ลุยสอบเหมืองราชบุรีถือครองสปก.มิชอบนายกอบต.บ้านบึงยันทำถูกต้อง
กรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรเตรียมนำสื่อลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินสปก.ราชบุรี 25 มิ.ย. หวั่นเหมืองแร่ยึดครองพื้นที่ผิดกม.ทำลายสวล. นายกอบต.บ้านบึงยันทำตามขั้นตอนพร้อมพิสูจน์ความถูกต้อง
เร็วๆนี้ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม กรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร กล่าวถึงสถานการณ์การถือครองที่ดินในพื้นที่จ.ราชบุรีที่มีชาวบ้านเข้ามาร้องเรียนกรณีมีการอนุญาตนายทุนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่สปก. โดยระบุว่าเป็นปัญหานายทุนเข้าถือครองโดยมิชอบ ทั้งนี้จากมติสปก.ราชบุรีมีหนังสือที่ รบ00112/711 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2554 ส่งคำขอรับความยินยอมให้ใช้ที่ที่ดินของบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อทำเหมืองแร่เฟลด์สปาร์ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี จำนวน 17 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 182 ไร่ มีระยะเวลา 25 ปี โดยพื้นที่ดังกล่าวมีการรังวัดแต่ยังไม่ได้จัดสรรที่ดิน โดยผู้ถือครองที่ดินที่เป็นเกษตรกรที่ถือครองที่ดินแปลงข้างเคียงจำนวน 11 รายได้ทำหนังสือยินยอม ไม่ได้คัดค้านการทำเหมืองแร่ ถึงแม้ว่าในหนังสือการขอใช้พื้นที่ของสปก.ราชบุรีจะระบุว่าสภาพพื้นที่ทีเป็นที่ลาดชันเล็กน้อย สูงประมาณ 240-260 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีวัชพืชขึ้นโดยทั่วไป แต่ในข้อเท็จจริงหากพื้นที่สปก.เดิมที่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องของเกษตรกร ควรคืนให้รัฐ เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่ควรให้มีการเข้าใช้ประโยชน์เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
“เรื่องนี้มีข้อสงสัยหลายประการที่แม้แต่คณะกรรามกการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีรัฐมนตรีเป็นประธานยังเห็นดีเห็นงามด้วย จึงควรจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเข้าทำเหมืองแร่ของบริษัทดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยจะมีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ปฏิรูปที่ดิน เข้าตรวจสอบ อีกอย่างจากการดูแผนที่ทางอากาศยังพบว่าที่ดินบริเวณนั้นยังเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำการเกษตรไม่ใช่การนำมาทำเหมืองแร่ที่อาจเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้”
นายอุบลศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้บริษัททำเหมืองแร่ดังกล่าวยังอ้างถึงการได้ความยินยอมจาก ประชาคมหมู่ที่ 6 ต.บ้านบึง และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบึงที่มีมติเห็นชอบในการประชุมสมัยสามัญ เมื่อ 14 ก.พ.54รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว
“การไม่คัดค้านของชาวบ้าน ไม่แน่ใจว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ เพราะการทำเหมืองแร่ในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นเรื่องที่ผิดสังเกต อีกทั้งดูจากอัตราการเช่าที่ดินในร้อยละ 2 ของราคาที่ดินคูณจำนวนปีที่ใช้ประโยชน์ถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับรายได้การทำเหมืองที่มีมูลค่ามาหาศาลก็ทำให้สงสัยในที่มาที่ไปโดยจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 25 มิ.ย.นี้หลังจากนั้นจึงจะนำข้อมูลที่ได้หารือกรรมการปฏิรูปที่ดินที่จะมีขึ้นในเดือนถัดไปอีกครั้ง”
ด้าน นายพินิจ ร่มโพรีย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บ้านบึง ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนต่อการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ แต่ชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวว่า พื้นที่ที่อบต.มีความเห็นชอบให้มีการเข้าทำเหมืองแร่เป็นรายล่าสุด สาเหตุที่มีการอนุญาตเพราะในพื้นที่อบต.บ้านบึงมีเหมืองอยู่8-9 แห่ง ทุกแห่งก็ไม่มีปัญหา ส่วนพื้นที่ที่พูดถึงเข้าใจว่าไม่ใช่พื้นที่สปก.แต่เป็นพื้นที่ ภทบ.5(ภาษีบำรุงท้องที่) ที่ชาวบ้านเขาเสียภาษีให้อบต.และทำกินมานาน ทางเจ้าของบริษัทซื้อไว้นานพอสมควร
“แปลงที่อบต.อนุญาตเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะทำเหมืองแร่ได้ จึงได้มีการอนุมัติ โดยทางเหมืองก็จะเสียภาษีให้กับท้องถิ่นเพื่อนำมาพัฒนาชุมชน ซึ่งจะต่างจากแปลงอื่นๆที่ทำมาแล้วที่มีปัญหาค่อนข้างเยอะเพราะอยู่ติดถนน แต่สำหรับเหมืองนี้ไม่เชื่อว่าจะเกิดปัญหา ส่วนจะมีการตรวจสอบสิทธิ์เรื่องที่ดินก็สามารถทำได้ อบต.พร้อมให้ความร่วมมือ” นายกอบต.บ้านบึง กล่าว
ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า แร่เฟลด์สปาร์ หรือแร่ฟันม้าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเนื้อเซรามิกส์และในน้ำยาเคลือบผิว เฟลด์สปาร์เป็นแร่ที่มีปริมาณธาตุอัลคาไลด์สูง หาได้ง่ายในธรรมชาติ มีธาตุเหล็กต่ำ จึงเป็นที่นิยม โดยมีอยู่ในธรรมชาติ 3 ชนิด คือ โปแตซเซียมเฟลด์สปาร์ โซเดียมเฟลด์สปาร์ แคลเซียมเฟลด์สปาร์ พบอยู่ในหินอัคนีเกือบทุกชนิด และพบในหินชั้นและหินแปรด้วย โดยทั่วๆไปโปแตชเซียมเฟลด์สปาร์ จะมีความต้องการในอุตสาหกรรมเซรามิกส์มากกว่าโซเดียมเฟลด์สปาร์ เพราะโปแตชเซียมเฟลด์สปาร์เมื่อหลอมแล้วได้ความหนืดสูง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นรูปทรงของชิ้นงานอยู่ตัวไม่บิดเบี้ยวในช่วงการเผา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ลูกถ้วยไฟฟ้า จำเป็นต้องใช้โปแตชเซียมเฟลด์สปาร์เกรดสูง
ซึ่งการทำเหมืองแร่เฟลด์สปาร์ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านบ้านท่าลำไย ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ได้ร่วมกันคัดค้านมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาต่อการทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่ เพราะส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตอยู่กับป่า เกรงจะเกิดผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่มาภาพ :http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=24388.0