ชาวสวนยางชายแดนใต้ครวญใกล้อดตาย ไร้เอกสารสิทธิ์-เข้าไม่ถึงมาตรการรัฐ
มาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงนี้ ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะการเติมเงิน 500 บาทให้กับผู้ถือ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ที่ทำให้หลายคนต้องไปรอเก้อหน้าตู้เอทีเอ็มเท่านั้น แต่ยังมีมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางพารา ที่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยมองว่ารัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือไม่ครบถ้วนทุกกลุ่ม
โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน แต่ก็ทำสวนยางเลี้ยงชีพทั้งครอบครัว ซึ่งพบมากที่ภาคใต้ตอนล่างอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณกันว่ามีชาวสวนยางที่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐมากกว่า 3 หมื่นราย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พ.ย.61 ได้อนุมัติโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ.2561-2562 ตามที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เสนอ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยางภายใต้วงเงิน 18,604.95 ล้านบาท
มาตรการนี้สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หามาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางให้ได้ภายใน 7 วัน หลังราคายางตกต่ำอย่างหนัก
โดยรูปแบบการช่วยเหลือจะเป็นแบบเร่งด่วน ด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนให้เกษตรกรตามพื้นที่เปิดกรีดจริง 1,800 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 15 ไร่ หากมีคนกรีดยาง จะแบ่งจ่าย 2 ส่วน คือ ให้เจ้าของสวนยาง ผู้เช่า หรือผู้ทำสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ และให้คนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่ เพื่อเป็นค่าครองชีพ และอุดช่องโหว่จากการช่วยเหลือครั้งก่อนๆ ที่คนกรีดยางไม่ได้รับเงิน ผู้ที่ได้มีแต่เจ้าของสวนเท่านั้น
เงื่อนไขของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการรับความช่วยเหลือก็คือ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ปลูกยางในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ และเปิดกรีดแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนเท่านั้น อีกทั้งจะต้องขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ก่อนวันที่ 14 พ.ย.61 ด้วย
ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงของการตรวจสอบสิทธิ์และคุณสมบัติ จึงมีชาวสวนยางเดินทางไปที่สาขาของ กยท.เป็นจำนวนมาก อย่างเช่นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มี กยท.สาขายะหา อ.ยะหา จ.ยะลา เป็นต้น
ช่วงของการตรวจสอบสิทธิ์ พบปัญหา 2 อย่าง คือ
1.เจ้าของสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ และมีหลักฐานต่างๆ ครบ แต่กลับไม่มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐ คนกลุ่มนี้จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อ กยท. ตามระเบียบที่กำหนด เช่น ต้องแนบหลักฐานสำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัตรเขียว หรือสมุดทะเบียนเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์และเคยลงทะเบียนกับ กยท.เอาไว้แล้ว นอกจากนั้นต้องมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินตัวจริงและสำเนา รวมทั้งสำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ด้วย
2.เจ้าของสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะทำกินอยู่บนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ของทางราชการรองรับ
สถานการณ์ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหากลุ่มที่ 2 มากกว่ากลุ่มแรก อย่าง สาวีนะ มะนาหิง ชาวสวนยางใน จ.ยะลา เล่าว่า เธอไม่เคยได้รับการช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลเลย เพราะที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ตัวเธอและครอบครัวเสียภาษีเหมือนคนอื่น ที่ผ่านมายางราคาถูก ซ้ำยังฝนตก ทำให้รายได้ไม่พอกับการเลี้ยงชีพ ต้องให้ลูกคนโตลาออกจากโรงเรียน เพราะไม่มีเงินส่งเสีย ส่วนลูกอีกคนก็กำลังตัดสินใจว่าจะให้ออกจากโรงเรียนหรือไม่ เพราะแค่เงินจะทำกับข้าวกินกันในครอบครัวยังไม่มี ต้องยืมเงินเพื่อนบ้านวันละ 20 บาทให้ลูกไปโรงเรียน
"อยากขอโอกาสจากรัฐบาลให้เห็นใจพวกเราบ้าง เราก็ชาวสวนยางเหมือนกัน จ่ายภาษีทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป แต่เราเหมือนถูกเลือกปฏิบัติ ขณะที่ราคาสินค้าแพงทุกอย่าง น้ำมัน ข้าวสาร แพงหมด แถมช่วงนี้ฝนตก ทำอะไรไม่ได้เลย แย่สุดๆ แล้วตอนนี้ จะอดตายกันอยู่แล้ว ก็หวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจและเห็นใจชาวสวนยางอย่างพวกเราบ้าง" สาวีนะ กล่าว
สาวีนะ บอกด้วยว่า มีเพื่อนชาวสวนยางกำลังเก็บรวบรวมข้อมูลชาวสวนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั้งหมด เพื่อยื่นข้อเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือต่อไป
นายสุรชัย บุญวรรโณ รักษาการแทน ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง อธิบายปัญหานี้ว่า เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยเท่าที่ กยท.เคยได้รับแจ้งข้อมูล พบว่ามีประมาณ 3 หมื่นกว่าราย ทั้งที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มีเอกสารสิทธิ์แต่ยังไม่ได้เปิดกรีด
เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลเคยมีโครงการจ่ายเงินอุดหนุนชาวสวนยางแบบเร่งด่วนมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งก็จะมีปัญหาในกลุ่มผู้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน จึงมีการให้ลงทะเบียนเอาไว้ กยท.ถึงทราบจำนวนว่ามีอยู่เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็ไม่มีมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางกลุ่มนี้ออกมา
ขณะที่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่า ยังไม่มีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ คงต้องหารือกับทุกฝ่ายก่อน เพราะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง
แม้ถึงที่สุดแล้วทุกฝ่ายจะเข้าใจรัฐบาลและหน่วยงานรัฐว่า การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันว่าเป็นเจ้าของสวนจริงหรือไม่ แต่ในมุมของผู้ที่เดือดร้อน พวกเขาก็รู้สึกว่าเป็นกลุ่มคนตกสำรวจ และเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ทั้งๆ ที่ชีวิตก็ลำบากไม่แพ้คนอื่นๆ และทำสวนยางหาเลี้ยงชีพเหมือนกัน ก็คงต้องรอดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 2 ชาวสวนยางชายแดนใต้แห่ไปตรวจสอบสิทธิ์เพื่อรับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ
3 สาวีนะ มะนาหิง
4 การยางแห่งประเทศไทย สาขายะหา
อ่านประกอบ :