เวทีตีแผ่สื่อละเมิดสิทธิเด็กเเนะนักข่าวต้องรู้เท่าทัน “เอ็นจีโอ-ตำรวจ” นำเหยื่อแถลงข่าวผิดกม.
เวทีตีแผ่สื่อละเมิดสิทธิเด็ก! นักข่าวต้องรู้เท่าทัน “เอ็นจีโอ-ตำรวจ” นำเหยื่อแถลงข่าว ชี้ผิดกม. แนะนำเสนอคุ้มครองครอบคลุมทุกเรื่อง ไม่เฉพาะด้านเพศ ด้านรองอธิบดีกรมกิจการเด็กฯ ชูร่างยุทธศาสตร์ 5 ปี หนุนลดกระทำรุนแรงบนอินเทอร์เน็ต
วันที่ 17 ธ.ค. 2561 คณะทำงานปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก จัดสัมมนา เรื่อง สื่อข่าวเด็กอย่างไร ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิ ณ ห้องกิ่งเพชร โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ
นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า มาตรการกำกับดูแลเรื่องเนื้อหาความเหมาะสมและอายุขั้นต่ำของสื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นเรื่องทำได้ยาก ซึ่งผ่านมากรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับหลายภาคส่วน จัดให้มีกลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดยได้เสนอร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาชนในการใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ. 2560-2564 ต่อคณะรัฐมนตรี จนมีมติเห็นชอบและบังคับใช้ คือ “ให้สื่อตระหนักถึงความสำคัญของการกระทำรุนแรงระหว่างเด็กด้วยกันเองบนอินเทอร์เน็ต และเผยแพร่วิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าวให้แก่สังคมเด็ก เยาวชน และผู้ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการเผยแพร่และรณรงค์ให้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนมาตรการสร้างกลไกการติดตามสื่อเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ให้แก่ผู้ผลิตสื่อและสาธารณชน”
“กรมได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์เพื่อเป็นหน่วยงานหลักและเชื่อมกับองค์กร เครือข่าย ซึ่งดำเนินการตามเจตนารมย์ของกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน จำเป็นต้องยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ละเลยต่อการปกป้องคุ้มครองเด็กตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สูงสุด 3 รูปแบบ คือ การทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก การไม่คำนึงถึงประโยชน์เด็ก การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่ทำให้เสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์” รองอธิบดีกรมกิจการเด็กฯ ระบุ
ด้าน ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเหตุผลต้องให้ความสนใจเรื่องภาวะจิตใจของเด็ก ในแง่จิตวิทยา เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หากถูกกระทบทางจิตใจจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง เพราะฉะนั้นในแง่เลี้ยงดูบุตรหลาน แนะนำว่า ช่วงอายุ 2 ปีแรก ถือเป็นวัยทองของเด็ก เพราะฉะนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถปกป้องเด็กไม่ให้ถูกกระทบทางจิตใจ ส่งเสริมพัฒนาการ เด็กจะเติบโตขึ้นมาในอนาคตอย่างมีคุณภาพ สมองเติบโตอย่างเต็มที่ ฉลาดทางความคิดและอารมณ์
“ไทยมีปัญหาความรุนแรงทางสังคมสูงมากและเด็กได้รับผลกระทบ โดยเห็นการนำเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ถ้าสื่อไม่เข้าใจและนำเสนอข่าว สื่ออาจได้ข่าว ได้ความรู้สึก ทำให้คนเสพข่าวรู้สึกดีมาก เห็นภาพจริงจัง แต่หารู้ไม่ว่า ได้ทำร้ายเด็กอย่างรุนแรง ทั้งนี้ ไม่ควรคิดว่าการนำเด็กมาแถลงข่าวเพียงครั้งเดียว เมื่อมาพูดคุยกับจิตแพทย์แล้วจะช่วยให้ภาวะจิตใจกลับสู่ปกติได้” นายกแพทยสมาคมฯ กล่าว
ขณะที่ นายเตชาติ์ มีชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงสถานการณ์การนำเสนอข่าวละเมิดสิทธิเด็ก ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยออกกฎหมายมากมาย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยเด็ก พ.ศ. 2532 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 แต่สถานการณ์กลับยังถูกละเมิด เพราะสังคมไทยมองเฉพาะเด็กถูกละเมิดเพียงแค่เรื่องเพศเป็นหลัก แต่เรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เด็กตกอยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ ความรุนแรงในครอบครัว กลับไม่ให้ความสำคัญ ทั้งที่มีกฎหมายคุ้มครองมากมาย
สื่อมวลชนจึงต้องรู้เท่าทันแหล่งข่าว ทั้งเอ็นจีโอ ตำรวจ ในการนำเด็กมาแถลงข่าว เพราะผิดกฎหมาย โดยยกตัวอย่างกรณีนำเด็กไปเผชิญหน้าการโต้เถียงรุนแรงของผู้ใหญ่สองฝ่าย กรณีแม่ถูกสาดน้ำกรดเสียชีวิต ดังนั้น สื่อมวลชนต้องคัดกรองเนื้อหาอย่างละเอียด แม้จะมีการพรางใบหน้าก็ตาม .