เลือกตั้ง กุมภาฯ 62 นักวิชาการฟันธงได้รัฐบาลผสม-อยู่ไม่ครบเทอม
ถกมุมมองวิชาการ เลือกตั้ง กุมภาฯ 62 ‘อ.ประจักษ์’ เชื่อไม่เปลี่ยนผ่านสู่ ปชต. ที่มีเสถียรภาพแบบอินโดฯ อาจต้องรออีก 2 ครั้ง รัฐบาลใหม่อยู่ไม่ครบ 4 ปี กระตุกสังคมไทยจับตาให้เกิดความยุติธรรม ด้านนักวิชาการจุฬาฯ ฉายภาพทาง 3 แพร่ง สำเร็จ-ติดเขาวงกต-ขัดแย้งรอบใหม่
วันที่ 19 ธ.ค. 2561 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 16 เรื่อง เลือกตั้ง กุมภาฯ 62 ฟรีและแฟร์ สำหรับใคร? ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเลือกตั้งมีความสำคัญ เพราะเป็นเครื่องมือเปลี่ยนกระสุนเป็นบัตรเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนผ่านหรือถ่ายโอนทางการเมืองอย่างสันติวิธีที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้ง รศ.ดร.สิริพรรณ มองว่า จะเกิดการเปลี่ยนผ่านในลักษณะทางสามแพร่งหรือสามทิศทาง
ทิศทางที่หนึ่ง คาดหวังว่าจะเปลี่ยนผ่านสำเร็จ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเคารพเสียงประชาชนเป็นหลัก และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ทิศทางแรกค่อนข้างสลัว อาจต้องการแสงสว่างและไฟฉายจำนวนมาก นั่นคือ พลังของประชาชน
ทิศทางที่สอง แทนที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อาจกลายเป็นการเดินอยู่ในเขาวงกตของความขัดแย้งทางการเมือง ตอกย้ำความไม่มีเสถียรภาพ และกลายเป็นเครื่องมือของระบอบอำนาจนิยมที่ใส่เสื้อกั๊กประชาธิปไตย โดยนำการเลือกตั้งมาอ้างเป็นความชอบธรรมของระบอบและผู้นำอำนาจนิยมว่าได้ผ่านการเลือกตั้งแล้ว
ทิศทางที่สาม อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ กลับไปสู่เหตุการณ์คล้ายพฤษภาทมิฬ 2535
“การเลือกตั้งที่มีคุณภาพ จะต้องมีระบบการเลือกตั้งและการจัดการที่มีเสถียรภาพ มีรากเหง้าที่ฝังอยู่ในการยอมรับของสังคม ซึ่งจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่ทุกคนเข้าใจว่าจะต้องออกไปใส่สิทธิอย่างไร กากากบาทเลือกตั้งแล้วจะส่งผลอย่างไร” นักวิชาการจุฬาฯ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้การวิเคราะห์การเลือกตั้งของนักวิชาการ สื่อมวลชน นักการเมือง อิงอยู่กับตัวเลขของการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาและยังอิงกับการคาดการณ์ว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงร้อยละ 75 แต่หากประชาชนออกไปใช้สิทธิจำนวนมากกว่าเดิม ร้อยละ 80-85 หรือโพลของสถาบันพระปกเกล้าระบุข้อมูลคนรุ่นใหม่ใช้สิทธิครั้งแรกจะใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ 90 เชื่อว่าผลการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปไม่เป็นตามที่วางไว้
“ร้อยละ 5 หรือ 10 ของผู้ออกมาใช้สิทธิ โดยเฉพาะผู้เลือกตั้งรุ่นใหม่ ที่ไม่เคยใช้สิทธิมาก่อน ซึ่งพรรคการเมืองไม่รู้ว่า คนกลุ่มนี้คิดอย่างไร ชื่นชอบพรรคไหน เปรียบเหมือนกลุ่มลูกค้าใหม่ ยังไม่ตัดสินใจ ถือเป็นตัวแปรควบคุมไม่ได้”
นักวิชาการ มธ. กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เปลี่ยนผ่านกลับไปสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพแบบอินโดนีเซีย อาจต้องรอการเลือกตั้งอีก 2 ครั้ง แต่รอบนี้เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้นในการค้นหาระเบียบทางการเมืองใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีในสังคมไทย ค่อย ๆ คลี่คลาย ทั้งนี้ หากดูกติกาทางการเมือง พรรคการเมืองในระบบ ชัดเจนว่า ไม่ว่าฝ่ายไหนชนะเลือกตั้งไม่น่าจะอยู่ครบเทอม 4 ปี เพราะจะมีปัญหาความขัดแย้งสูง จากการเป็นรัฐบาลผสม
“ระบบพรรคการเมืองกระจัดกระจายแบบนี้ แค่พรรคเล็กพรรคน้อยก็มีอำนาจการต่อรองสูงในระบบ สมมติพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐบาลผสมประกอบด้วยหลายพรรค พรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วยหลายกลุ่มมารวมกันเฉพาะกิจ ไม่มีอุดมการณ์ร่วมกัน คราวนี้เวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจจะยุ่ง ทำอย่างไรจะรับประกันให้ทุกเสียงโหวตสนับสนุนต่อ”
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวอีกว่า จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ก่อน 4 ปี ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถือว่าสำคัญ แม้ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอินโดนีเซีย แต่อย่างน้อยมาเลเซียเป็นตัวอย่างที่ดี ต่อให้มีองค์ประกอบหลายอย่างทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม สุดท้ายประชาชนจะเป็นตัวแสดงสำคัญที่สุดในการทำให้สังคมก้าวข้ามอุปสรรคตรงนี้ไปได้จากกับดักที่วางไว้ ทั้งนี้คาดหวังว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง ไม่มีใครกำหนดหรือรู้ล่วงหน้า แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ สังคมไทยต้องทำให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มิฉะนั้นไม่ว่าใครชนะการเลือกตั้งจะขาดความชอบธรรม
ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงความฟรีและแฟร์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งว่า ปัญหาที่สำคัญของระบบจัดสรรปันส่วนผสม คือ ถ้าทุกพรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้ครบ 350 เขต ซึ่งเชื่อว่าจะมีเพียง 4 พรรคเท่านั้นที่ทำได้ นั่นจะทำให้ไม่เกิดความฟรีกับประชาชนในแง่ตัวเลือก สมมติ อยากเลือกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมาก แต่พรรคนั้นเป็นพรรคขนาดกลางและเล็ก ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงในเขตที่อยู่ ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ .