สงครามข่าวสารเลือกตั้ง นักวิชาการชี้จะเป็นครั้งแรก "สนามรบ" หลักอยู่ที่โซเชี่ยลมีเดีย
บทบาทสื่อและการรับมือสงครามข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง นักวิชาการจากจุฬาฯ ห่วงความสมดุลของข้อมูลโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะข่าวลวง ใส่สีใส่ไข่ ชี้พบหนักช่วงใกล้วันเลือกตั้ง ตั้งความหวังนักข่าว-สื่อมวลชนที่ใช้ออนไลน์ ทำหน้าที่คานดุล นำเสนอข้อมูลอย่างเป็นกลาง
วันที่ 18 ธันวาคม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดเวที สานเสวนา Media Forum ครั้งที่ 6 เรื่อง “บทบาทสื่อและการรับมือสงครามด้านข้อมูลข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพฯ โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเสวนาหลากหลายภาคส่วน ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ นักวิชาการ รวมทั้งภาคประชาสังคม
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ หลายคนวิเคราะห์ว่า จะอยู่บนฐานของสื่อออนไลน์ เพราะผู้รับข้อมูลข่าวสารย้ายตัวเองไปอยู่แพลตฟอร์มออนไลน์มาก ถือเป็นช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารที่สะดวกสบายสุด ทั้งทวิตเตอร์ เฟชบุค ไลน์ เป็นต้น
“ระยะเวลากว่าจะถึงเลือกตั้ง มีเวลาประมาณ 2 เดือน จะเห็นข้อมูลจำนวนมาก ก่อนคนลงคะแนนเสียง มีระยะเวลารับรู้ข่าวสารในเวลาจำกัด ดังนั้น ความสมดุลของข้อมูลข่าวสาร โลกโซเชียลมีเดียจะตอบโจทย์ได้มากน้อยขนาดไหน ”ผศ.พิจิตรา กล่าว พร้อมแสดงความกังวลข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อมูลลวง ใส่สีใส่ไข่ จะมาค่อนข้างหนักก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งไม่แน่ใจว่า ข่าวลวงที่แพร่กระจาย ข่าวแก้จะทันก่อนลงคะแนนหรือไม่
ผศ.พิจิตรา กล่าวอีกว่า ช่วงการเลือกตั้งเป็นช่วงอ่อนไหว เรื่องของข้อมูลข่าวสาร ตรงนี้ทำอย่างไรให้สมดุล สมบูรณ์ โดยเฉพาะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนควรได้รับการนำเสนออย่างเท่าเทียมกัน
“การสื่อสารของคนทั่วไปช่วงการเลือกตั้งจะมีการโพสต์แสดงอารมณ์ออกมามากขึ้น ฉะนั้นจึงหวังนักข่าว หรือสื่อมวลชนที่ใช้สื่อออนไลน์ จะเข้ามาทำหน้าที่เสนอข้อมูลอย่างเป็นกลาง รวมไปถึงผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ ทั้งดารา เซเลบ จะเข้ามามีบทบาททำให้ข่าวสารการเลือกตั้งนั้นถึงผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น”
ขณะที่ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สังคมประชาธิปไตย ข้อมูลข่าวสารมีความสำคัญต่อการตัดสินใจต่อการใช้อำนาจของตัวเองได้ การที่สังคมได้รับข้อมูลข่าวสารก็ต้องดูประเภทข่าวสารมีประเภทอะไรบ้าง
“ผมไม่แคร์ความเป็นกลางของสื่อเท่าไหร่ เพราะมนุษย์ดำรงความเป็นกลางยาก แต่เราจะทำอย่างไรให้ความไม่เป็นกลางของข้อมูลข่าวสารนั้น ผู้บริโภคข่าวสารสามารถเสพข่าวสารนั้น แบบไม่เอนเอียง หรือไม่มีวิจารณญาณ โดยผมยังเชื่อว่า สังคมไทยเติบโตมาระดับหนึ่งแล้ว สามารถแยกข้อเท็จจริง เลือกเนื้อหาได้ไม่ยาก”
ด้านดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิจัย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงสงครามข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง จะเป็นครั้งแรกที่ "สนามรบ" หลักอยู่ที่ Social media พร้อมมองว่า ข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งที่มีอยู่อย่างเกลื่อนกลาด หาง่าย มีเยอะ เข้าถึงได้ แต่เครื่องไม้เครื่องมือกลับไม่สัมพันธ์กัน ดังนั้น คนเก่งเทคโนโลยี เก่งวิเคราะห์การเมือง คนค้นข้อมูลเก่ง อาจต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา
สอดคล้องกับนายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ หรือ Kapook.com กล่าวว่า สื่อแต่ละสื่อมีจุดเด่นของตัวเองไม่เหมือนกัน การรักษาจุดเด่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ช่วงการเลือกตั้ง สื่อแต่ละแห่งก็สามารถร่วมมือกันทำงานด้วยกันได้ เพื่อให้เกิดพลังอะไรบางอย่าง เช่น เรื่องไหนยังไม่เป็นกระแส ก็ตั้งแฮชแท็ก เป็นต้น
นางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เวลามีการเลือกตั้งทุกประเทศก็จะพูดถึงสงครามข้อมูลข่าวสารเลือกตั้งเหมือนกันหมด โดยเฉพาะออนไลน์ที่จะมีความเข้มข้นช่วงการณรงค์ และช่วงการเลือกตั้ง ฉะนั้นที่สื่อเองต้องจับมือกันทำงาน ไม่ควรทำงานแข่งกันเอง
"ช่วงการเลือกตั้ง มีทั้งข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปล่อย ข่าวเพียงครึ่งเดียว ข่าวโยนหินถามทาง สื่อก็ต้องเช็คกันเองด้วย ใช้เวลาช้าหน่อยขอให้มีความแม่นยำ ขณะเดียวกันก็จะมีข่าวแบบการสาดโคลน นำอดีตของแต่ละพรรคมารื้อฟื้น ซึ่งสื่อต้องไม่ไปร่วมสร้างให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก"นางสมศรี กล่าว และว่า ช่วงรณรงค์ ช่วงการเลือกตั้ง การนับคะแนน หลังวันเลือกตั้ง รวมถึงการให้ใบแดง ความรู้พวกนี้สื่อจำเป็นต้องรู้ด้วย ไม่เฉพาะกระบวนการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปจากเดิมเท่านั้น
ขณะที่นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการทำหน้าที่สื่อ อยากให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง เชิงนโยบายสาธารณะ มากกว่าเรื่องส่วนตัวบุคคล หรือปลุกระดมมวลชน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และควรเปิดพื้นที่สาธารณะระดับประเทศ
“โลกใหม่สื่อออนไลน์ต้องขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สาธารณะจริง ๆ ไม่ว่าเลือกตั้งกี่ครั้งไม่ควรเกิดขึ้นภายใต้ความรุนแรงและความสูญเสีย”
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการนักหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช. กล่าวแสดงความเป็นห่วงการตรวจสอบสื่อโซเชี่ยลมีเดีย ทั้งไลน์ เฟชบุค ทวิตเตอร์ กับความรับผิดชอบต่อสังคม ทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มเหล่านี้มีความโปร่งใส มีการคานดุลเกิดขึ้น เปิดการเจรจากับภาคสังคม ซึ่งเราต้องเรียกร้องความรับผิดชอบบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ด้วย
สุดท้ายนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทของสภาการฯ จะร่วมมือกับองค์กรสื่อทำไกด์ไลน์ แนวปฏิบัติการใช้โซเชี่ยลมีเดียของสื่อ รวมถึงคู่มือการทำข่าวช่วงการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ละเมิดจริยธรรมจากการเสนอข่าวเลือกตั้ง