โอกาสฆ่าตัวตายของผู้ป่วยมะเร็ง
"...นอกเหนือไปจากความพยายามที่จะพัฒนาเรื่องการรักษามะเร็งด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้าต่างๆ แล้ว เราจึงเริ่มเห็นความพยายามในการขับเคลื่อนกลไกดังกล่าวมากขึ้นในปัจจุบัน อาทิ การรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน ที่ชุมชน การตายอย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนการพัฒนาระบบการดูแลและให้กำลังใจกันและกันของผู้ป่วย..."
Henson KE และคณะตีพิมพ์งานวิจัยที่ศึกษาในผู้ป่วยจำนวนกว่า 4 ล้านคนในประเทศอังกฤษ ในวารสารระดับสากล JAMA Psychiatry เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้
ผลการศึกษานี้น่าสนใจ เพราะจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงญาติของผู้ป่วยได้ระมัดระวัง และวางแผนช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายได้
ผลเป็นอย่างไรบ้าง?
หากเทียบกับการป่วยเป็นโรคอื่นๆ แล้ว ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 20
โอกาสฆ่าตัวตายจะสูงสุดในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง
โอกาสฆ่าตัวตายจะยังคงสูงกว่าโรคอื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงระยะเวลาประมาณ 3 ปี หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง
มีแนวโน้มที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะฆ่าตัวตาย หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย (ระยะที่ 4) มากกว่าระยะอื่นๆ
โรคมะเร็งชนิดที่พบการฆ่าตัวตายมากในลำดับต้นๆ คือ เยื่อหุ้มปอด ตับอ่อน หลอดอาหาร และปอด
กลไกการสนับสนุนและดูแลการใช้ชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งนั้นมีความสำคัญยิ่ง ตั้งแต่ในโรงพยาบาลและไปจนถึงระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม เพราะโรคมะเร็งชนิดต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก จากผลของวิถีชีวิต อายุขัยของประชากร และปัจจัยแวดล้อมทางสังคม
นอกเหนือไปจากความพยายามที่จะพัฒนาเรื่องการรักษามะเร็งด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้าต่างๆ แล้ว เราจึงเริ่มเห็นความพยายามในการขับเคลื่อนกลไกดังกล่าวมากขึ้นในปัจจุบัน อาทิ การรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน ที่ชุมชน การตายอย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนการพัฒนาระบบการดูแลและให้กำลังใจกันและกันของผู้ป่วย
โดยแท้จริงแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งนั้นก็เหมือนโรคอื่นๆ มีทั้งที่รักษาหาย หรือไม่หาย และทุกคนย่อมอยากที่จะยังคงมีความเป็นมนุษย์ มีคุณค่า และไม่อยากเป็นภาระหรือรู้สึกว่าเป็นตัวปัญหาให้แก่ลูกหลาน
อ้างอิงจาก : Henson KE et al. Risk of Suicide after Cancer Diagnosis in England. JAMA Psychiatry. Published online November 21, 2018.doi:10.1001/jamapsychiatry.2018.3181
ที่มา : Thira Woratanarat
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก สปริงนิวส์