื่อกลับมาพิจารณาบรรยากาศการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นของประชาธิปไตยที่กำลังจะดีขึ้นในบ้านเมือง เราพบความจริงว่า มีประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกประกาศคำสั่งหลายเรื่องที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ในระหว่างปี พ.ศ.2557-2559
โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนชัดเจน ที่ปรึกษาหัวหน้า ปชป.ระบุคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 4 (4) เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ “เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิดตามข้อ 3 (เกี่ยวกับความมั่นคง) หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สิน ซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดตามข้อ 3 หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอา หมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้ เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม”
นายองอาจ กล่าวต่อว่า ถ้าเราปล่อยให้การเลือกตั้งในบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย แล้วให้เจ้าหน้าที่รัฐ จะเป็นใครก็ตามใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ถามว่า ระหว่างที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งเหล่านี้ เดิมเชื่อว่าจะเป็นกรรมการจัดการปัญหาของบ้านเมือง แต่ปรากฎว่า หัวหน้า คสช. กำลังจะมีชื่อในบัญชีรายชื่อของนายกรัฐมนตรี ของพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้หัวหน้าคสช.คนปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้ง คิดว่าเป็นเรื่องความทับซ้อนของอำนาจที่น่าเกลียดมาก
“ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจที่มีอยู่ไปกลั่นแกล้งให้พรรคการเมืองอื่น อำนาจในลักษณะนี้ในหลายประเทศที่ไม่ไกลจากบ้านเราใช้อำนาจในลักษณะนี้เข้าไปดำเนินการก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้สนับสนุนผู้มีอำนาจในขณะนั้น เพราฉะนั้นสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในบ้านเมืองเราได้”
ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ปรึกษาหัวหน้า ปชป. กล่าวยกตัวอย่าง เช่น คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 37/2557, 103/2557 แก้ไขประกาศเดิม รวมถึง 3/2558 โดยเฉพาะข้อ 5 เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนโดยตรง ระบุว่า “ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้ แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบ เรียบร้อยของประชาชน ในการออกคําสั่งดังกล่าวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะกําหนดเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามคําสั่งด้วยก็ได้ เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะกําหนด หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยก็ได้”
นายองอาจ กล่าวตั้งคำถามว่าใครเป็นคนตีความว่าสิ่งที่สื่อมวลชนนำเสนอไป ประชาชนหวาดกลัวหรือไม่ นอกจากคนถือคำสั่งนี้เอง แน่นอนที่สุดย่อมตีความเข้าข้างผู้มีอำนาจ ซึ่งกำลังจะมีชื่ออยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคที่กำลังจะสนับสนุน ถามว่าความเชื่อถือในเรื่องการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นหรือไม่ หากปล่อยในสิ่งเหล่านี้มีอยู่และเกิดขึ้นอยู่ ทั้งนี้ ท่านอาจจะบอกว่า ไม่ใช้อำนาจเหล่านี้ เพราะเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตย แต่ใครจะเชื่อถือได้ ในเมื่อยังมีคำสั่งเหล่านี้ การใช้เมื่อไหร่ก็ได้จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา
“ แสดงให้เห็นว่าการมีคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านี้อยู่ ล้วนแล้วแต่เป็นคำสั่งกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชน เพราะฉะนั้นเมื่อเรากำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่เรามีคำสั่งที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน จึงไม่ควรมีคำสั่งเหล่านี้อีกต่อไป ถ้าเรากำลังเข้าสู่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย”
ที่ปรึกษาหัวหน้า ปชป. กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 35 ระบุไว้ชัดเจน “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทํามิได้ การให้นําข่าวสารหรือข้อความใดๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทําขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ก่อนนําไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ จะกระทํามิได้ เว้นแต่จะกระทําในระหว่างเวลาที่ประเทศ อยู่ในภาวะสงคราม...”
ถามว่าการเลือกตั้งเรากำลังอยู่ในประชาธิปไตยหรือในภาวะสงคราม ดังนั้นเราจึงยอมไม่ได้ที่จะให้มีคำสั่งหัวหน้าคสช. มาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
“อยากเตือนสติผู้มีอำนาจ ผู้คนในรัฐบาล คสช. ว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวประเทศเดียวในโลก แต่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สิทธิที่จะมีชีวิตเสรีภาพความปลอดภัย และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ถามว่าถ้าตราบใดยังมีคำสั่งแบบนี้อยู่ การที่เราเป็นรัฐภาคีจะมีความหมายอะไร คงมีความหมายเพียงเซ็นชื่อเฉย ๆ แต่ในทางปฏิบัติ แทบจะไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย เพราะฉะนั้น การที่จะเราปลดล็อกคำสั่ง หัวหน้า คสช. เป็นเรื่องที่ควรดำเนินการอย่างยิ่ง เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชนและประชาชนเท่านั้น แต่จะกระทบต่อประเทศโดยรวมด้วย” นายองอาจ กล่าวในที่สุด.