เลขาสภาพัฒน์ฯ เผยโซนนิ่งเกษตรไม่คืบ-ชงไอเดียโอท็อปช็อบปิ้ง
นายกฯ ถกสภาพัฒน์ฯ เตรียมรับมือผลกระทบวิกฤตยุโรป เร่งสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจตั้งแต่ชนบทถึงมหภาค "อาคม"ชงไอเดียโอท็อปช็อบปิ้ง ส่วนโซนนิ่งเกษตรไม่คืบ
วันที่ 15 มิ.ย. 55 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสศช. เปิดเผยต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ภายหลังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามอบนโยบายแก่ผู้บริหารว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรป โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสศช. รวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาด้านธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกำชับให้สศช. เร่งจัดทำข้อมูลของประเทศด้านต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เช่น ตัวเลขการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ให้ตรวจสอบตัวเลขให้สอดคล้องกัน และวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของประเทศกรีก สเปน และอิตาลี ที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการตั้งรับและสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องทราบตัวเลขทางเศรษฐกิจระดับชนบท เพื่อนำเป็นตัวชี้วัดและแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหภาคที่ไทยต้องประสบ
เลขาธิการสศช. กล่าวต่อว่า สภาพัฒน์ฯ ยังรายงานความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี 13 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มอัตรากำลังซื้อภายในประเทศ โดยมุ่งพัฒนาช่องทางซื้อขายสินค้าโอท๊อปครบวงจร ซึ่งเลือกปรับปรุงสถานีรถไฟและสนามบินทั่วประเทศเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท๊อปสร้างรายได้ให้ชุมชนและลดต้นทุนการขนส่ง
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความคืบหน้าการจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตร นายอาคมกล่าวว่า ขณะนี้นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดที่รอสานต่อให้เป็นรูปธรรม ซึ่งต้องดูรายละเอียดการพัฒนาอีกครั้ง แต่การจัดโซนนิ่งเกิดจากสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะยุโรปตอนนี้ แม้รัฐบาลจะมีโครงการจำนำผลิตผล แต่เกษตรกรยังเดือดร้อน ฉะนั้นจึงดำเนินโครงการนี้ขึ้นเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตของพืชและวางแผนระบบการขนส่งสินค้าได้ชัดเจน และสามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาเศรษฐกิจได้ เช่น พัฒนาพันธุกรรมข้าวให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ให้ผลผลิตมาก ซึ่งปีหนึ่งไม่จำเป็นต้องปลูก 3-4 ครั้ง/ปี เพียง 2 ครั้ง/ปีก็สามารถให้ผลผลิตมากได้.