ชาวสวนยางชายแดนใต้กระอัก เจอไฟแนนซ์ยึดรถอื้อ!
เศรษฐกิจรากหญ้าเข้าขั้นวิกฤติ คือโจทย์ข้อยากของรัฐบาล คสช.ที่ต้องเร่งแก้ไขในปี 61 ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งสาเหตุหนึ่งของปัญหามาจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพาราที่ทำเอาทุกข์สาหัสกันทั้งภาคใต้ โดยเฉพาะปลายด้ามขวานที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วย "ยาง" อย่างแท้จริง
ภาพสะท้อนของสถานการณ์ที่เข้าขั้นตรีทูต คือข้อมูลที่ "ทีมข่าวอิศรา" ได้รับจากเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สินของไฟแนนซ์แห่งหนึ่งในพื้นที่ ปรากฏว่าเฉพาะเดือน ธ.ค.เดือนเดียว ซึ่งขณะนี้ยังไม่หมดเดือนด้วย ไฟแนนซ์ของเขามียอดยึดรถที่ขาดส่งค่างวดจำนวนถึง 540 คัน มีเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน 6 ทีม กระจายกันยึดรถ ทั้งมอเตอร์ไซค์ และปิคอัพ ชุดละ 90 คัน ซึ่งเป็นผลจากราคายางตกต่ำ ทำให้ลูกหนี้ไม่มีเงินผ่อนรถ
นี่คือตัวเลขของไฟแนนซ์เพียงแห่งเดียว!
ศีรวัฒน์ เจ๊ะกา พนักงานฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน บริษัท ชูเกียรติ ลิสซิ่ง ปัตตานี เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ราคายางพาราตกต่ำ ทำให้ชาวสวนยางที่เช่าซื้อรถจากบริษัท อยู่ในภาวะ "ขาดส่งค่างวด" เป็นจำนวนมาก งยอดเดือน ธ.ค.เดือนเดียวมีทั้งหมด 540 คัน พนักงานเร่งรัดหนี้สินต้องติดตามลูกหนี้เกือบทุกวัน เชื่อว่าหากราคายางพารายังอยู่ในสภาพเช่นนี้ ยอดการยึดรถคงจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะเศรษฐกิจในพื้นที่ผูกกับราคายางพารา
"วันนี้เพิ่งยึดรถกระบะเชฟโรเลตแบบแเคป ปี 2011 มาคันหนึ่ง คิดดูว่าผ่อนแค่เดือนละ 2,640 บาท เจ้าของยังผ่อนไม่ทัน สะท้อนว่าเศรษฐกิจในพื้นที่มันแย่ขนาดไหน" ศีรวัฒน์ กล่าว
ขณะที่หัวอกชาวสวนยางอย่าง อับดุลเราะหมาน มามุ ชาวสวนยางใน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี บอกว่า ตั้งแต่ยางถูก ก็ผิดนัดชำระหนี้ธนาคารมาหลายรอบแล้ว ล่าสุดนี้ค่าไฟยังไม่มีจ่ายเลย ค้างมา 2-3 เดือน กำลังจะถูกตัดไฟ
"ผมมีลูก 3 คนที่ยังเรียนหนังสืออยู่ รายได้จากการกรีดยางซึ่งได้วันละ 200 กว่าบาทมันไม่พอจ่าย ยิ่งช่วงนี้อยู่ในช่วงหน้าฝน ทำให้ชาวสวนยางไม่มีรายได้ เพราะกรีดยางไม่ได้ ยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวบ้าน เมื่อราคายางพาราเป็นแบบนี้ก็ต้องทน ตอนนี้ทำได้เพียงลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อย่างรถมอเตอร์ไซค์ที่เคยมี 3 คัน ก็ต้องขาย สิ่งที่ไม่จำเป็นก็ต้องตัดออก เพื่อลดรายจ่าย ปกติให้เงินลูกไปโรงเรียนวันละ 40 บาทต่อคน ก็ต้องลดลงเหลือวันละ 20 หรือ 15 บาท ในเมื่อราคายางพารายังไม่ขึ้น ชาวสวนยางต้องหาวิธีเพื่อให้อยู่รอดไปวันๆ"
"คนที่เป็นเจ้าของสวนยังพออยู่ได้ เพราะไม่ต้องแบ่งเงินกับใคร แต่ที่สงสารคือคนที่รับจ้างกรีดยาง คนกลุ่มนี้เดือดร้อนงมากที่สุด บางคนกรีดยางได้ไม่ถึงร้อยบาท นึกดูสิว่าจะอยู่อย่างไร เพราะว่าข้าวของทุกวันนี้มีแต่ขึ้นราคา ไม่มีลด แต่ราคายางขึ้น 50 สตางค์ แต่ลง 1 บาท"
"การจะเพิ่มรายได้ตอนนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาเพิ่ม อย่างหนี้ ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ก็พักแล้วพักอีก ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะหมดสักที อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ตอนนี้ค้างค่าไฟมา 2-3 เดือนแล้ว ไม่มีเงินจ่าย สุดท้ายคงต้องยอมถูกตัดไฟ" อับดุลเราะหมาน กล่าวอย่างสิ้นหวัง
นี่คือความทุกข์อันแสนสาหัสของชาวสวนยาง...
------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ยางพารา พืชเศรษฐกิจสำคัญที่สุดของจังหวัดชายแดนภาคใต้
2 อับดุลเราะหมาน มามุ
อ่านประกอบ : "ราคายางแบบนี้ ตายไปลูกหลานคงต้องขายสวนทำบุญให้ยาย..."