รู้จักต้นกำเนิดคำศัพท์ทางการเมือง “โรคร้อยเอ็ด”
อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคม เล่าว่า ไปนั่งดูพลเอก เกรียงศักดิ์ หาเสียงในตลาด พลเอกเกรียงศักดิ์ เดินนำขบวน ตามด้วยดาราละครโทรทัศน์ แล้วตามหลังด้วยคนถือกระเป๋า กำเงินใบละร้อยเดินแจกไปเรื่อย
โรคร้อยเอ็ด ถูกพูดถึงอีกครั้งในเวทีเสวนาสาธารณะ “สวัสดิการประชาชน และมาตรการแก้จนของรัฐบาล บนโจทย์วินัยทางการคลัง” ณ ห้อง Conference room ชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ โดยผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่างของวิธีการหาเสียงของนักการเมืองไทยในอดีต พร้อมกับมองว่า ถ้าเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาจะรู้ว่า วิธีการหาเสียงของนักการเมืองไทยยุคปัจจุบันนั้น แสนจะปกติ (อ่านประกอบ:ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ :500 บาท/หัว นี่คือราคาตลาดการซื้อเสียงในประเทศไทย)
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นโรคร้อยเอ็ด จากฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียง โดย รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต ระบุว่า โรคร้อยเอ็ด เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์การใช้เงินซื้อเสียงในการเลือกตั้ง
ในความเป็นจริงแล้ว การซื้อเสียงในการเลือกตั้งคงจะมีมานานแล้ว แต่ที่มีความรุนแรงมากเป็นพิเศษ จนมีการเรียกขานกันว่า “โรคร้อยเอ็ด” ในการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดร้อยเอ็ด เขตหนึ่ง วันที่ 9 สิงหาคม 2524
เหตุที่จะมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดจาก นายสมพร จุรีมาศ ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ดถึงแก่กรรมในเดือนพฤษภาคม 2524 จึงต้องมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้นภายใน 90 วัน การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคชาติประชิปไตย ประสงค์จะแจ้งเกิดในทางการเมือง เพื่อท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญมากที่ฝ่ายรัฐบาลจะต้องหาทางปกป้องฐานะของตนไม่ให้แย่งชิงไป ส่วนทางฝ่ายพลเอก เกรียงศักดิ์ ก็ถือเป็นเรื่องที่แพ้ไม่ได้ เพราะเป็นนักการเมืองใหญ่ จึงต้องทุ่มตัวต่อสู้อย่างเต็มที่
ส่วนทางฝ่ายรัฐบาลส่ง พ.ต.ท. บุญเลิศ เลิศปรีชา นักการเมืองที่มีความช่ำชองทางการเมืองตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคกิจสังคม ลงแข่งขันในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้
อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคม เล่าว่า ไปนั่งดูพลเอก เกรียงศักดิ์ หาเสียงในตลาด พลเอกเกรียงศักดิ์ เดินนำขบวน ตามด้วยดาราละครโทรทัศน์ แล้วตามหลังด้วยคนถือกระเป๋า กำเงินใบละร้อยเดินแจกไปเรื่อย
ทางอาจารย์เกษม ให้คนคอยดักถ่ายรูปไว้ พอได้รูปก็พากันเดินขึ้นศาลากลางเพื่อร้องเรียนว่ามีการแจกเงินในการหาเสียง ปรากฏว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอต่างลาราชการกันหมด
ต่อมาตอนเย็นก่อนการเลือกตั้ง ฝ่ายพรรคชาติประชาธิปไตยตั้งโต๊ะที่ร้านกาแฟริมบึงพระรามแจกเงินอย่างเปิดเผย จึงบุกขึ้นไปบนโรงพักเพื่อแจ้งความว่า มีการกระทำผิดกฎหมาย ปรากฏว่า โรงพักร้าง คงคาดได้แล้วว่าจะมีการแจ้งความดำเนินคดี ตำรวจเลยทิ้งโรงพักหนี
เจ้าเมืองก็ทิ้งเมือง ตำรวจก็ทิ้งโรงพัก เพราะกลัวเกรงบารมีนักการเมืองระดับอดีตนายกรัฐมนตรี ปล่อยให้ลอยนวลแจกเงินซื้อเสียงกันได้อย่างเย้ยฟ้าท้าดิน
โรคนี้ได้ระบาด เป็นการซื้อสิทธิขายเสียงทั่วประเทศ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองของชาวบ้านคนไทยที่ต้องมีเงินมีทองหรือข้าวของติดไม้ติดมือเมื่อถึงฤดูเลือกตั้ง
และนี่คือ เรื่องเล่ากันติดปากถึงยุคปัจจุบัน พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 15 อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตย เป็นนักการเมืองที่ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า อินทรีบางเขน และเป็นต้นกำเนิดของคำศัพท์ทางการเมืองว่า “โรคร้อยเอ็ด”