ราชทัณฑ์ กำหนดเรือนจำ 143 แห่งจะเลิกขายบุหรี่ให้ผู้ต้องขัง
การสูบบุหรี่ละเมิดสิทธิ์ฯ คนอื่น กรมราชทัณฑ์ ประกาศเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง จะเลิกขายบุหรี่ให้ผู้ต้องขัง ระบุปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์มีไม่พอ เล็งเปลี่ยนเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ เป็นพยาบาลวิชาชีพ - ปรับตำแหน่งให้มีพยาบาลวิชาชีพให้มากขึ้น หวังดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง
วันที่ 17 ธันวาคม สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม สมาคมวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีการประชุมวิชาการเชิงนโยบาย เรื่อง การเดินทางของเรือนจำสุขภาวะ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
ตอนหนึ่ง ดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร กล่าวถึงจำนวนผู้ต้องขังล้นคุกทั่วประเทศว่า ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2561 อยู่ที่ 3.8 แสนคน จากจำนวนเรือนจำ 143 แห่งที่สามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 1.2 แสนคนเท่านั้น ซึ่งคนล้นคุกนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ตามมา รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้มาตรฐานด้วย
รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ฯ กล่าวถึงการพัฒนาผู้ต้องขังเพื่อให้กลับคืนสู่สังคม จะปฎิบัติตามหลักมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ และโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
ส่วนการดูแลผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วย ดร.อายุตม์ กล่าวว่า ปี 2561 มีผู้ต้องขังเจ็บป่วยและผู้เสียชีวิตในเรือนจำ 1,061 คน รวมทั้งที่เสียชีวิตผิดธรรมชาติ (ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกัน) รวมอยู่ด้วย เหล่านี้ถือเป็นตัวชี้วัดที่ไม่ดีสำหรับงานควบคุม
"นโยบายปัจจุบันก็ได้มีการพูดถึงสุขภาวะของผู้ต้องขัง เนื่องจากหากมีโรคระบาดเกิดขึ้น เช่น เรือนจำจังหวัดตรัง จะเป็นทั้งเรือนจำ ทั้งโรคตาแดง วัณโรค เป็นต้น ยิ่งหากเรือนจำไหนก่อสร้างใหม่ก็โชคดีไป แต่ส่วนใหญ่สภาพเรือนจำมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 50 ปี ขณะที่สถานพยาบาลที่สร้างไว้ก็ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขัง" ดร.อายุตม์ กล่าว และย้ำว่า โครงสร้างเรือนจำแบบเก่าค่อนข้างมีปัญหา ฉะนั้น การพัฒนากายภาพเรือนจำจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย
รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ของกรมราชทัณฑ์มีไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ 1-3 คน บางแห่งต้องดูแลผู้ต้องขัง 3-5 พันคน พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ดูแลผู้ต้องขังชาย เสี่ยงต่อการเกิดเหตุ ทำให้การดูแลต่างๆ มีข้อจำกัด
" การส่งตัวผู้ต้องขังเจ็บป่วยไปรพ.ข้างนอก ใช้เจ้าหน้าที่ถึง 4 คนต่อวัน ทำให้เราต้องเสียกำลังคนควบคุมผู้ต้องขังภายในเรือนจำไปอัตโนมัติ วันนี้กรมราชทัณฑ์แก้ไขโดยการใช้ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่มีความรู้ทางการแพทย์มาช่วยตรงจุดนี้"
ดร.อายุตม์ กล่าวถึงเรือนจำสุขภาวะ เรากำลังเปลี่ยนเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ เป็นพยาบาลวิชาชีพ หรืออาจปรับตำแหน่งให้มีพยาบาลวิชาชีพให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาพยาบาล ณ วันนี้ กรมราชทัณฑ์มีผบ.เรือนจำที่เป็นหมอ 2 คน
"ในอนาคตกรมราชทัณฑ์มีความมุ่งมั่นดำเนินการเรือนจำสุขภาวะ ในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งที่เริ่มแล้วปี 2561 คือการไม่จำหน่ายบุหรี่แก่ผู้ต้องขังแล้ว โดยที่ผ่านมาผู้ต้องขังใช้การสูบบุหรี่ ใช้บุหรี่ในการปฏิบัติสิ่งไม่ถูกต้อง ฉะนั้น การสูบบุหรี่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ต้องขังที่ไม่สูบบุหรี่จะไม่มีอีกต่อไป 143 เรือนจำจะยกเลิกการจำหน่ายบุหรี่ ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้กำหนดไว้แล้ว"
สอนโยคะผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ