ตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่ง สภาพัฒน์ฯ แถลงยันไม่กังวลความสามารถในการชำระ
สภาพัฒน์ ชี้สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยไตรมาสสาม ปี 2561 เกินกว่าครึ่งเป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร 'ที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์ รถจักรยานยนต์' ระบุชัดแม้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่น่ากังวล
วันที่ 13 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยในไตรมาสสาม ปี 2561 เพิ่มเติม
นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ไตรมาสสอง ปี 2561 (ข้อมูลล่าสุด) หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 12.34 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เทียบกับร้อยละ 3.8 และ 4.6 ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ต่ำ และความต้องการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่กลางปี 2560 เป็นต้นมา หลังจากเริ่มสิ้นสุดเงื่อนไขการถือครองรถยนต์อย่างน้อย 5 ปี ก่อนการโอนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ตามนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก (สิ้นสุดเงื่อนไขวันที่ 31 ธันวาคม 2560)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างช้า ๆ จากสัดส่วนที่สูงสุดในปี 2558 ร้อยละ 80.8 ลดลงเป็นร้อยละ 79.3 และ 78.05 ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ และเป็นร้อยละ 77.5 ในไตรมาสสองปี 2561
วัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร จากข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ให้กับครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสสามปี 2561 สัดส่วนประมาณร้อยละ 73.0 ของสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ให้กับครัวเรือนรวม เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอื่น ๆ ดังนั้นจึงเป็นการก่อหนี้ที่ทำให้เกิดการสะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน (สัดส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เท่ากับร้อยละ 51.5 และสัดส่วนกไารให้สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เท่ากับร้อยละ 23.8) โดยสินเชื่อที่ให้กับการซื้อที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และ 12.5 ตามลำดับ สำหรับสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ (สัดส่วนร้อยละ 25.8) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7
แม้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นแต่ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่น่ากังวล ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ชะลอลงจากร้อยละ 10.3 สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมและ NPL อยู่ร้อยละ 2.73 และร้อยละ26.80 ใกล้เคียงกับร้อยละ 2.72 และร้อยละ 26.22 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ
"การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อเกิน 3 เดือนของบัตรเครดิตลดลงร้อยละ 0.2 และของสินเชื่อภายใต้การกำกับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7"
ปัญหาหนี้สินครัวเรือนยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจาก
(1) มูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากมีปัจจัยภายนอกมากระทบอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนได้ โดยเฉพาะ 1) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และ 2) สินเชื่อซื้อ/ เช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคบุคคลอื่น ๆ ที่ค่อย ๆ เร่งตัวขึ้น ตามมาตรการส่งเสริมการขายที่จูงใจผู้บริโภคและอาจทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่ม
และ (2) ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงิน (Fin-tech) ที่ทำให้มีความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น ซึ่งหากขาดความตระหนักในการมีวินัยทางการเงิน รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการด้านการเงิน อาจนำไปสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินความสามารถในการหารายได้ และความสามารถในการชำระหนี้สิน