ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อบ.ลูกโฟล์คสวาเกน ยอมรับมีเอี่ยวโกงทดสอบค่าปล่อยมลพิษสหรัฐฯ ด้วย
"...ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มี.ค. 2560 บริษัทโฟล์คสวาเกน รับสารภาพว่าได้หลอกหน่วยงานตรวจสอบของสหรัฐอเมริกา รวมไปถึง EPA และหน่วยงานด้านการบริหารทรัพยากรทางอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนียร์ ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์บางอย่างลงไปในระบบควบคุมการปล่อยไอเสียรถยนต์ดีเซลของบริษัท เพื่อที่จะโกงการทดสอบตามมาตรฐานการตรวจสอบมลพิษของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในเวลาต่อมาทางบริษัทได้มีข้อตกลงกับทางกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐว่าบริษัทจะยินยอมจ่ายเงินเป็นจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าชดเชย และยินยอมที่จะให้มีการจับตามองบริษัทอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลา 3 ปี..."
ส่องคดีทุจริตโลกสัปดาห์นี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จะพาไปติดตามประเด็นทุจริตอันเกี่ยวเนื่องกับบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน ที่ถูกตรวจสอบพบว่าโกงทดสอบค่าปลอยมลพิษ ในสหรัฐฯ
โดยเมื่อไม่นานมานี้ สื่อต่างประเทศได้นำเสนอประเด็นทุจริตเกี่ยวกับ บริษัท IAV Automotive Engineering ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน ที่มีบริษัทผู้ถือหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ คือ บริษัทโฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันเช่นกัน ได้ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ลงโทษภาคทัณฑ์เป็นระเวลา 2 ปี และจะถูกเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทโฟลค์สวาเกนได้ยินยอมจ่ายเงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (815,000,000,000 บาท) เพื่อชดเชย กรณีที่บริษัทนั้นละเมิดระเบียบว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา จนทำให้เสียความเชื่อมั่นต่อผู้ซื้อรถโฟล์คสวาเกน และบริษัทยังได้เสนอซื้อคืนรถยนต์จำนวนมากกว่า 5 แสนคัน ที่ขายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งปรากฏว่าเป็นรถที่ปล่อยมลพิษและไม่ได้มาตรฐานของสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ นางซูซาน โบดีน ผู้ช่วยผู้บริหารขององค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกาหรือ EPA (Environmental Protection Agency) ได้ออกมาเปิดเผยถึงพฤติการณ์ของบริษัท IAV ที่ได้ออกแบบระบบซอฟแวร์เพื่อเอื้อให้บริษัทโฟล์คสวาเกนสามารถโกงค่ามาตรฐานตรวจวัดมลพิษของสหรัฐอเมริกาได้
ซึ่งจากพฤติกรรมของบริษัท IAV นี้ ส่งผลทำให้ทางกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจปรับเงินบริษัท IAV อีกเป็นจำนวน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,140,580,000 บาท) ฐานที่บริษัท IAV เป็นผู้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมของบริษัทโฟล์สวาเกนด้วย จากเดิมที่กระทรวงยุติธรรมจะปรับเงินบริษัท IAV เป็นจำนวนที่สูงกว่านี้ แต่การปรับเงินในจำนวนที่มากกว่านี้อาจจะกระทบต่อความอยู่รอดของบริษัทได้
ขณะที่นายไคสเตฟาน ลินเนนคอยล์ ประธานบอร์ดบริหารของบริษัท IAV ก็ยอมรับข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมระบุว่า ทางบริษัทจะต้องแก้ไขปัญหาตามข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้ และจะต้องแสดงออกให้เห็นว่าบริษัทนั้นยึดถือในหลักการยอมรับผิด
ส่วนนายทิโมธี สเลเตอร์ เจ้าหน้าที่หน่วยงานสอบสวนกลางสหรัฐประจำภูมิภาคดีทรอยต์ หรือ FBI ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบบริษัท ได้ออกมาให้ความเห็นว่า สหรัฐอเมริกานั้นจริงจังกับการทำหน้าที่ของบริษัทในประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งคดีนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าเอฟบีไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำบริษัทที่หลอกลวงผู้บริโภคและละเมิดกฎหมายเข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาคดี
ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปเมื่อเดือน มี.ค. 2560 บริษัทโฟล์คสวาเกน รับสารภาพว่าได้หลอกหน่วยงานตรวจสอบของสหรัฐอเมริกา รวมไปถึง EPA และหน่วยงานด้านการบริหารทรัพยากรทางอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนียร์ ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์บางอย่างลงไปในระบบควบคุมการปล่อยไอเสียรถยนต์ดีเซลของบริษัท เพื่อที่จะโกงการทดสอบตามมาตรฐานการตรวจสอบมลพิษของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในเวลาต่อมาทางบริษัทได้มีข้อตกลงกับทางกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐว่าบริษัทจะยินยอมจ่ายเงินเป็นจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าชดเชย และยินยอมที่จะให้มีการจับตามองบริษัทอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลา 3 ปี
หลังจากที่ก่อนหน้านั้น ในปี 2549 วิศวกรจากบริษัทโฟล์คสวาเกนได้เริ่มออกแบบเครื่องยนต์ดีเซลรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานว่าด้วยการตรวจสอบมลพิษของสหรัฐอเมริกาที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวนั้นมีผลบังคับใช้จริงในปี 2550 โดยบริษัทโฟล์คสวาเกนได้ประชาสัมพันธ์ให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ว่ารถยนต์ที่ทางบริษัทขายนั้นเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์น้ำมันดีเซลสะอาด แต่วิศวกรของบริษัทไม่สามารถออกแบบเครื่องยนต์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาได้ จึงมีการผลิตและติดตั้งอุปกรณ์ที่จะช่วยให้โกงการทดสอบค่ามาตรฐานของสหรัฐอเมริกาแทน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่าในเดือน พ.ย. ปี 2549 บริษัทโฟล์คสวาเกนยังได้ใช้ให้บริษัท IAV เป็นผู้ออกแบบระบบเพื่อที่จะโกงการตรวจมาตรฐานมลพิษของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน
ขณะที่ในช่วงปี 2551 มีการประกาศภายในบริษัท IAV ให้พนักงานทำงานเพื่อสนับสนุนการขายรถยนต์ของบริษัทโฟล์คสวาเกน ซึ่งการติดตั้งอุปกรณ์การโกงการทดสอบถือเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน
จนกระทั่งปี 2552 ทางบริษัทรถโฟล์คสวาเกนจึงผลิตรถรุ่นใหม่ออกมา โดยประชาสัมพันธ์ว่ารถยนต์รุ่นนี้ใช้เครื่องยนต์น้ำมันดีเซลสะอาดตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา และขายไปทั่วสหรัฐ โดยใช้ชื่อ รุ่นว่าเจน 1 มากกว่า 335,000 คัน และถูกสอบสวนพบปัญหาดังกล่าว ด้วยความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานด้านอัยการของเยอรมัน ส่งผลทำให้ในเดือน พ.ค. 2560 บริษัทโฟล์คสวาเกนต้องออกมาประกาศยอมรับผิด และต้องจ่ายเงินค่าปรับเป็นจำนวน 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อดีตผู้บริหารบริษัทโฟล์คสวาเกนจำนวน 2 คนต้องถูกโทษจำคุก
และล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค. 2561 ทางบริษัท IAV ก็ออกมายอมรับว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดครั้งนี้เช่นกัน
(เรียบเรียงจากเว็บไซต์ : https://www.nytimes.com/2018/11/21/business/mitsubishi-ufj-north-korea.html,https://www.justice.gov/opa/pr/iav-gmbh-pay-35-million-criminal-fine-guilty-plea-its-role-volkswagen-ag-emissions-fraud)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดกรณีสินบนจัดซื้อ 'กริพเพน' แสนล.กระทบปมทุจริตอดีตผู้นำบราซิล
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯสอบสวน ปมเอี่ยวฟอกเงินเกาหลีเหนือ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ปธ.ANOC ลงจากตำแหน่ง หลังถูกสอบปลอมแปลงกระบวนการอนุญาโตฯ จัดโอลิมปิก