“หัวเหว่ย” หนามยอกอก อเมริกา: กล่องดวงใจของจีน
ขณะที่จีนใช้ยุทธศาสตร์ทุ่มสรรพกำลัง งบประมาณเพื่อก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ดูเหมือนว่า สหรัฐฯ กลับเลือกใช้บทบาทการเป็นตำรวจโลกอย่างที่เคยใช้ได้ผลในอดีต สกัดกั้นการเติบโตของจีน แทนที่จะใช้ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนางานวิจัย และพัฒนา ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการรักษาสถานภาพการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีเอาไว้
ข่าว คาร์ลอส กอส์น ประธานบริษัทนิสสันถูกจับที่ญี่ปุ่นข้อหาปกปิดรายได้ยังไม่ทันจางหายไปจากกระแสก็มีข่าว เหมิง หวันโจว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินของบริษัท หัวเหว่ย ลูกสาว เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเหว่ย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ถูกจับกุมที่สนามบินนานาชาติในนครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาในอีกไม่กี่วันต่อมา ตามคำขอของสหรัฐอเมริกา
เท่ากับว่ามีผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกสองคนถูกจับในเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยข้อหาที่ต่างกัน
การถูกจับของ คาร์ลอส กอส์น ด้วยข้อหาทุจริตนั้นเป็นเรื่องที่สังคมเข้าใจได้และไม่น่าจะมีประเด็นต่อเนื่องจนส่งผลกระทบไปยังเรื่องอื่น แต่การที่ เหมิง หวันโจว ถูกจับนั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่ มีปฏิกิริยาโต้ตอบทางการทูตและมีการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวของชาวจีนกลุ่มหนึ่ง ในที่สุดแม้ศาลแคนาดาจะให้ประกันตัว เหมิง หวันโจว ออกมาแล้วอย่างมีเงื่อนไขก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ยุติแบบเบ็ดเสร็จและมีความอ่อนไหวที่จะกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศต่อไป หากสหรัฐอเมริกายังคงเคลื่อนไหวในเชิงกดดันหัวเหว่ย โดยมีแคนาดาเข้าร่วมวงด้วย
ในอดีตคนในวงการโทรคมนาคมในประเทศไทยยังไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์จากประเทศจีนมากนัก เพราะอุปกรณ์โทรคมนาคมในบ้านเราถูกยึดครองโดยบริษัทฝรั่งและญี่ปุ่นตลอดมา นับตั้งแต่กำเนิดกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยก็ว่าได้
จนกระทั่งหลังจากปี 2545 เป็นต้นมา บริษัท หัวเหว่ย เริ่มเข้ามามีบทบาทและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการโทรคมนาคมในประเทศไทยมากขึ้น
ด้วยคุณภาพที่ไม่ด้อยกว่าอุปกรณ์ของฝรั่งหรือญี่ปุ่น ราคาที่สมเหตุผล การตลาดแบบถึงลูกถึงคน และบริการหลังการขายที่ไม่แพ้เจ้าตลาดเดิม จึงทำให้หัวเหว่ยเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดโทรคมนาคมเมืองไทยและกลายเป็นบริษัทที่มีอุปกรณ์ ระบบชุมสายโทรศัพท์ ระบบสื่อสัญญาณ โครงข่ายอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ครองตลาดมากที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทยก่อนที่หัวเหว่ยจะส่งอุปกรณ์ประเภทโทรศัพท์มือถือเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดด้วยในภายหลัง
ไม่เฉพาะผู้ประกอบการในเอเชียเท่านั้นที่หันมาใช้อุปกรณ์ของ หัวเหว่ย ประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆทั่วโลกล้วนเป็นลูกค้าของหัวเหว่ยอยู่จำนวนไม่น้อย การเดินทางของหัวเหว่ยออกไปต่างถิ่น จึงไม่ต่างจากการเดินทางของบริษัทโทรคมนาคมของญี่ปุ่นที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
การที่หัวเหว่ยสามารถเจาะตลาดโทรคมนาคมสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรอื่นๆได้ ทำให้เกิดความกังวลต่อเรื่อง การโจมตีทางไซเบอร์(Cyber-attacks) หรืออาจขยายขอบเขตไปจนถึงคำว่า สงครามไซเบอร์(Cyber war) ซึ่งเชื่อกันว่า รัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลังได้ บริษัทหัวเหว่ยมักถูกกล่าวหาอยู่เสมอว่า มีการใช้อุปกรณ์สอดแนมที่เรียกกันว่าประตูลับ (Backdoor) ติดตั้งไว้ในอุปกรณ์ของตัวเองที่ขายให้กับประเทศต่างๆเพื่อเป็นช่องทางให้รัฐบาลจีนสามารถเข้าไปสอดแนม แต่หัวเหว่ยปฏิเสธตลอดมาว่า เรื่องที่มีการกล่าวหานั้นไม่มีมูลความจริง
การเติบโตและการเคลื่อนไหวของ หัวเหว่ย จึงถูกจับตามองจาก กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ดวงตาห้าคู่ (Five Eyes group) ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา แทบทุกฝีก้าว ดังนั้นการที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของหัวเหว่ยถูกจับโดยรัฐบาลแคนาดาจึงสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และท่าทีของพันธมิตรกลุ่มนี้ที่ส่งไปถึงรัฐบาลจีนได้ระดับหนึ่ง
นอกจากความแนบแน่นในกลุ่มห้าพันธมิตรที่ได้ยกเลิกหรือกำลังพิจารณายกเลิกการค้าขายกับหัวเหว่ยในบางโครงการโดยเฉพาะโครงการทดลองเทคโนโลยีไร้สาย 5G แล้ว เสียงอันทรงอิทธิพลของกลุ่มดวงตาห้าคู่ยังแผ่ไปถึงประเทศ เยอรมัน ญี่ปุ่น อีตาลี และอินเดียต่อการตัดสินใจจะเลือกหรือไม่เลือกใช้อุปกรณ์ของหัวเหว่ยในการทดสอบและสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
ความกังวลต่อการแผ่อิทธิพลของจีนผ่านบริษัทหัวเหว่ยของ รัฐบาลอเมริกัน มิใช่เป็นเรื่องของการชิงดีชิงเด่นกันในทางการค้าเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญคือความกังวลต่อการโจมตีทางไซเบอร์ผ่านทางอุปกรณ์สื่อสารของหัวเหว่ย ซึ่งสหรัฐอเมริกาเห็นว่า เป็นภัยคุกคาม รวมทั้งความกังวลต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้าน ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ Internet of Thing( IoT ) และโทรศัพท์ไร้สาย จะทำให้จีนและบริษัท หัวเหว่ยขึ้นแท่นเป็นผู้นำของโลกด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และโทรคมนาคมในที่สุด แทนที่จะเป็น AT&T หรือ Verizon ของสหรัฐอเมริกา
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมสหรัฐอเมริกาจึงต้องสกัดกั้นการเติบโตของหัวเหว่ยที่กำลังรุกคืบเข้าไปยังกลุ่มดวงตาห้าคู่ รวมทั้งในประเทศอื่นๆ ที่มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังทุกรูปแบบทั้งในทางลับและอย่างเปิดเผย
นอกจากประเด็นสำคัญที่สหรัฐอเมริกาเห็นว่า จีนคือภัยคุกคามทางไซเบอร์และเป็นคู่แข่งสำคัญทางเศรษฐกิจแล้ว สหรัฐอเมริกายังตั้งข้อสงสัยต่อ บริษัท หัวเหว่ย ในแง่มุมอื่นๆ อีกอย่างน้อยที่สุด 3 ประเด็น คือ
- หัวเหว่ยเป็นบริษัทเอกชน แต่ตัวผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเหว่ยมีความเชื่อมโยงที่ซับช้อนและคลุมเครือกับรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีน
- เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว บริษัท หัวเหว่ย ยอมรับว่า ได้แอบคัดลอก Source code ของอุปกรณ์สวิทช์และเราเตอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ของบริษัท ซิสโก ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ของสหรัฐอเมริกา
- บริษัทหัวเหว่ยไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดของอุปกรณ์ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตจีนและยอมรับว่า อุปกรณ์เหล่านั้นไม่มั่นคงต่อการโจมตีทางไซเบอร์
ข้อสงสัยข้างต้นจึงอาจเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดี ทรัมป์ และพันธมิตรตั้งแง่คอยจับผิด หัวเหว่ย อย่างไม่วางตา ทั้งๆที่ครั้งหนึ่ง เอ็ดเวิร์ด สโนเดน เคยออกมาเผยความลับว่า ตัวของสหรัฐอเมริกาเองนั้นก็มีพฤติกรรมการสอดแนมทางไซเบอร์ไม่ได้แตกต่างจากข้อกล่าวหาที่มีต่อจีนว่าคอยสอดแนมโครงข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเลย
รัฐบาลจีนประกาศให้โลกรับรู้อยู่เสมอว่า การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของจีนนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพ แต่จีนเห็นว่า วิธีที่เป็นไปได้จากการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางคือการมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยเริ่มต้นจากการรับและนำเทคโนโลยีต่างๆมาปรับใช้กับสังคมจีนรวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาของท้องถิ่น
ท่าทีของจีนที่แสดงออกจึงมีนัยสำคัญว่า จีนจะไม่ใช้กำลังทางทหารเพื่อแผ่อิทธิพลแต่จะเน้นด้านการลงทุนและการเป็นพันธมิตรทางการค้ากับประเทศอื่นๆทั่วโลก ผ่านโครงการ เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) ดังนั้นข้อกล่าวหาหรือท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อจีนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี จึงดูเหมือนขัดแย้งกันกับสิ่งที่จีนได้แสดงออกตลอดมา
ความมุ่งมั่นของจีนต่อการพัฒนาเทคโนโลยีกำลังจะทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในอีก 2-3 ปีจากนี้ไป โดยมีวาระสำคัญที่เรียกว่า “Made in China 2025” รออยู่ข้างหน้าและบริษัทหัวเหว่ย คือ หนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายการเป็นผู้นำเทคโนโลยีไร้สาย 5G ของจีนไปสู่ความสำเร็จได้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ต้องการที่จะรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมของโลกไว้ด้วยเช่นกัน
การขับเคี่ยวกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งกำลังหายใจรดต้นคอเพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยีโครงข่ายโทรศัพท์ไร้สาย 5G ที่มีบริษัทหัวเหว่ยเป็นผู้นำทัพ จึงเป็นเสมือนการขับเคี่ยวเพื่อแย่งชิงรางวัลเกียรติยศที่ทั้งคู่หมายมั่นปั้นมือที่จะคว้ามาไว้ในครอบครอง
แต่วิถีทางในการแข่งขันของทั้งคู่กลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่จีนใช้ยุทธศาสตร์ทุ่มสรรพกำลังและงบประมาณเพื่อก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ดูเหมือนว่า สหรัฐอเมริกากลับเลือกใช้บทบาทการเป็นตำรวจโลกอย่างที่เคยใช้ได้ผลในอดีต สกัดกั้นการเติบโตของจีน .แทนที่จะใช้ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนางานวิจัยและการเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการรักษาสถานภาพการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีเอาไว้
บริษัท หัวเหว่ย จึงกลายเป็นหนามยอกอกของสหรัฐอเมริกามาโดยตลอดและกลายเป็นเป้าโจมตีที่หวังผลกระทบไปยังรัฐบาลจีนโดยตรงด้วย เพราะนอกจากหัวเหว่ยจะเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญและเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์แล้ว หัวเหว่ยยังเป็นกลไกสำคัญของจีนต่อการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีด้านไร้สายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สหรัฐอเมริกาจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาหน้าตัวเองและรักษาความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยีของโลกเอาไว้ แม้รู้อยู่เต็มอกว่าการเล่นงาน หัวเหว่ย ในครั้งนี้ตัวเองเสี่ยงที่จะถูกมองว่ากำลังเล่นนอกเกมก็ตาม
อ้างอิง
1. Data and Goliath, Bruce Schneier
2. https://www.aljazeera.com/news/2018/12/countries-banning-huawei-181206130850129.html
3. http://knowledge.wharton.upenn.edu/article/making-sense-war-huawei/?utm_source=kw_newsletter&utm_medium=email&utm_campaign=2018-12-11
ภาพประกอบ
https://www.google.com/search?q=huawei+cfo&client=firefox-b&source=lnms&tbm=isch&sa=X&ved=0ahUKEwjvgtnAq5_fAhUHtY8KHa4RBeUQ_AUIDigB&biw=1138&bih=545#imgrc=QWgUT-6JGO2iQM: