ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดกรณีสินบนจัดซื้อ 'กริพเพน' แสนล.กระทบปมทุจริตอดีตผู้นำบราซิล
"...จากการเบิกความในปฏิบัติการณ์ซีลอท ทางบริษัทมิตซูบิชิ บราซิล ให้การว่านายเมาโร มาร์คอนเดส ผู้ก่อตั้งบริษัท M&M และอดีตรองประธานสมาคมยานยนต์แห่งชาติบราซิลหรือที่มีชื่อว่า Anfavea นั้นได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทซาบด้วย โดยมีรายงานออกมาอีกชิ้นหนึ่งเมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ระบุว่าเงินที่จ่ายให้กับบริษัท LFT ของนายลุยซ์เป็นจำนวน 2.4 ล้านเรอัลบราซิลดังกล่าวนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของอดีตประธานาธิบดีลูลา ที่จะโน้มน้าวให้อดีตประธานาธิบดีดิลมา ผลักดันโครงการเครื่องกริพเพนต่อไป..."
การจัดซื้อเครื่องบินรบ ยาส 39 กริพเพนของกองทัพอากาศบราซิลจำนวน 36 ลำ มูลค่า 4.68 พันล้านเหรียญสหรัฐ (153,611,640,000 บาท) ในช่วงปี 2557 กำลังถูกจับตามอง !
เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์มูลนิธิ World Peace Foundation (WPF) ซึ่งเป็นมูลนิธิในสังกัดของโรงเรียนสอนกฎหมายและการทูต เฟลทเชอร์ ของมหาวิทยาลัยทัฟส์ (The Fletcher School of Law and Diplomacy at Tufts University) ที่มักมีการมีจัดทำรายงานรวบรวมประเด็นทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธทั่วโลก ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น และพัวพันไปถึงนาย ลูลา ดา ซิลวา อดีตประธานาธิบดีคนที่ 35 ของประเทศบราซิล ซึ่งถูกศาลในประเทศบราซิลมีคำพิพากษาตัดสินเมื่อที่ 12 ก.ค.ให้จำคุกนายลูลาเป็นเวลา 10 ปี ในข้อหารับสินบนและทุจริต และยังเชื่อมโยงข้อมูลไปยังนางดิลมา รุสเซฟ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 36 ของบราซิลด้วย
เนื้อหาในรายงานระบุว่า เครื่องบินรบรุ่นนี้ มีประจำการอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเช่นกัน โดยของประเทศไทยจะเป็นเครื่องรุ่นซีและดี และที่ของบราซิลจะเป็นเครื่องรุ่นอีและเอฟซึ่งที่ผ่านมานั้นกองทัพอากาศบราซิลได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลบราซิลสนับสนุนโครงการเครื่องบินรบรุ่นที่ 4 มาโดยตลอดเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
โดยในช่วงเวลาที่มีการประกวดราคาจัดซื้อปี 2557 นั้น มีเครื่องบินรบคู่เทียบอีก 2 รุ่น ได้แก่ เครื่องบินราฟาลจากฝรั่งเศส และเครื่องบินเอฟ 18 อีเอฟ จากสหรัฐอเมริกา แต่ท้ายที่สุดกองทัพอากาศบราซิลก็ตัดสินใจเลือกเครื่องยาส 39 ไป เพราะเหตุผลด้านความประหยัดในการดูแลรักษา และประหยัดในการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์เกิดขึ้นว่า เครื่องบินรบยาส 39 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบเครื่องยนต์เดียว อาจจะไม่เหมาะสมกับประเทศบราซิลที่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง
ในขณะที่เครื่องเอฟ 18 และเครื่องราฟาลเป็นเครื่องบินรบ 2 เครื่องยนต์ น่าจะลดโอกาสในการเกิดข้อผิดพลาดระหว่างภารกิจการบินได้ดีกว่าเครื่องบินรบเครื่องยนต์เดียว
ซึ่งทางกองทัพอากาศบราซิล ได้ออกมาตอบโต้ข้อวิจารณ์นี้ว่ามีโอกาสน้อยมากที่เครื่องบินรบในรุ่นปัจจุบันนั้นจะเกิดปัญหาเรื่องข้อผิดพลาดทางเครื่องยนต์ขึ้น และยังกล่าวอีกด้วยว่าข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับบริษัทซาบ ผู้ผลิตกริพเพนนั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และเมื่อบริษัทได้พัฒนากริพเพนจนถึงขีดสุดแล้วกองทัพอากาศบราซิลเองก็จะมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องกริพเพนรุ่นล่าสุดเช่นกัน
@ เงื่อนปมความไม่ชอบมาพากล
แม้จะมีคำชี้แจงจากกองทัพอากาศบราซิลออกมา อย่างไรก็ดี มีข้อครหาว่าเครื่องบินกริพเพนนั้นอาจจะมีกรณีทุจริตเกิดขึ้นใน 2 กรณี โดยกรณีแรกนั้นเป็นข้อวิจารณ์ว่าแพคเกจการจัดซื้อมีราคาที่สูงมาก หากเทียบกับการประเมินเมื่อปี 2552 โดยผู้ที่ดำเนินการสอบสวนคือ นายอันเซลโม โลเปซ อัยการ เมื่อเดือน เม.ย. 2558 ตั้งข้อสงสัยว่าราคาแพคเกจนั้นสูงกว่าที่ควรจะเป็นถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (29,544,300,000 บาท) ซึ่งทางกองทัพอากาศบราซิลก็โต้แย้งไปว่าราคาที่พุ่งขึ้นนั้นเป็นเพราะว่าอัตราค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลานับตั้งแต่ปี 2552 และยังรวมไปถึงราคาค่าใช้จ่ายในระบบควบคุมอากาศยานที่มีความเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่จากการสอบสวนเชิงลึกแล้ว ก็ไม่พบกรณีทุจริตแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่ 2 เป็นข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องกับอดีตประธานาธิบดีบราซิลโดยตรง และยังมีการสอบสวนในชั้นศาล โดยนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 นั้นได้มีการสอบสวนว่าการตัดสินใจเลือกเครื่องกริพเพนนั้นอาจจะพัวพันไปถึงกิจกรรมที่ผิดกฎหมายซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายลูลา อดีตประธานาธิบดี ซึ่งมีข้อต่อรองไปยังบริษัทซาบให้จ่ายเงินกับบุตรชายของเขา โดยคาดการณ์กันว่าการจ่ายเงินนั้นอาจจะดำเนินการผ่านตัวบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสอบสวนกับตัวบริษัทแต่อย่างใด
ต่อมาในช่วงเดือน มี.ค. 2558 หน่วยงานสอบสวนของบราซิลได้เริ่มต้นกระบวนการสอบสวนภายใต้ชื่อปฏิบัติการณ์ซีลอทเพื่อตรวจสอบในกรณีการรับสินบนอันเกี่ยวข้องสภาบริหารด้านการอุทธรณ์ภาษี (Administrative Council for Tax Appeal) และบริษัทสัญชาติบราซิลอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้ถูกต้องข้อสงสัยว่าจ่ายเงินให้สภาบริหารเพื่อลดกรณีการเสียภาษีของบริษัท
จากนั้นในเมื่อเดือน ต.ค. 2558 สื่อบราซิลได้รายงานว่าบริษัทให้คำปรึกษาแห่งหนึ่งซึ่งถูกว่าจ้างโดยบริษัทผลิตรถยนต์หลายแห่งในบราซิลนั้นอาจจะพัวพันกับการจ่ายสินบนดังกล่าว โดยบริษัทที่ว่านั้นก็คือบริษัท Marcondes e Mautoniหรือ M&M ได้จ่ายเงินด้วยพฤติการณ์น่าสงสัยให้กับนายลุยซ์ คลาวดิโอ ลูลา เดอซิลว่า บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีลูลา และนายลุยซ์ยังได้เป็นเจ้าของบริษัทการตลาดกีฬาชื่อว่า LFT Marketing Esportivo ซึ่งรับเงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2.4 ล้านเรอัลบราซิล (20,113,554 บาท) จากบริษัท M&M
ทั้งนี้จากการเบิกความในปฏิบัติการณ์ซีลอท ทางบริษัทมิตซูบิชิ บราซิล ให้การว่านายเมาโร มาร์คอนเดส ผู้ก่อตั้งบริษัท M&M และอดีตรองประธานสมาคมยานยนต์แห่งชาติบราซิลหรือที่มีชื่อว่า Anfavea นั้นได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทซาบด้วย โดยมีรายงานออกมาอีกชิ้นหนึ่งเมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ระบุว่าเงินที่จ่ายให้กับบริษัท LFT ของนายลุยซ์เป็นจำนวน 2.4 ล้านเรอัลบราซิลดังกล่าวนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของอดีตประธานาธิบดีลูลา ที่จะโน้มน้าวให้อดีตประธานาธิบดีดิลมา ผลักดันโครงการเครื่องกริพเพนต่อไป
โดยมีการตัดสินใจดำเนินโครงการต่อในช่วงเดือน ธ.ค. 2556 อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้อดีตประธนาธิบดีลูลา และนายลุยซ์บุตรชายต่างต้องโทษในคดีทุจริต, ฟอกเงิน และสมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมอยู่ ขณะที่นายเมาโรและนางคริสติน่า เมาโทนิ ผู้ก่อตั้งบริษัท M&M ก็โดนข้อกล่าวหาด้วยเช่นกัน
ในช่วงเดือน มี.ค. 2561 สื่อโทรทัศน์ ที่นำเสนอข่าวสืบสวนสอบสวนของสวีเดนชื่อว่า Uppdrag Granskning ได้เปิดเผยรายงานออกมาว่าค่าที่ปรึกษาของนายเมาโรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับบริษัทซาบเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านโครน่าสวีเดน (3,623,006 บาท) ไปอยู่ที่ 16 ล้านโครน่าสวีเดน (57,975,160 บาท) ในช่วงเวลาที่มีกระแสข่าวว่านางดิลมา อดีตประธานาธิบดีคนที่ 36 ให้ความสนใจกับเครื่องเอฟ 18 อีเอฟของสหรัฐมากกว่า
นอกจากนี้ อัยการของบราซิลยังได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่านายสเตฟาน เลอเวน นายกรัฐมนตรีสวีเดนคนปัจจุบัน ในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านของสวีเดน ยังได้เคยเขียนจดหมายไปยังอดีตประธานาธิบดีลูลาของบราซิล เมื่อครั้งนายลูลาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของบราซิล โดยในรายละเอียดของจดหมายนั้นเป็นการให้คำรับรองถึงสมรรถนะเครื่องกริพเพนว่ามีความเหมาะสมกับประเทศบราซิล
ทางอัยการยังเชื่ออีกว่านายลูลานั้นน่าจะมีส่วนทำให้ข้อตกลงเรื่องกริเพนสำเร็จไปได้ผ่านการหารือนอกรอบระหว่างนายกรัฐมนตรีสเตฟาน และอดีตประธานาธิบดีดิลมา ที่ได้ไปพบปะกันในงานศพของนายเนลสัน แมนเดลลา ที่ประเทศแอฟริกาใต้ปี 2556
ทั้งนี้ นายสเตฟานได้ให้การเกี่ยวกับคดีนี้เอาไว้ด้วยว่าการให้คำรับรองเกี่ยวกับสมรรถนะของเครื่องบินกริพเพนของเขาถือว่าเหมาะสมแล้ว ในฐานะที่เขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยสังคม( Social Democrats) และนายกรัฐมนตรีของสวีเดนในเวลาต่อมา
ขณะที่พลโท จูนิติ ไซโต อดีตผู้บังคับบัญชาการกองทัพอากาศบราซิล ก็ยังออกมาให้การเมื่อเดือน ส.ค. 2560 ด้วยว่า อดีตประธานาธิบดีลูลาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเหล่านี้แต่อย่างใด ส่วนอดีตประธานาธิบดีดิลมาซึ่งออกจากตำแหน่งในปี 2559 ก็ได้ยืนยันว่าตัวเธอไม่ได้เคยไปพูดคุยกับอดีตประธานาธิบดีลูลาเลยในกรณีดังกล่าวนี้ และยังเกือบจะต้องยกเลิกข้อตกลงการซื้อกริพเพนด้วยซ้ำ ในช่วงการเจรจาต่อรองราคาในปี 2558
ณ ปัจจุบันการสอบสวนกรณีสินบนแพคเกจเครื่องกริพเพนคดีนี้ยังคงดำเนินต่อไป บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร คงต้องรอดูกันต่อไป
(เรียบเรียงจากเว็บไซต์ : https://sites.tufts.edu/corruptarmsdeals/brazils-gripen-influence-case/)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯสอบสวน ปมเอี่ยวฟอกเงินเกาหลีเหนือ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ปธ.ANOC ลงจากตำแหน่ง หลังถูกสอบปลอมแปลงกระบวนการอนุญาโตฯ จัดโอลิมปิก