'บัน คี มูน' แนะภาคเอกชน ให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ-รับผิดชอบต่อสังคม
บัน คี มูน ร่วมเปิดตัว สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย แนะภาคเอกชนไทย ตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ-ความรับผิดชอบต่อสังคม
วันที่ 13 ธันวาคม สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Local Network Thailand:GCNT) ซึ่งก่อตั้งจากการรวมตัวของ 15 องค์กรเอกชนชั้นนำของประเทศไทย เป็นสมาชิก UN Global Compact จัดงานเปิดตัวสมาคมฯ อย่างเป็นทางการ ณ ห้องแกรนบอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ถนนเพลินจิต
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงาน กล่าวตอนหนึ่งถึงบทบาทภาคเอกชนไทย ที่มีการขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ นั้น การเคารพสิทธิมนุษยชน สร้างมาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไทยพึงปฏิบัติ และถือเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ด้วย
นายวิษณุ กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030 ก็จะยังมีคนบางส่วนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ฉะนั้นภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญทำให้บรรลุเป้าหมาย UN SDG ได้
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของโลกและประเทศไทยไม่ได้แตกต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาค่อนข้างน้อย เรียกว่า ต่างคนต่างทำ และแปลการพัฒนาที่ยั่งยืนแตกต่างกัน
"เชื่อว่า การมีสมาคมฯ จะทำให้ภาคเอกชนมีเป้าหมายแก้ปัญหาใหญ่ๆร่วมกัน ทำงานเป็นเครือข่าย ทำงานกับผู้ค้าตลอดห่วงโซ่"
นายศุภชัย กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDG) 1 ใน 17 ข้อ ข้อ 17 คือ Partnership หรือหุ้นส่วนร่วมกัน เราจึงจำเป็นต้องทำงานเชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม
จากนั้นนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า โลกเราทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นำมาซึ่งความไม่มั่นคง และความเสี่ยงหลายประการ รวมถึงมีความท้าทายเกิดขึ้น
"โลกกำลังเต็มไปด้วยความเกลียดชัง มีการตั้งกำแพงภาษี เพื่อกีดกันสินค้า การออกนโยบายกีดกันการทางค้า นโยบายชาตินิยมส่งผลให้เกิดการเกลียดชังคนต่างชาติ ขณะที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กลับถูกตัดงบประมาณลง" อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าว และว่า แม้โลกจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดูเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปเป็นอันมาก
นายบัน คีมูน กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่โลกก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สหประชาชาติหรือประเทศต่างๆ ลำพังไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของ UN SDG ได้ ฉะนั้น การเป็นหุ้นส่วนโลกจึงสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคสังคม
ส่วนบทบาทของธุรกิจไทย นายบัน คี มูน กล่าวว่า ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจากนี้ต้องตระหนักถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญต่อทำธุรกิจ รวมไปถึง ความรับผิดชอบต่อสังคม
ทั้งนี้ ช่วงท้าย นายบัน คี มูน กล่าวเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ภาวะโลกร้อน น้ำทะเลขยับตัวสูงขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มนุษย์จะเจอรูปแบบภัยธรรมชาติที่คุกคามมากขึ้น และบ่อยขึ้น ดังนั้นภาคเอกชนต้องนำเสนอแนวทางแก้ไข เตรียมรับมือกับปัญหาเร่งด่วนที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่
"มนุษย์ควรอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน มนุษย์ต้องปรับตัว และทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อมั่น เครือข่ายฯ นี้ในไทยทำให้โลกเต็มไปด้วยความดีงาม เราสามารถร่วมกันสร้างโลกให้ดีขึ้นเพื่อคนรุ่นหลัง ถือเป็นความรับฺผิดชอบของคนทุกคน"