โพลต้านโกง เลือกตั้ง 62 คนไทยอยากเห็นเปิดข้อมูลสำคัญผ่านออนไลน์-ปัญหาทุจริตแก้เร่งด่วน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน-ม.หอการค้าฯ เปิดผลโพลต้านโกง เลือกตั้ง 62 พบอันดับ 1 คนไทยอยากให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญผ่านออนไลน์ เป็นปัญหาทุจริตให้แก้เร่งด่วน-รูปธรรม
วันที่ 20 ธ.ค. 2561 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), มูลนิธิเพื่อคนไทย และภาคีภาคประชาชน จัดแถลงข่าวประกาศ “ผลโพลต้านโกง” รับเลือกตั้ง 2562 ซึ่งเป็นโครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยในการเลือกตั้ง 2562 ระหว่างวันที่ 16 พ.ย.-14 ธ.ค. 2561 ณ ห้อง Meeting Room1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอที่มีผลสูงสุด 3 ลำดับแรก พบว่า นโยบายของพรรคการเมืองควรเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 28 ควรตรวจสอบได้ ร้อยละ 26 ควรใช้งบประมาณคุ้มค่า ร้อยละ 23 ควรปฏิบัติได้จริงและชัดเจนเป็นรูปธรรม
พรรคการเมืองควรประกาศนโยบายแบบไหน ส่วนใหญ่ร้อยละ 42 นโยบายที่มีรายละเอียด ร้อยละ 33 นโยบายที่ระบุการตรวจสอบที่สามารถตรวจสอบได้จริง ร้อยละ 24 นโยบายกว้าง ๆ
ขณะที่ปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องแก้ไขมากที่สุด อันดับ 1 ร้อยละ 19 เศรษฐกิจ อันดับ 2 ร้อยละ 17 การศึกษา และอันดับ 3 ร้อยละ 16 ทุจริตคอร์รัปชัน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุต่อถึงนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมือง นักการเมือง มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้ง 2562 หรือไม่ ร้อยละ 30 ปานกลาง ร้อยละ 25 น้อย และร้อยละ 24 มาก
เมื่อถามต่อเห็นด้วยหรือไม่พรรคการเมืองควรมีแนวทางชัดเจนในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน ร้อยละ 65 เห็นด้วย ร้อยละ 35 ไม่เห็นด้วย
ส่วนปัญหาคอร์รัปชัน 3 ลำดับแรกที่ส่งผลเสียและต้องการให้รัฐบาลเร่งจัดการปัญหาคอร์รัปชันนั้น ร้อยละ 21 ปัญหาทุจริตในระบบราชการ ร้อยละ 17 ปัญหากระบวนการยุติธรรม และร้อยละ 13 เงินบริจาคแก่สถาบันศาสนา
รศ.ดร.เสาวณีย์ กล่าวต่อถึงปัญหาคอร์รัปชัน 3 ลำดับแรกที่รัฐบาลใหม่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม ร้อยละ 19 เปิดเผยข้อมูลสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 16 กำหนดกระบวนการป้องกันการทุจริตเชิงรุกในหน่วยงานรัฐ และร้อยละ 15 ควบคุม จัดการ สมาชิกรัฐบาลและสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน
ถามต่อถึงพรรคการเมืองควรมีข้อกำหนดหรือแนวปฏิบัติอะไรเพื่อสนับสนุนให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชัน ร้อยละ 26.6 แสดงข้อมูลการทำงานในทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส มีหน่วยงานกลางตรวจสอบ ร้อยละ 17.9 หากพบการทุจริตของนักการเมืองในพรรคต้องลงโทษอย่างเด็ดขาด และร้อยละ 10.6 เสริมสร้างจิตสำนึกในการทำงานที่ดีต่อบ้านเมืองและประชาชน
ขณะที่สิ่งที่นักการเมืองไทย ไม่ว่าจะมีตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ควรทำเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน ร้อยละ 29 ซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 27.7 ยินยอมเปิดเผยข้อมูลการทำงาน และตรวจสอบได้ทุกกรณี และร้อยละ 9 มีความเป็นผู้นำ รับฟังความคิดเห็นและเป็นปากเสียงให้ประชาชน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สุดท้ายมีความหวังกับนักการเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่ต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันหรือไม่ ร้อยละ 70 มี โดยให้เหตุผลร้อยละ 38 มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดและมุมมองใหม่ ร้อยละ 24 มีมุมมองแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ และร้อยละ 18 ยังไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของนักการเมืองรุ่นเก่า
ส่วนร้อยละ 30 ตอบว่าไม่มีนั้น ให้เหตุผลร้อยละ 52 ไม่ได้คาดหวังการทำงานของนักการเมือง เพราะเชื่อว่าไม่ได้ทำเพื่อประชาชน ร้อยละ 15 การตรวจสอบไม่สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และร้อยละ 15 รอดูผลงาน เพราะยังไม่เห็นความสามารถของนักการเมืองรุ่นใหม่
ด้านนายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การบ้านนี้จะต้องนำส่งให้ภาคการเมืองรับทราบ เพื่อพินิจพิเคราะห์ว่าเรื่องการป้องกันทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญ มีความต้องการอยากเห็นภาคการเมืองดำเนินการในเรื่องนี้ต่อเนื่อง
“17 องค์กร และภาคีเครือข่าย จะนำเรื่องนี้ไปขยายผล โดยเฉพาะภาคสื่อมวลชน วิชาการ และประชาชน ไปพูดคุยกับภาคการเมือง เมื่อประชาชนต้องการนโยบายแบบนี้ แล้วนโยบายของการเมืองจะเป็นอย่างไร ซึ่งหวังว่าจะเกิดเวทีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในเวทีวิชาการหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ภาคการเมืองมีโอกาสรับทราบเรื่องนี้อย่างชัดเจนลึกซึ้ง” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าว
ขณะที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงประเด็นข้อกังวลว่าจะมีการซื้อเสียงในการเลือกตั้งว่า ถ้าประชาชนที่จะไปออกเสียงเลือกตั้งตระหนักรู้ว่าอาจเป็นต้นเหตุการทุจริตคอร์รัปชันในอนาคต หากใช้สิทธิของตนเองอย่างตรงไปตรงมา ไม่ให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า การเลือกตั้ง 2562 จะทำให้ประชาชนเฝ้ามองการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น เพราะจากการสำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนไม่ต้องการการทุจริตคอร์รัปชัน และต้องการตอบสนองในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด
เมื่อถามถึงข้อเสนอให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งเพื่อช่วยป้องกันการทุจริต นายประมนต์ กล่าวว่ากระบวนการเลือกตั้งต้องปล่อยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนด เพราะจะทราบดีว่าควรทำอย่างไรบ้าง ดังนั้น ต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นคนตัดสินใจ
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งนั้น อาจไม่ทำให้บริสุทธิ์มากขึ้น แต่จะทำให้มีการตื่นตัว หากมีคนนอกเข้ามารับรู้ด้วย ทำให้ผู้ที่จะทุจริตต่าง ๆ ต้องระวังตัวมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้ เป็นไปในรูปแบบการสัมภาษณ์เผชิญหน้า และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนเพิ่มเติมผ่าน www.thaivoiceagainstcorruption.com เเล www.เเจกการบ้านนักการเมืองต้านโกง.com
ทั้งหมด 3,054 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยร้อยละ 81 เป็นผู้เคยเลือกตั้งมาก่อนหน้านี้และร้อยละ 19 เป็นกลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรก ประกอบด้วย กรุงเทพฯ และปริมณฑล 548 ตัวอย่าง ภาคเหนือ 549 ตัวอย่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,011 ตัวอย่าง ภาคตะวันออก 225 ตัวอย่าง ภาคกลาง 315 ตัวอย่าง และภาคใต้ 406 ตัวอย่าง โดยอยู่ในเขตเมืองใหญ่ร้อยละ 57 และเขตชนบท ร้อยละ 43 .