ล้วงผลสอบ มรภ.เชียงใหม่ ทัวร์ยุโรปถูกต้อง? ทุจริตหรือไม่ อำนาจตัดสินอยู่ที่ศาล มิใช่สตง.
"... ในที่ประชุมยังได้มีการระบุว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้รายงานผลการตรวจสอบมาแล้ว ไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมารื้อฟื้นหาประเด็นและช่องทางในการทักท้วงต่างๆ ควรช่วยกันพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้เรื่องนี้มีข้อยุติเพื่อรักษาชื่อเสี่ยงของมหาวิทยาลัย เนื่องจากขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังถูกกล่าวหาและกล่าวโทษจาก สตง. ว่า การไปศึกษาดูงานฯ ดังกล่าวนั้น ใช้เงินผิดประเภท ทำให้เสียชื่อเสียง และจากการพิจารณารายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฉบับนี้แล้วเห็นว่า เป็นคุณแก่มหาวิทยาลัยที่สุดแล้ว ควรเสนอให้ผู้มีอำนาจสูงสุดพิจารณาต่อไปโดยเร่งด่วน เพื่อทำให้เกิดความกระจ่างและกอบกู้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยกลับมาโดยเร็วที่สุด..."
เมื่อแจ้งว่า ติดต่อมาจากสำนักข่าวอิศรา สายโทรศัพท์ก็ถูกตัดไปทันที
คือ สิ่งที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับแจ้งล่าสุดจาก ผู้สื่อข่าวที่ถูกมอบหมายให้ติดต่อไปยังสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ (มรภ.เชียงใหม่) เพื่อขอให้ผู้บริหารชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้บริหาร ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้มูลความผิดในโครงการจัดไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ของ กรรมการสภามหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จำนวน 40 คน ในช่วงวันที่ 17-29 มี.ค. 2557 กำหนดเดินทางไปดูงานที่ จีน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส 4 ประเทศ รวมระยะเวลา 13 วัน ใช้เงินจำนวนทั้งสิ้น 6,040,487.13 บาท หลัง สตง.ตรวจสอบพบว่า การศึกษาดูงานในส่วนของจีน จำนวน 4 วัน มีการศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศเสฉวนครึ่งวัน ส่วนการศึกษาดูงานอีก 3 ประเทศ ที่เหลือรวม 9 วัน เป็นการเยี่ยมชมและท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญภายใต้หัวข้อ "ยุโรปเมืองโรแมนติกในฝัน" เท่านั้น ไม่ได้มีการศึกษาดูงานการบริหารและการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศดังกล่าว ตามที่ระบุไว้ในโครงการศึกษาดูงานที่มีการของบประมาณแผ่นดินไว้แต่อย่างใด
ขณะที่ ในช่วงเดือน พ.ค.2561 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เพื่อให้ดำเนินการตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน( คตง.)โดยเร็ว หลังปรากฎข้อเท็จจริง ว่า ทางสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้มีคำสั่ง ที่ 76/2560 ลงวันที่ 20 กันยายน 2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีเกี่ยวกับโครงกรศึกษาดูงานต่างประเทศของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ดังกล่าว พบว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว
โดยหนังสือ สกอ. ระบุชัดเจนว่า "เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาและมีมติให้ดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยรับตรวจย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสั่งการและต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ตามความในข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาเพื่อการลงโทษทางวินัยข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 และข้อ 5 ประกอบข้อ 41 แห่งข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560
ส่วนนายกสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการทางวินัยแก่อธิการบดี ตามความในข้อ 41 วรรคสาม แห่งข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้ความว่า ในกรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยสายบริหารวิชาการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้สภามหาวิทยาลัยดำเนินการทางวินัยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้โดยอนุโลม ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการทางวินัยแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งการ
อนึ่ง การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง" (อ่านประกอบ : ผ่าปมร้อนมรภ.เชียงใหม่! ไฉนยื้อลงดาบผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรป-แต่ไล่ล่าคนปล่อย นส.ลับ'สกอ.')
ทั้งนี้ ไม่ว่าความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ผู้บริหารฯ ที่ถูก สตง. ชี้มูลความผิดปัญหาโครงการจัดไปศึกษาดูงานต่างประเทศดังกล่าว หลังจากที่ สกอ.ทำหนังสือแจ้งทักท้วงมา ผลจะออกมาเป็นอย่างไร?
แต่ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในช่วงต้นเดือนก.พ.2561 ที่ผ่านมา เคยมีการนำรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงโครงการจัดไปศึกษาดูงานต่างประเทศดังกล่าว ที่แต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัยฯ ตามคำสั่ง ที่ 76/2560 ลงวันที่ 20 ก.ย.2560 ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร. สมเจตน์ ภูศรี เป็นประธาน โดยผลการตรวจสอบได้ข้อสรุปว่า เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เข้ารายงานในที่ประชุมด้วย
อย่างไรก็ดี ในการประชุมสภาฯ ดังกล่าว มีการระบุว่า ไม่ควรที่จะให้กรรมการสภาฯ ซักถามรายละเอียดในรายงานผลการสอบสวนอีก โดยอ้างว่า เพื่อให้เกียรติแก่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สภามหาวิทยาลัย ควรพิจารณาแค่ว่าเห็นด้วยกับรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ และควรให้นายกสภาฯ เป็นผู้แทนสภาฯ ในการซักถาม ไม่ควรให้กรรมการสภาฯ ซักถามโดยตรง เนื่องจากอาจจะทำให้ใช้เวลาและควบคุมบรรยากาศการประชุมได้ยาก
ส่งผลทำให้กรรมการสภาฯ บางส่วน แสดงความไม่เห็นด้วย และคัดค้านแนวทางนี้ พร้อมทั้งเสนอขอให้ นายถนัด บุญชัย รองอธิการบดี ในฐานะกรรมการสภาฯ ฝ่ายบริหาร ออกไปนอกห้องประชุมด้วย เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้บริหาร ที่ถูกสตง.ชี้มูลความผิด อาจเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่สุดท้ายที่ประชุมก็มีความเห็นว่า นายถนัด สามารถนั่งอยู่ในห้องประชุมได้
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการระบุว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้รายงานผลการตรวจสอบมาแล้ว ไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมารื้อฟื้นหาประเด็นและช่องทางในการทักท้วงต่างๆ ควรช่วยกันพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้เรื่องนี้มีข้อยุติเพื่อรักษาชื่อเสี่ยงของมหาวิทยาลัย เนื่องจากขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังถูกกล่าวหาและกล่าวโทษจาก สตง. ว่า การไปศึกษาดูงานฯ ดังกล่าวนั้น ใช้เงินผิดประเภท ทำให้เสียชื่อเสียง และจากการพิจารณารายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฉบับนี้แล้วเห็นว่า เป็นคุณแก่มหาวิทยาลัยที่สุดแล้ว ควรเสนอให้ผู้มีอำนาจสูงสุดพิจารณาต่อไปโดยเร่งด่วน เพื่อทำให้เกิดความกระจ่างและกอบกู้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยกลับมาโดยเร็วที่สุด
เบื้องต้น มีกรรมการสภาฯ บางราย ได้แสดงความเห็นคัดค้านว่า ทุกคนรักมหาวิทยาลัย และอยากให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยึดความถูกต้องเป็นหลัก สภาฯแห่งนี้ จะยอมนำเกียรติประวัติและชื่อเสี่ยงที่สั่งสมมาเพียงเพื่อปกป้องบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือ อยากให้สภาฯ พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎเนื่องจากเป็นการใช้เงินงบประมาณของแผ่นดิน มิใช่งบประมาณของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ก่อนที่กรรมการสภาฯ บางราย จะกล่าวเสริมว่า ทุกคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน และการดำเนินการของสภาฯ นั้น จะเชื่อมโยงและแสดงให้เห็นว่าสภาฯ แห่งนี้ มีความโปร่งใส และมีหลักธรรมาภิบากมากน้อยเพียงใด อีกทั้งการพิจารณาในประเด็นนี้ หากจะพิจารณาไปแล้วกรรมการสภาฯ เกือบทั้งหมดเป็นผู้มีส่วนได้เสียส่วนเสียในประเด็นดังกล่าวด้วย
จากนั้น กรรมการกลุ่มนี้ ก็ได้ซักถามคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในหลายประเด็น โดยเฉพาะการไม่สอบสวนข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนตามประเด็นของ สตง. ทั้งเรื่องวิธีการดำเนินการว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ การดำเนินโครงการถูกต้องและเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ การเบิกจ่ายงบประมาณดำเนินการถูกต้องหรือไม่ มีการทุจริตหรือไม่ และมองว่า มีการใช้ดุลยพินิจเสนอความเห็นเกินเลยจากการสอบข้อเท็จจริง เนื่้องจากมีหลายประเด็นที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไม่ได้สอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
ขณะที่กรรมการสอบข้อเท็จจริงรายหนึ่ง ได้ชี้แจงว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงดำเนินการพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพิจารณาข้อกฎหมาย และคณะกรรมการฯ ได้รับทราบข้อเท็จจริงต่างๆ ทุกประเด็นโดยละเอียดแล้ว
ส่วนข้อซักถามที่ว่า เพราะเหตุใดคณะกรรมการไม่สอบสวนให้ครบถ้วนตามประเด็น สตง. นั้น เนื่องจากคณะกรรมการฯ เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการแก้คดีอาญาในศาล ไม่ใช่เรื่องของการหาข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ที่คณะกรรมการฯ ได้รับมอบหมาย ดังนั้น คณะกรรมการฯ ได้เชื่อในข้อเท็จจริงที่ปรากฎ จาก สตง. และพิจารณาข้อเท็จจริงจากการให้ปากคำเรียบร้อยแล้ว จึงได้สรุปออกมาเป็นรายงานผลฉบับนี้ ซึ่งเป็นการยุติการดำเนินการของคณะกรรมการฯ โดยไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม เนื่องจากมีการไปในสถานที่ต่างๆ จริง
"กรณีที่ สตง.เชื่อว่า เป็นการไปท่องเที่ยวมิได้เกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยนั้น คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อมูลต่างๆ ว่าเกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยหรือไม่ ผลการสืบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากบุคคลที่ สตง. มิได้เรียกไปสอบ สรุปได้ว่ามหาวิทยาลัยนั้นได้ประโยชน์จากการไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ และได้ระบุไว้ในรายงานการสอบสวนฉบับนี้เรียบร้อยแล้ว"
"กรณีทุจริตหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของศาลในการตัดสิน มิใช่ความเห็นของ สตง. หรือความเห็นของคณะกรรมการฯ แต่อย่างใด ขณะนี้เป็นรายงานข้อเท็จจริงและความเห็นที่คณะกรรมการนำเสนอนั้นได้นำข้อกฎหมายมาใช้อ้างอิงประกอบการพิจารณา เช่น การศึกษาดูงาน การเบิกจ่ายงบประมาณ จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ แต่ สตง. เชื่อว่า จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 กรณีของการจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 มาใช้นั้นไม่สามารถกระทำได้เพราะไม่สอดคล้องกับหรือสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการแต่อย่างใด"
ดังนั้น การพิจารณาทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิทธิ์และเป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น มิใช่การพิจารณาตัดสินว่าถูกหรือผิด และคณะกรรมการฯ ขอยืนยันรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฉบับนี้
เบื้องต้น กรรมการสภาฯ บางราย ได้แสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมเสนอว่า เนื่องจากคณะกรรมการฯ ทำการสอบข้อเท็จจริงไม่ครบทุกประเด็นตามที่ สตง.ระบุไว้ จึงเกรงว่ารายงานผลการสรุปข้อเท็จจริงฉบับนี้ มีมูลหรือไม่ จึงเห็นว่าควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เพื่อดำเนินการสอบข้อเท็จจริงในประเด็นที่ยังไม่ได้สอบ
หลังจากนั้น ก็มีการถกเถียงกันในที่ประชุมอีกหลายประเด็น ก่อนที่สภาฯ จะมีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยส่งรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในโครงการนี้ ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พร้อมคำชี้แจงไปยังสตง. และ สกอ.ต่อไป
ขณะที่กรรมการสภาฯ บางส่วนที่ไม่เห็นด้วย ได้ขอสงวนสิทธิ์ไม่เห็นชอบด้วย ที่จะส่งรายงานผลการสอบข้อเท็จจริง ไปยัง สตง. และ สกอ. ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงดำเนินการสอบไม่ครบถ้วนตามประเด็นที่ สตง.ได้ระบุไว้
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า การประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อพิจารณารายงานผลการตรวจสอบปัญหาโครงการจัดไปศึกษาดูงานต่างประเทศครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อน ที่ สกอ.จะทำหนังสือแจ้งมายังมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เพื่อให้ดำเนินการตามข้อคิดเห็นของ คตง.โดยเร็ว ในช่วงเดือน พ.ค.2561 ที่ผ่านมา หลังปรากฎข้อเท็จจริง ว่า ทางสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้มีคำสั่ง ที่ 76/2560 ลงวันที่ 20 กันยายน 2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีเกี่ยวกับโครงกรศึกษาดูงานต่างประเทศของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ดังกล่าว พบว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ซึ่งสวนทางกับผลการชี้มูลความผิดของ สตง. อย่างชัดเจน
จากนั้นเรื่องราวก็เงียบหายไป จนกระทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือแจ้งถึงสำนักข่าวอิศรา เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง ระบุว่า มหาวิทยาลัยฯ อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เผยแพร่หนังสือลับ สกอ. ที่ส่งถึง นายกสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อแจ้งให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคตง. ที่ชี้มูลความผิดกรณีนี้โดยเร็ว
แต่เมื่อสำนักข่าวอิศรา ติดต่อกลับไปสอบถามความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ หลังจากที่ สกอ. ทำหนังสือแจ้งให้ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ดำเนินการตามข้อคิดเห็นของ คตง.โดยเร็ว ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.2561 ที่ผ่านมา
กลับไม่ได้รับการยืนยันข้อมูลที่ชัดเจนว่า ปัจจุบันผลการสอบสวนส่วนนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง?
และเมื่อได้พยายามติดต่อผู้บริหารของ มรภ.เชียงใหม่ ให้ชี้แจงความคืบหน้า กลับถูกตัดสายโทรศัพท์ทิ้งดังกล่าวไปในช่วงต้น
จึงทำให้ ณ ปัจจุบัน ยังไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงข้อมูลส่วนนี้ จากฝ่ายบริหาร มรภ.เชียงใหม่แต่อย่างใด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
4ปีชงเรื่องเข้าสภาฯครั้งเดียว! รษก.นายกสภาฯมรภ.เชียงใหม่ ให้ถามอธิการฯปมชี้มูลจัดทัวร์ยุโรป
ฉบับเต็ม! หนังสือ สกอ. โนติส มรภ.เชียงใหม่ ลงดาบ 5 ผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรปถลุงงบ 6 ล.
สกอ. จี้ มรภ.เชียงใหม่ ลงดาบผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรป6ล. หลังสรุปผลสอบไม่พบผิดสวนทาง สตง.
คตง. เชือด 'อธิการฯ-รอง' มรภ.เชียงใหม่ พาผู้บริหารทัวร์ตปท.ปี57 ไม่ชอบด้วยกม.
สกอ.ไฟเขียวตั้งกก.สอบมรภ.เชียงใหม่ ถลุงงบทัวร์ยุโรป6ล.-สตง.ปัดถูกวิ่งเต้นดองเรื่อง
โชว์กำหนดการทัวร์ตปท. มรภ.เชียงใหม่ ถลุงงบ 6ล. ชนวนเหตุคตง.เชือด'อธิการฯ-รอง'
โชว์ภาพชุดตะลอนยุโรป มรภ.เชียงใหม่! ปูด รรก.อธิการฯ ผู้ติดต่อหาบ.ทัวร์
เปิดตัวหจก.ฯนำมรภ.เชียงใหม่ตะลอนยุโรป ยันทำธุรกิจปกติ-เคยพาทัวร์อียิปต์ปี53
เปิดผลสอบมรภ.เชียงใหม่ ทัวร์ถลุงงบ6ล.(1)อธิการฯ รับไม่มีดูงาน ม.ยุโรป
เลี่ยงจัดจ้าง-ใช้วิธียืมเงินม.โอนเข้าบัญชีบ.ทัวร์!เปิดผลสอบมรภ.เชียงใหม่(2)
อธิการฯรู้ใช้วิธียืมเงิน-เซ็นอนุมัติให้!เปิดผลสอบมรภ.เชียงใหม่ทัวร์ยุโรป(3)