เหยื่อไฟใต้...ความหวังสุดท้ายให้ลูกเป็นทหารพราน
ปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อมานาน และกำลังจะครบ 15 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคมที่จะถึงนี้ ได้ทิ้งบาดแผลให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย แม้ปัจจุบันสถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม
และหนึ่งในนั้นก็คือ วรรณเพ็ญ เหล็กเพ็ชร ชาวบ้านบือซู อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ต้องทิ้งสวนยางพารา 80 ไร่มานานกว่า 10 ปี เพราะไม่กล้าอยู่ในพื้นที่ ทำให้ชีวิตต้องประสบกับความยากลำบาก
"มีเหตุการณ์เกิดขึ้นพี่ก็อยู่ไม่ได้ เพราะไม่ปลอดภัยกับตัวเองและครอบครัว สวนยางก็โดนโค่น บ้านก็โดนเผา ช่วงนั้นปี 48-49 ก็โดนต่อเนื่องมาเรื่อย โดนโค่นสวนก่อน แล้วก็มาเผาบ้าน พี่ก็ไม่กล้าอยู่ ขนาดตำรวจ ทหาร ชุดรปภ.ครูยังโดนเลย โดนตัดคอก็มี แล้วพี่จะสู้ได้เหรอ เพราะพี่ไม่มีอาวุธอะไรจะไปต่อสู้กับเขา"
วรรณเพ็ญตัดสินใจพาลูกสาวคนเดียวออกจากบ้านเกิดมาเช่าบ้านอยู่ในตัวเมืองยะลา ช่วงนั้นราคาบ้านไม่แพง เพราะสถานการณ์ค่อนข้างแรง ต่างคนต่างย้ายหนีออกนอกพื้นที่ ทำให้บ้านราคาตก ก็เลยซื้อบ้านเล็กๆ เอาไว้หลังหนึ่ง และอยู่อาศัยหลับนอนมาจนถึงปัจจุบัน
วรรณเพ็ญ เล่าว่า ครอบครัวมีสวนยางมากถึง 80 ไร่ แต่ก็จำใจต้องทิ้งออกมา ที่ผ่านมาเคยตัดใจจะขายสวนยางแต่ก็ขายไม่ออก เพราะไม่มีใครยอมซื้อ ขอให้หน่วยงานรัฐช่วย ก็ไม่ได้รับความสนใจ ปัจจุบันเธอก็ยังไม่กล้ากลับไปที่บ้าน เช่นเดียวกับคนไทยพุทธคนอื่นๆ ที่เคยอยู่ในละแวกเดียวกัน
วรรณเพ็ญใช้เงินเก็บเท่าที่มีส่งเสียลูกสาวเรียนจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่จบออกมาก็ไม่มีงานทำ สมัครงานราชการที่ไหนก็ไม่เคยได้ เพราะเส้นสายเยอะ จึงกัดฟันส่งลูกเรียนต่อปริญญาโท วันนี้เรียนจบแล้วก็ยังไม่มีงานทำอยู่ดี ชีวิตความเป็นอยู่ก็เริ่มลำบาก เพราะวรรณเพ็ญไม่มีรายได้ทางอื่น ความหวังสูงสุดของครอบครัวในตอนนี้ คือการที่ลูกสาวกำลังสมัครเข้าเป็น "ทหารพรานหญิง"
วรรณเพ็ญ เล่าว่า ลูกสาวไปสมัครเป็นทหารพรานที่กองพันทหารราบที่ 8 กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงสงขลานครินทร์ อ.เมือง จ.สงขลา จากนั้นทางหน่วยก็ให้ลูกสาวไปรายงานตัวที่กรมทหารพราน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน บ้านโคกยามู ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นทหารพรานช่วงกลางเดือนหน้า ซึ่งหากลูกสาวได้เป็นทหารพราน ก็ต้องกลับมาทำงานที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่เสี่ยงอันตรายที่เธอหวาดกลัวมาตลอด แต่เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
"มันก็เสี่ยงนะ เพราะเขาส่งมาฝึกที่นราธิวาส ถ้าได้ก็ต้องทำงานที่นราธิวาส ถึงเสี่ยงก็ต้องยอม เผื่อจะได้งานกับเขาบ้าง เพราะเศรษฐกิจที่บ้านก็ไม่ดี รายได้จากสวนก็ไม่มี พี่หวังให้ลูกได้เป็นทหารพราน จะได้พึ่งพาอาศัยลูกบ้าง พี่เองก็ไม่มีรายได้อะไร ถ้าลูกสาวได้เป็นทหารพรานก็จะเป็นที่พึ่ง เป็นเสาหลักของครอบครัว" วรรณเพ็ญ บอก
ตำแหน่งทหารพรานที่ว่านี้ คือ อาสาสมัครทหารพราน หรือ อส.ทพ. ยังไม่ถือว่าได้บรรจุเป็นข้าราชการ มีรายได้รวมทั้งหมด ทั้งเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย เดือนละราวๆ 18,000 บาท...
นี่คือชีวิตจริงของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญผลพวงจากความรุนแรงที่เกิดมาตลอดเกือบ 15 ปี!