แก้เหลื่อมล้ำ โอน แจกเงิน คนจน ดร.สมชัย ชี้ต้นทุนต่ำ บรรเทาผลกระทบได้ตรงจุดกว่า
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้เนื้อแท้แจกเงินคนจน คือ นโยบายหาเสียง ทำก่อนเลือกตั้ง ยกความสำเร็จประเทศกลุ่ม OECD ลดความเหลื่อมล้ำเห็นผล เพราะใช้จ่ายเงินด้านสังคมสูงกว่าไทยมาก 20% ของ GDP ขณะที่ของไทยใช้จ่ายงบฯ ด้านสังคมเพียง 7.8% ของ GDP แนะไทยเพิ่มงบฯ ด้านสังคม โดยไปลดงบฯ ป้องกันประเทศ เพิ่มรายได้ภาษีจากฐานทรัพย์สิน ปรับค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำนโยบาย Earmark สู่รายจ่ายด้านสังคมเพื่อผู้มีรายได้น้อย
วันที่ 14 ธันวาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “สวัสดิการประชาชน และมาตรการแก้จนของรัฐบาล บนโจทย์วินัยทางการคลัง” ณ ห้อง Conference room ชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ
ตอนหนึ่งในเวที ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ด้านรายได้และความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน เป็นวงจรอุบาทก์คนละเรื่องแต่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐไทยมีนโยบายด้านรายได้อยู่บ้าง แต่นโยบายด้านทรัพย์สินเกือบไม่มี หรือมีก็น้อยมาก
"รัฐไทยกับคนจน ยุคแรกของการพัฒนารัฐไทยไม่มีนโยบายเรื่องความยากจนเลย จากนั้นก็มีนโยบายพัฒนาชนบท ที่ไม่ใช่นโยบายความจนเสียทีเดียว มีสงเคราะห์เป็นครั้งคราว รวมๆ ใช้งบประมาณไม่มากนัก จนก่อให้เกิดวาทกรรมรัฐไทยไม่เห็นหัวคนจน นี่คือคำอธิบายรัฐไทยได้ดีตั้งแต่แผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 1"
หลังยุครัฐบาลไทยรักไทย ดร.สมชัย กล่าวว่า รัฐไทยหลังยุคนั้น มีนโยบายเห็นหัวคนจนมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม รูปแบบแตกต่างกันไป
"จริงๆ แล้วภาครัฐมีศักยภาพสูงมากในการลดความเหลื่อมล้ำ ยกตัวอย่างประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) ความเหลื่อมล้ำจากเกิดกลไกตลาดไม่ได้น้อยกว่าไทย มือใครยาวสาวได้สาวเอา ที่ดูดีกว่ารัฐเพราะรัฐเข้าไปแทรกแซง เก็บภาษีแบบก้าวหน้า ใช้เงินเพื่อประชาชนชาวรากหญ้า"
ดร.สมชัย กล่าวถึงการโอนโอน แจกเงินว่า สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้มาก เพราะการให้เป็นเงินสามารถบรรเทาผลกระทบได้ตรงจุดกว่า เพราะแต่ละครอบครัวมีความต้องการที่เกิดจากความจนไม่เหมือนกัน การไม่แจกเงิน แล้วไปแจกอาหาร อาจไม่ตอบโจทย์ทุกครอบครัว
"จะให้เบ็ด หรือให้ปลา ทุกคนแทบจะตอบต้องให้เบ็ด ห้ามให้ปลา ผมอยากให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า การให้ปลาทำให้เขาหลุดพ้นความยากจนขึ้นมาก่อน และสร้างเบ็ดด้วยตัวเองได้ตรงกับที่เขาต้องการใช้"
การโอนเงิน แจกเงิน ดร.สมชัย กล่าวว่า มีต้นทุนการบริหารจัดการต่ำกว่ามาก เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ไปซื้อของร้านธงฟ้า มีเครื่องรูดบัตร ก็จะมีต้นทุนบริหารจัดการสูงกว่า แต่หากแจกเงินต้นทุนจะต่ำกว่า "ผมไม่เห็นด้วยแจกเงินกับทุกคน และต้องแจกไม่เยอะจนเกินไป"
ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวเพิ่มเติมภาครัฐของประเทศในกลุ่ม OECD ประสบความสำเร็จลดความเหลื่อมล้ำนั้น ใช้จ่ายเงินด้านสังคมสูงกว่าไทยมาก 20% ของ GDP ขณะที่ของไทยใช้จ่ายงบประมาณด้านสังคมเพียง 7.8% ของ GDP ซึ่งไทยต้องเพิ่มงบประมาณด้านสังคมอีกปีละ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ได้ 10% ของ GDP โดยนโยบายการคลังให้ไปลดงบประมาณในการป้องกันประเทศ งบทางการทหาร และรายจ่ายทางด้านเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลไปยุ่งเรื่องเศรษฐกิจมากเกินไปหลายเรื่องต้องให้เอกชนทำมากขึ้น รวมถึงการไปเพิ่มรายได้ภาษีจากฐานทรัพย์สิน ปรับค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ทำนโยบาย Earmark สู่รายจ่ายด้านสังคมเพื่อผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น
ดร.สมชัย กล่าวถึงการบริหารประเทศ 4 ปี รัฐบาลคสช.ได้ช่วยเหลือเกษตรกรต่อไร่ มีนโยบายทดแทนจำนำข้าว โอนเงินลงพื้นที่ เช่น การเติมเงินกองทุนหมู่บ้าน ช่วยเหลือเอสเอ็มอี วิสาหกิจกองทุนประชารัฐ ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตกปีละหนึ่งแสนล้า
"ผมมองว่า เป็นรายจ่ายด้านสังคมดูไม่เยอะ น้อยกว่ากลุ่มประเทศ OECD แต่ประเด็นคำถามคือ มีการใช้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เพราะยังเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณอยู่ ผ่าน ธ.ก.ส. และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง คุณภาพการศึกษาไม่ได้ดู ไม่ได้มีนโยบายเตรียมคนจำนวนมากที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อีกทั้งยังมีข้อสงสัยการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนด้วย"
ขณะที่มาตรการล่าสุดของรัฐบาล คสช. ดร.สมชัย กล่าวด้วยว่า เนื้อแท้คือการแจกเงิน "ผมไม่เชียร์ เพราะเป็นนโยบายหาเสียง เป็นนโยบายครั้งเดียว เกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง และไม่ได้มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะอ้างช่วยเรื่องผู้สูงอายุ เป็นเหตุผลพอฟังได้ แต่ทำไมถึงทำครั้งเดียว การหาเสียงเป็นเรื่องปกติในระบบการเมือง มองว่า ไม่น่ารังเกียจไม่ถึงขนาดนั้น หากสามารถพัฒนาสู่นโยบายถาวรได้
พร้อมกันนี้ มีข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมืองต้องยึดทัศนคติต่อคนจนที่ถูกต้อง คือการสร้างความเข้มแข็งให้คนจน เสนอนโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ แยกกลุ่ม ฐานะ จริงจังในการหารายไ้ด้เพิ่ม โดยรัฐต้องรณรงค์ปรับทัศนคติของคนในสังคมให้ร่วมมือรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ยอมจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น โดยรัฐให้ความเชื่อมั่นว่าจะใช้งบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง สุดท้ายพรรคการเมืองต้องบอกประชาชนว่า นโยบายใช้หาเสียงมีต้นทุนทางการคลังเท่าไหร่ จะลดความเหลื่อมล้ำได้มากเพียงใด เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ภายหลัง