- Home
- Isranews
- ผ่าปมร้อนมรภ.เชียงใหม่! ไฉนยื้อลงดาบผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรป-แต่ไล่ล่าคนปล่อย นส.ลับ'สกอ.'
ผ่าปมร้อนมรภ.เชียงใหม่! ไฉนยื้อลงดาบผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรป-แต่ไล่ล่าคนปล่อย นส.ลับ'สกอ.'
"...ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัย ยังไม่มีอธิการบดีเป็นทางการ เพราะในส่วนของ รศ.ดร.ประพันธ์ ธรรมไชย อธิการบดีคนเก่า แม้จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอธิบดีคนใหม่อีก 1สมัย แต่ก็ยังไม่ได้ถูกเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้า โดยการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมานั้นจึงให้รองอธิการบดีขึ้นรักษาการแทน ซึ่งที่ผ่านมามีการสลับเปลี่ยนตัวผู้รักษาการมาแล้ว 3 ราย..."
กำลังกลับมาเป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะอีกครั้ง!
สำหรับปัญหาโครงการจัดไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ของ กรรมการสภามหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จำนวน 40 คน ในช่วงวันที่ 17-29 มี.ค. 2557 กำหนดเดินทางไปดูงานที่ จีน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส 4 ประเทศ รวมระยะเวลา 13 วัน ใช้เงินจำนวนทั้งสิ้น 6,040,487.13 บาท ซึ่งเคยถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) ตรวจสอบพบว่า การศึกษาดูงานในส่วนของจีน จำนวน 4 วัน มีการศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศเสฉวนครึ่งวัน ส่วนการศึกษาดูงานอีก 3 ประเทศ ที่เหลือรวม 9 วัน เป็นการเยี่ยมชมและท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญภายใต้หัวข้อ "ยุโรปเมืองโรแมนติกในฝัน" เท่านั้น ไม่ได้มีการศึกษาดูงานการบริหารและการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศดังกล่าว ตามที่ระบุไว้ในโครงการศึกษาดูงานที่มีการของบประมาณแผ่นดินไว้แต่อย่างใด
ขณะที่ ในช่วงเดือน ก.พ.2560 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ก็มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบของ สตง. โดยเห็นว่า การเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ของ กรรมการสภามหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ในส่วนของประเทศจีน เป็นการศึกษาดูงานที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ แต่ในส่วนการเดินทางไปศึกษาดูงานที่เยอรมนี สวิตเชอร์แลนด์ และฝรั่งเศส จำนวน 9 วัน เนื่องจากไม่ได้มีการศึกษาดูงานการบริหารและการจัดการศึกษาตามที่ระบุไว้โครงการศึกษาดูงานที่มีการของบประมาณแผ่นดินไว้ เป็นเพียงการเยี่ยมชม และท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญเท่านั้น อธิการบดี ซึ่งเป็นผู้อนุมัติโครงการและรองอธิการบดีซึ่งเป็นผู้ขออนุมัติโครงการและร่วมเดินทางไปด้วย ทั้งสองคน จึงมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงและต้องรับผิดทางละเมิดคืนเงินแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ด้วย (อ่านประกอบ : คตง. เชือด 'อธิการฯ-รอง' มรภ.เชียงใหม่ พาผู้บริหารทัวร์ตปท.ปี57 ไม่ชอบด้วยกม.)
ก่อนที่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะทำหนังสือแจ้งไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เพื่อให้ดำเนินการตามข้อคิดเห็นของ คตง.โดยเร็ว ในช่วงเดือน พ.ค.2561 ที่ผ่านมา หลังปรากฎข้อเท็จจริง ว่า ทางสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้มีคำสั่ง ที่ 76/2560 ลงวันที่ 20 กันยายน 2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีเกี่ยวกับโครงกรศึกษาดูงานต่างประเทศของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ดังกล่าว พบว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว
โดยเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 ประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงต่อนายกสภามหาวิทยาลัย โดยสรุปว่า การเบิกค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ กล่าวคือ ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าพาหนะของคณะผู้ร่วมเดินทาง มีความครบถ้วนสมบูรณ์และไม่เกินสิทธิที่พึงได้รับ ตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ดังนั้น การดำเนินการเบิกจ่ายเงินไปราชการโดยไม่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ซึ่งสวนทางกับผลการชี้มูลความผิดของ สตง. อย่างชัดเจน (อ่านประกอบ : สกอ. จี้ มรภ.เชียงใหม่ ลงดาบผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรป6ล. หลังสรุปผลสอบไม่พบผิดสวนทาง สตง.,คตง. เชือด 'อธิการฯ-รอง' มรภ.เชียงใหม่ พาผู้บริหารทัวร์ตปท.ปี57 ไม่ชอบด้วยกม., ฉบับเต็ม! หนังสือ สกอ. โนติส มรภ.เชียงใหม่ ลงดาบ 5 ผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรปถลุงงบ 6 ล.)
จากนั้นเรื่องราวก็เงียบหายไป จนกระทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือแจ้งถึงสำนักข่าวอิศรา เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง ระบุว่า มหาวิทยาลัยฯ อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เผยแพร่หนังสือลับ สกอ. ที่ส่งถึง นายกสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อแจ้งให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคตง. ที่ชี้มูลความผิดกรณีนี้โดยเร็ว
แต่เมื่อสำนักข่าวอิศรา ติดต่อกลับไปสอบถามความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ หลังจากที่ สกอ. ทำหนังสือแจ้งให้ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ดำเนินการตามข้อคิดเห็นของ คตง.โดยเร็ว ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.2561 ที่ผ่านมา
กลับไม่ได้รับการยืนยันข้อมูลที่ชัดเจนว่า ปัจจุบันผลการสอบสวนส่วนนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง?
โดยนายมนต์นิรันดร์ ประสิทธิพล ที่ปรากฎชื่อเป็น 1 ใน คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เผยแพร่หนังสือ สกอ. ดังกล่าว กล่าวยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า คณะกรรมการชุดของตน รับผิดชอบเพียงแค่ตรวจสอบกรณีมีผู้นำหนังสือลับ สกอ. ออกไปเผยแพร่เท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นไม่ทราบ น่าจะเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย ไม่ก็เรื่องของทางสภามหาวิทยาลัยที่ดูแลเรื่องนี้
และเมื่อสำนักข่าวอิศรา ติดต่อไปยัง นายบุญรัตน์ วงศ์ใหญ่ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะรักษาการนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ก็ได้รับการยืนยันว่า เรื่องนี้จำไม่ได้เพราะว่าเกิดขึ้นมานานตั้ง 4 ปีกว่าแล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากจะพูดอะไรมาก เพราะจะกลัวผิด อย่างไรก็ตามเท่าที่จำได้นั้นเคยมีการเอาประเด็นเรื่องการไปต่างประเทศเข้าไปในหารือในสภามหาวิทยาลัยเพียงแค่ครั้งเดียวคือช่วงประมาณ 3-4 ปีก่อนเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้นำเอาประเด็นเหล่านี้เข้ามาหารือในสภากันอีกเลย (อ่านประกอบ : เมื่อมรภ.เชียงใหม่ ตั้งกก.สอบหาคนปล่อย นส.ลับ 'สกอ.' จี้ลงดาบผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรป 6 ล.)
" ถ้าอยากจะรู้ว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจริงหรือไม่ ผู้ที่รู้ดีที่สุดก็คงจะเป็นทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยนั่นเอง เพราะว่า สกอ.ก็เป็นคนทำเรื่องส่งไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัย ดังนั้นเขาจะตั้งหรือไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ก็คงจะเป็นดุลยพินิจของเขา ซึ่งการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้น เป็นสิ่งที่ทางอธิการบดีสามารถทำได้เลย ไม่ต้องผ่านอำนาจหรือการหารือจากสภามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด" นายบุญรัตน์ระบุ (อ่านประกอบ : 4ปีชงเรื่องเข้าสภาฯครั้งเดียว! รษก.นายกสภาฯมรภ.เชียงใหม่ ให้ถามอธิการฯปมชี้มูลจัดทัวร์ยุโรป)
แต่เมื่อสำนักข่าวอิศรา ติดต่อไปสอบถามข้อมูลจาก นายขจร จิตรสุขุม อดีตรองเลขาธิการ สกอ. ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไปในช่วงเดือนต.ค.2561 ได้รับการยืนยันว่า "เรื่อง มรภ.เชียงใหม่นั้น ยังไม่เคยมีการทำหนังสือแจ้งตอบกลับมาที่ทาง สกอ.เลย หลังจากที่ทำหนังสือแจ้งไป ซึ่งดูจากการทำหน้าที่แล้วทางสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เขาก็เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเท่าไร"
นายขจร ยังระบุด้วยว่า "คนที่มีอำนาจที่จะเข้าไปจัดการเรื่องนี้ได้ความเป็นจริงแล้วต้องเป็นสภามหาวิทยาลัยที่จะเข้าไปกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินของอธิการบดี ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่าอธิการบดีก็ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่มาดำรงตำแหน่งตามวาระอธิการบดี 4 ปี เพราะฉะนั้นการจะถอดถอน หรือจะดำเนินการอะไร ก็เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย"
"เรื่องนี้อธิการบดีจะเป็นผู้มีอำนาจได้อย่างไร เพราะอธิการบดีถูกกล่าวหา ก็ต้องเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยที่จะเป็นผู้ดำเนินการ อีกทั้งทาง สกอ.ก็ได้ทำหนังสือไปถึงทางสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทำหนังสือถึงทางอธิการบดีตามที่นายบุญรัตน์ได้มีการกล่าวอ้าง" (อ่านประกอบ : อธิการฯถูกกล่าวหาด้วย! อดีตรองเลขาฯสกอ.ชี้เป็นอำนาจสภาฯ สอบสวนปมมรภ.เชียงใหม่ทัวร์ยุโรป)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ว่า ปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัย ยังไม่มีอธิการบดีเป็นทางการ เพราะในส่วนของ รศ.ดร.ประพันธ์ ธรรมไชย อธิการบดีคนเก่า แม้จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอธิบดีคนใหม่อีก 1สมัย แต่ก็ยังไม่ได้ถูกเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้า เนื่องจากติดขัดปัญหาบางประการ ส่วนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมานั้น จึงให้รองอธิการบดีสลับกันขึ้นรักษาการแทน ซึ่งที่ผ่านมามีการเปลี่ยนตัวผู้รักษาการมาแล้ว 4 รายแล้ว
โดยผู้รักษาการคนปัจจุบัน คือ รศ.ดร.ประพันธ์ ธรรมไชย ขณะที่ รศ.ดร.ประพันธ์ ก็ยังปรากฎชื่อเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ถูกสตง.ชี้มูลความผิดในการดำเนินงานโครงการจัดการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศดังกล่าวด้วย (อ่านประกอบ : เปิดผลสอบมรภ.เชียงใหม่ ทัวร์ถลุงงบ6ล.(1)อธิการฯ รับไม่มีดูงาน ม.ยุโรป)
หากพิจารณาถึงเหตุผลของ นายขจร ที่ระบุว่า "เรื่องนี้อธิการบดีจะเป็นผู้มีอำนาจได้อย่างไร เพราะอธิการบดีถูกกล่าวหา ก็ต้องเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยที่จะเป็นผู้ดำเนินการ" กับข้อมูลโครงสร้างการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยฯ ที่ได้รับแจ้งมา จะพบว่า มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอ มากกว่า คำชี้แจงของนายบุญรัตน์ วงศ์ใหญ่ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะรักษาการนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่คนปัจจุบัน
คำถามสำคัญที่ตามมา คือ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย และสภามหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วบ้าง ภายหลังจากที่ สกอ. ทำหนังสือแจ้งถึง นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในช่วงเดือน พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ที่ให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคตง. ที่ชี้มูลความผิดกรณีนี้โดยเร็ว
ถ้ายังไม่ได้ดำเนินการอะไร ปัญหาติดขัดตรงไหน หรือยังคงยืนยันในผลสอบสวนเดิมของมหาวิทยาลัยว่า การจัดโครงการเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว?
เพราะถ้าหากยังจำกันได้ ในหนังสือ สกอ. ที่ส่งถึงนายกสภามหาวิทยาลัยฉบับดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า "เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาและมีมติให้ดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยรับตรวจย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว
โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสั่งการและต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า
ทั้งนี้ตามความในข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาเพื่อการลงโทษทางวินัยข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 และข้อ 5 ประกอบข้อ 41 แห่งข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560
ส่วนนายกสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการทางวินัยแก่อธิการบดี ตามความในข้อ 41 วรรคสาม แห่งข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้ความว่า ในกรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยสายบริหารวิชาการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้สภามหาวิทยาลัยดำเนินการทางวินัยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้โดยอนุโลม ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการทางวินัยแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งการ
อนึ่ง การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง"
ดังนั้น ภารกิจที่ทางมหาวิทยาลัย และสภามหาวิทยาลัยฯ ควรจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คือ การปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คตง. โดยการแต่งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เแล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า ส่วนนายกสภาฯ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการทางวินัยกับอธิการบดี โดยตรง มิใช่หรือ?
การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนหาตัวผู้เผยแพร่หนังสือ สกอ. ดังกล่าว เป็นภารกิจเร่งด่วน สำคัญอย่างไร ถึงต้องเร่งรีบดำเนินการในช่วงเวลานี้
ทั้งที่กรณีนี้ อาจเป็นจุดอ่อนสำคัญที่จะทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตามถึง วิสัยทัศน์ และพฤติการณ์ของ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และสภาฯ ในปัจจุบันว่า นอกจากจะไม่ยอมรับผลการตรวจสอบของ สตง. และไม่ยอมรับคำสั่ง สกอ. แล้ว
ยังมีเป้าประสงค์ ที่จะใช้ "อำนาจ" ในมือ ตามล่าหาตัวคนปล่อยหนังสือลับ สกอ. ด้วย
ทั้งที่ หนังสือลับดังกล่าว เป็นข้อเท็จจริง และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นผลประโยชน์สาธารณะที่คนในประชาคมมหาวิทยาลัยมีสิทธิที่จะรับรู้รับทราบโดยทั่วกัน
อันนำมาซึ่งบทสะท้อนถึง วิธีคิด วิธีปฏิบัติ ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับกรณีนี้ ในฐานะเป็นสถาบันการศึกษา ที่มีหน้าที่สำคัญในการผลิตบัณฑิตออกไปทำประโยชน์รับใช้ประเทศชาติในอนาคต
และนับเป็นอีกหนึ่งกรณีสำคัญ ที่ผู้บริหารประเทศไทย รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ควรมองข้าม ต้องเร่งรีบเข้ามาจัดการสะสางปัญหาที่ค้างอยู่ให้หมดสิ้นไปโดยเร็วที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
4ปีชงเรื่องเข้าสภาฯครั้งเดียว! รษก.นายกสภาฯมรภ.เชียงใหม่ ให้ถามอธิการฯปมชี้มูลจัดทัวร์ยุโรป
ฉบับเต็ม! หนังสือ สกอ. โนติส มรภ.เชียงใหม่ ลงดาบ 5 ผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรปถลุงงบ 6 ล.
สกอ. จี้ มรภ.เชียงใหม่ ลงดาบผู้บริหารจัดทัวร์ยุโรป6ล. หลังสรุปผลสอบไม่พบผิดสวนทาง สตง.
คตง. เชือด 'อธิการฯ-รอง' มรภ.เชียงใหม่ พาผู้บริหารทัวร์ตปท.ปี57 ไม่ชอบด้วยกม.
สกอ.ไฟเขียวตั้งกก.สอบมรภ.เชียงใหม่ ถลุงงบทัวร์ยุโรป6ล.-สตง.ปัดถูกวิ่งเต้นดองเรื่อง
โชว์กำหนดการทัวร์ตปท. มรภ.เชียงใหม่ ถลุงงบ 6ล. ชนวนเหตุคตง.เชือด'อธิการฯ-รอง'
โชว์ภาพชุดตะลอนยุโรป มรภ.เชียงใหม่! ปูด รรก.อธิการฯ ผู้ติดต่อหาบ.ทัวร์
เปิดตัวหจก.ฯนำมรภ.เชียงใหม่ตะลอนยุโรป ยันทำธุรกิจปกติ-เคยพาทัวร์อียิปต์ปี53
เปิดผลสอบมรภ.เชียงใหม่ ทัวร์ถลุงงบ6ล.(1)อธิการฯ รับไม่มีดูงาน ม.ยุโรป
เลี่ยงจัดจ้าง-ใช้วิธียืมเงินม.โอนเข้าบัญชีบ.ทัวร์!เปิดผลสอบมรภ.เชียงใหม่(2)
อธิการฯรู้ใช้วิธียืมเงิน-เซ็นอนุมัติให้!เปิดผลสอบมรภ.เชียงใหม่ทัวร์ยุโรป(3)