‘หมอ-พยาบาล’ ในเรือนจำ งานที่ยังคงขาดแคลน
"หมอทั้งโรงพยาบาลมีอยู่คนเดียวเท่านั้นที่เข้าตรวจ (ในเรือนจำ) คนอื่นไม่เข้า ถ้าเกิดไม่ว่างติดราชการ ก็คือเลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด หมอคนอื่นไม่เข้า ผอ.โรงพยาบาลก็บังคับให้เขาเข้าไม่ได้ หมอเขาก็มีฐานะ บางคนก็เป็นเรื่องทัศนคติ กลัวเรื่องคดีความ กลัวผู้ต้องขังข่มขู่อีก เราอยากมีแพทย์ที่ปรึกษาประจำเรือนจำ consult ได้ หรือกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เอาคนเดียวเท่านั้น ไม่ต้องเปลี่ยนมือ"
“พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ (ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน) ขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม ก็จะไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ 100 กว่าเรือนจำที่ขึ้นกับกรมราชทัณฑ์ ทุกเรือนจำทำงานเหมือนกันหมดเลย เพราะคำสั่งกรมฯ เป็นคำสั่งเดียวกัน แต่ที่นี่มีพยาบาล 2 คน ผู้ต้องขัง 3,000 จะดูอย่างไร งานเราเยอะมาก แค่ตรวจก็อ้วกกันแล้ว สมัครเข้ามาบรรจุแล้วก็หนีกัน จะไม่หนีได้อย่างไร อย่างค่าเสี่ยงภัย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ 6,500 (ในเรือนจำ) นอกเรือนจำได้ 3,300 (บางเวลา) พยาบาลได้เงินเพิ่ม (พ.ต.ส.ร. คือเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขที่เรือนจำ) 2,000 อยู่เลย ทำไมเราได้น้อยกว่าคนอื่นๆ ทั้งๆที่เราเสี่ยงกว่าพวกนั้นอีก มีทั้งมีด ทั้งเข็ม ทั้งโรค เอาอะไรมาวัดว่า ไม่เสี่ยง แล้วใครจะมีกำลังใจทำงาน เราเหมือนเป็น Appendix ตรงนี้มันเจ็บปวด”
พยาบาลในเรือนจำแห่งหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ ซึ่งได้ถูกนำมาถ่ายทอดไว้ในหนังสือ “ป่วยไข้ในเรือนจำ:ปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงบริการ" ผลงานการวิจัยของบุคลากรสถาบันวิจัยประชากรและสังคม โดยกุลภา วจนสาระ ที่ได้เปิดโลกหลังกำแพงเหล่านั้นให้สังคมได้เห็นความเป็นไปของผู้คนที่อยู่ภายใน ที่นอกจากสังคมจะรับรู้สถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้ต้องขังแล้ว ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ยังชี้ให้เห็นถึง ข้อจำกัดในการให้บริการสุขภาพด้านต่างๆ ของบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพผู้ต้องขัง ทั้งพยาบาลในเรือนจำ แพทย์ที่เข้ามาตรวจประจำ และเจ้าหน้าที่สายสุขภาพในโรงพยาบาลแม่ข่ายที่เป็นหน่วยรับส่งต่อบริการ
พยาบาลเรือนจำกับภาระงานล้นมือ ภายใต้สถานการณ์ “คนล้นคุก” ของไทยทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดของเรือนจำ/ทัณฑสถานต้องรับภาระและความรับผิดชอบล้นมือ แม้ว่า ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์จะพยายามจัดสรรอัตรากำลังพยาบาลแก่เรือนจำ/ทัณฑสถานให้ทั่วถึงทั้งประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะสามารถรองรับกับจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีได้
เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานสุขภาพของผู้ต้องขัง เช่น นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และพยาบาล ส่วนใหญ่จึงทำงานบริการสุขภาพผู้ต้องขังท่ามกลางสถานการณ์อันจำกัดหลายประการ ได้แก่ อัตรากำลังไม่เพียงพอ หรือไม่สอดคล้องกับภาระงาน
“พยาบาลปฏิบัติหลายหน้าที่ ตัวเป็นพยาบาล แต่สังคมสงเคราะห์ก็ต้องทำ จิต (นักจิตวิทยา) ก็ทำ ขึ้นเวร เขาให้เข้าทุกวันเพราะบางทีอาจเกิดมีคนป่วยวันไหนที่เราไม่ได้เข้าเวร เขาเลยให้เข้าวันเว้นวัน บางคนก็ชอบ อยากได้เงินวันละ 500 แต่ไม่ได้พัก วันเว้นวัน มันก็ขนาด (หนัก) เลยนะ จะไปไหนก็แทบไม่ได้ ยิ่งช่วงโรคระบาดนี่ไม่ได้กลับบ้านเลย 2 อาทิตย์ โดนเรียกตลอด” พยาบาลในเรือนจำแห่งหนึ่ง ระบุถึงภาระงานอันล้นมือ
ไม่ต่างจากหมอเรือนจำ ก็หายากและขาดแคลนเช่นกัน ในงานวิจัย ระบุว่า หากเป็นเรือนจำขนาดใหญ่และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ดูแล โดยมากสามารถจัดหาแพทย์เข้าไปตรวจผู้ต้องขังได้เป็นประจำ ทั้งเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลในพื้นที่ และแพทย์ห้วงเวลา (แพทย์ห้วงเวลา คือ แพทย์ที่กรมราชทัณฑ์จัดจ้างหรือมีค่าตอบแทนสำหรับการเข้าไปตรวจรักษาในเรือนจำ อัตราชั่วโมงละ 500 บาท) เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์
แต่หากเป็นเรือนจำหรือทัณฑสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่การดูแลของโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ก็มักจะไม่สามารถจัดหาแพทย์เข้าไปตรวจในเรือนจำได้เป็นประจำ บางเรือนจำมีแพทย์เข้าตรวจเดือนละครั้ง บางแห่งไม่แน่นอนอาจยาวไป 3-6 เดือนก็มี
และยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น หากเป็นกรณีแพทย์เฉพาะทางในบางสาขา ซึ่งขาดแคลนอยู่แล้ว เช่น ทันตแพทย์ จิตแพทย์ เป็นต้น
พยาบาลในเรือนจำแห่งหนึ่ง เล่าว่า "หมอทั้งโรงพยาบาลมีอยู่คนเดียวเท่านั้นที่เข้าตรวจ (ในเรือนจำ) คนอื่นไม่เข้า ถ้าเกิดไม่ว่างติดราชการ ก็คือเลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด หมอคนอื่นไม่เข้า ผอ.โรงพยาบาลก็บังคับให้เขาเข้าไม่ได้ หมอเขาก็มีฐานะ บางคนก็เป็นเรื่องทัศนคติ กลัวเรื่องคดีความ กลัวผู้ต้องขังข่มขู่อีก เราอยากมีแพทย์ที่ปรึกษาประจำเรือนจำ consult ได้ หรือกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เอาคนเดียวเท่านั้น ไม่ต้องเปลี่ยนมือบางทีเกินความสามารถพยาบาลก็จะสามารถติดต่อได้ consult คนนี้ได้ตลอด เพราะถ้าเป็นคนอื่นเขาก็ไม่กล้า บางคนเขาก็กลัว"
ประเด็นความกลัวนี้ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และทำวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง ให้มุมมองว่า ต้องเห็นใจโรงพยาบาลที่มีภาระเต็มมือ ขณะเดียวกันหมอโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งไม่อยากเข้าเรือนจำเพราะกลัว
"หมอที่เข้าเรือนจำทุกวันนี้ ยังพูดว่า ถ้าผมไม่เข้าแล้วใครจะเข้าแทนผม ฉะนั้นเรื่องความกลัวยังเป็นอุปสรรคทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนหนึ่งไม่เข้าเรือนจำ" รศ.ดร.กฤตยา ระบุ และชี้ว่า เรือนจำมีระบบที่ใช้ได้ มีระบบคัดกรอง ป้องกันโรคอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกลัวเรื่องนี้ พร้อมกับสนับสนุนเต็มที่อยากให้กรมราชทัณฑ์ได้พยาบาลวิชาชีพเพิ่ม เพราะขณะนี้ขาดแคลนอยู่ และทำอย่างไรให้พยาบาลทำงานในเรือนจำนานๆ ไม่ลาออกบ่อยแบบปัจจุบัน
สอดคล้องกับที่ ดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร ระบุว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ของกรมราชทัณฑ์มีไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ 1-3 คน บางแห่งต้องดูแลผู้ต้องขัง 3-5 พันคน พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่ เป็นผู้หญิงต้องดูแลผู้ต้องขังชาย และเสี่ยงต่อการเกิดเหตุ นี่เองทำให้การดูแลต่างๆ มีข้อจำกัด
"วันนี้กรมราชทัณฑ์แก้ไขโดยการใช้ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่มีความรู้ทางการแพทย์มาช่วยตรงจุดนี้ ในอนาคตกรมราชทัณฑ์กำลังเปลี่ยนเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ เป็นพยาบาลวิชาชีพ หรืออาจปรับตำแหน่งให้มีพยาบาลวิชาชีพให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาพยาบาล”
การขาดแคลนแพทย์-พยาบาล จึงนับเป็นโจทย์สำคัญ ทำอย่างไรถึงจะการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงาน หรือสร้างระบบเชื่อมโยงกับหน่วยบริการสาธารณสุข มิเช่นนั้นภาระงานที่เกินกำลัง ต่อให้ขออัตราเพิ่ม ก็เก็บคนไว้ไม่อยู่ อยู่ดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กำหนดราคากลาง 600 บาท กรมราชทัณฑ์ เล็งซื้อที่นอนยางพาราให้ผู้ต้องขังแทนผ้าห่ม 3 ผืน
‘เรือนจำอยุธยา’ ต้นแบบปฏิบัติ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ เพื่อศักดิ์ศรีนักโทษหญิง
“สงขลาโมเดล” ต้นแบบการจัดบริการสุขภาพให้แก่กลุ่มผู้ต้องขัง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยผู้ต้องขังเจ็บป่วยต้องส่งรพ.ปีละ 5 หมื่น-เสียชีวิต 1 พันคน
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
ที่มาภาพ:Thailand Institute of Justice (TIJ)