สุภัทรา นาคะผิว: รัฐต้องแทรกแซง คุมค่ารักษา-ราคายา รพ.เอกชน
“คงไม่มีใครอยากเจ็บอยากป่วย และจริง ๆ ไม่มีที่ไหนปล่อยเสรีแบบนี้ เพราะยิ่งทำให้ฉุดราคาในระบบหลักประกันสุขภาพ และดึงทรัพยากรด้วย ทำให้ยิ่งมีปัญหาทั้งระบบ เพราะฉะนั้นการให้ประกาศราคาบนเว็บไซต์จึงไม่ใช่ทางออก และไม่สามารถทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นธรรมได้ เพราะโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว”
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า วันที่ 13 เม.ย. 2562 กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนดำเนินการประกาศค่ารักษาพยาบาลและยากว่า 1,000 รายการ จากทั้งหมดกว่า 5,000 รายการ ผ่านทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลและเว็บไซต์กลางของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบราคาก่อนเข้ารับการรักษา
ประเด็นข้างต้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูจากองค์กรภาคประชาสังคมว่าไม่ใช่ทางออกของปัญหาค่ารักษาพยาบาลและยาที่สูงเกินจริง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพยายามเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขเร่งกำหนดราคากลางที่เป็นมาตรฐาน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สำเร็จผล
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสพูดคุยกับ ‘สุภัทรา นาคะผิว’ อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ในฐานะที่ขับเคลื่อนการกำหนดราคากลางของยาและค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนอย่างเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง
สุภัทรา กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคเคยเรียกร้องให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พณ.) เป็นประธาน ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพและบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนมาโดยตลอด แต่พบว่า ค่ารักษาพยาบาลและยากลับแพงขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นการกำหนดราคาฝ่ายเดียวของผู้ประกอบธุรกิจ
กรณีดังกล่าว เคยเกิดกรณีร้องเรียนมาแล้ว โดยเป็นความเดือดร้อนของผู้ป่วยรายหนึ่งที่เข้ารับการรักษาจากอาการหมอนรองกระดูกในโรงพยาบาลเอกชน
อนุกรรมการฯ คอบช. เล่าว่า ผู้ป่วยรายนี้ต้องเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูก โรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก ระบุค่ารักษาพยาบาล 500,000 บาท แห่งที่ 2 ระบุ 400,000 บาท จึงตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลเอกชนแห่งที่ 2 เมื่อผ่าตัดเสร็จ ปรากฎว่า มีอาการแพ้ยา ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกราว 200,000 บาท ทั้งที่ไม่ใช่ปัญหาของผู้ป่วย เมื่อไม่มีเงินจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามา ทำให้โรงพยาบาลเอกชนฟ้องร้อง
“ค่าใช้จ่ายมีรายละเอียด เช่น ค่าวิชาชีพแพทย์ผ่าตัด 170,000 บาท ค่ายา และอื่น ๆ”
บริการสุขภาพเป็นบริการเชิงคุณธรรม ต้องควบคุม
สุภัทรา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาข้อมูลค่าใช้จ่ายยาในโรงพยาบาลเอกชน พบสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ 60-400 เท่า เพราะฉะนั้น เรามองว่า ถึงเวลาแล้วที่บริการด้านสุขภาพต้องมีราคาถูก มีการควบคุมเหมือนราคาสินค้าและบริการ เพราะบริการสุขภาพถือเป็นบริการจำเป็น เหมือนกับสินค้าที่จำเป็นกับชีวิตประจำวันของประชาชนและกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดมาตรการควบคุมไว้
“บริการสุขภาพเป็นบริการเชิงคุณธรรม จึงต้องควบคุม ดังนั้นการทำธุรกิจทางการแพทย์ จะต้องทำให้คุณธรรมและกำไรมีความสมดุลกัน ไม่ใช่จะคิดค่าบริการเท่าไหร่ก็ได้ โดยรัฐควรมีมาตรการเข้าไปแทรกแซง”
ทั้งนี้ การออกมาระบุของรัฐว่า ถ้ารู้สึกว่าราคาแพงก็ไม่ต้องใช้บริการนั้น เธอมองว่า ไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะในชีวิตจริง ถ้าปกติเราไม่มีภาวะฉุกเฉิน คงไม่ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เพราะทราบดีว่า มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ในบางช่วงชีวิตที่เลือกไม่ได้ และส่วนใหญ่ที่มาร้องเรียน พบมีปัญหาเวลาไปใช้บริการฉุกเฉินทั้งสิ้น เพราะเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลใกล้ที่สุด ผู้ป่วยบางรายเจอค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท บางรายเป็นล้านบาท
อนุกรรมการฯ คอบช. บอกว่า เราจึงพยายามเรียกร้องให้รัฐเข้าไปมีมาตรการแทรกแซงบริการนี้ เพื่อการกำกับควบคุมราคา ซึ่งมีหลายแบบ เช่น กรณีที่โรงพยาบาลเอกชนอ้างว่า การดำเนินการมีต้นทุน ดังนั้นควรให้เสนอโครงสร้างต้นทุนเข้ามา เพื่อให้ทราบว่ามีต้นทุนอะไรและราคาแพงกว่าที่อื่นอย่างไร หากเป็นระดับพรีเมียมก็ต้องแสดงมา เพื่อให้เห็นภาพ แล้วโรงพยาบาลเอกชนอาจคิดเพิ่มไปอีก 10% เป็นต้น
เพราะฉะนั้นการที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อ้างว่า ทำไม่ได้ จึงไม่น่าจริง และไม่น่าจะใช่ เพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ถูกระบุไว้อยู่แล้ว หากไม่ทำ จะถือเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่
ส่วนเรื่องยาถือเป็นสินค้าควบคุมราคาเช่นกันตามที่มีประกาศออกมาแล้ว แต่วิธีการควบคุม เธอระบุเป็นสิ่งตลก! แม้จะห้ามขายเกินราคาที่ติดฉลากข้างกล่องก็ตาม แต่กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนสามารถติดฉลากราคายาใหม่เองได้ เช่น ราคาข้างกล่อง 20 บาท นำสติ๊กเกอร์ขาวมาติด เขียนใหม่ 250 บาท เป็นต้น ทั้งที่ราคาข้างกล่องควรเป็นราคาที่ติดมาจากบริษัทเท่านั้น
จี้ สธ.-พณ. เลิกโบ้ยกัน ปมอำนาจกำหนดค่ารักษา-ยา รพ.เอกชน
เมื่อถามถึงการออกมาให้สัมภาษณ์ของนพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เกี่ยวกับแนวโน้มการกำหนดราคากลางค่ารักษาและยาในโรงพยาบาลเอกชน ระบุต้องใช้เวลา และขึ้นอยู่กับการออกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์นั้น ถือเป็นการโบ้ยความรับผิดชอบหรือไม่
สุภัทรา กล่าวว่าสบส.และกระทรวงพาณิชย์ กำลังโบ้ยกันไปมาและเป็นมานานแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขอ้างว่า สบส.มีหน้าที่ดูแลเรื่องมาตรฐาน ไม่ใช่เรื่องการกำกับราคา ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ อ้างกลับเช่นกันว่า ต้องให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ในฐานะเจ้าของเรื่อง
“เราเคยไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ได้รับคำตอบว่า ทำไม่ได้ ต้องให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง เสนอเข้ามาก่อน กระทรวงพาณิชย์จึงจะทำได้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขตอบไม่ใช่หน้าที่” อนุกรรมการฯ คอบช. กล่าว และว่า หากจะทำควรชวนกันมาคุย แต่กลับไม่มีการดำเนินการ โบ้ยกัน แล้วอยู่ดี ๆ เชิญโรงพยาบาลเอกชนมาแถลงว่าทำไม่ได้ ทั้งที่เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องทำอยู่แล้ว
ที่สำคัญ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนไปร้องทุกข์กับรัฐชัดเจน ดังนั้นจะมาอ้างว่า หากรู้ว่าราคาสูงไม่ต้องใช้บริการ พูดไม่ได้ เพราะโรงพยาบาลเอกชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากธุรกิจใช้ทรัพยากรส่วนรวมของประเทศทั้งหมด โรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ผลิตแพทย์หรือพยาบาลเอง เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า สิ่งที่ทำมาหากินเป็นบริการที่แตกต่างจากบริการอื่น ๆ เพราะเป็นบริการที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต
“คงไม่มีใครอยากเจ็บอยากป่วย และจริง ๆ ไม่มีที่ไหนปล่อยเสรีแบบนี้ เพราะยิ่งทำให้ฉุดราคาในระบบหลักประกันสุขภาพ และดึงทรัพยากรด้วย ทำให้ยิ่งมีปัญหาทั้งระบบ เพราะฉะนั้นการให้ประกาศราคาบนเว็บไซต์จึงไม่ใช่ทางออก และไม่สามารถทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นธรรมได้ เพราะโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว”
คิดค่ารักษาต้องเป็นธรรม อย่าหวังกอบโกย
อนุกรรมการฯ คอบช. กล่าวถึงทางออก กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ จะต้องมาพูดคุยกันเกี่ยวกับการกำหนดราคากลางของค่ารักษาพยาบาลและยาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งความจริงแล้ว กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำราคากลางไว้แล้ว นั่นแสดงว่า ปัจจุบันระบบสุขภาพมีราคากลางทั้งสิ้น
“อย่าบอกว่าไม่มีราคากลาง เพราะมีอยู่แล้ว คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยส่งให้กระทรวงพาณิชย์ด้วยซ้ำ แต่กลับมาอ้าง ฉะนั้นจึงไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่มีต้นทุนอยู่ เพียงแต่ว่า จะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง”
เหตุผลที่โรงพยาบาลเอกชนแพงเพราะต้องการให้บริการเฉพาะชาวต่างชาติ เธอบอกว่า แม้จะเป็นเมดิคัล ฮับ ให้บริการชาวต่างชาติ เป็นเรื่องที่พยายามดิ้น ซึ่งเข้าใจได้ เนื่องจากตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นมา ทำให้การดูแลคนในประเทศเหมือนยากขึ้น จึงหันไปให้บริการชาวต่างชาติแทน แต่เวลาคิดเรื่องค่ารักษาพยาบาลยังจำเป็นต้องมีความเป็นธรรม ไม่ใช่เห็นว่าเป็นชาวต่างชาติ จะขูดเอา ๆ ไม่ได้ เพราะถือเป็นบริการเชิงคุณธรรม
“คนไม่ว่าชาติไหนก็แล้วแต่ เจ็บป่วย ล้วนอยากมีชีวิตรอด เท่าไหร่ก็จ่าย พอเงินถูกดูดจากกระเป๋าไปหมด ก็ถูกปล่อยให้ตายอยู่ดี ไม่เป็นธรรมเหมือนกัน ไม่ใช่แปลว่าจะกอบโกยเงินโดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม ทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะบริการนี้เป็นบริการเชิงมนุษยธรรม”
สุภัทรา กล่าวยืนยันทิ้งท้ายว่า การกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนดำเนินการประกาศค่ารักษาพยาบาลและผ่านทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลและเว็บไซต์กลางของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา ดังนั้นเรายืนหยัดพยายามเดินหน้าเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อจะช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นธรรม และไม่ล้มละลายจากความเจ็บป่วย เนื่องจากต้องจ่ายเงินแพงเกินสมควร รัฐจึงต้องเข้าไปมีมาตรการแทรกแซง .
อ่านประกอบ:เลิกโบ้ยกัน! ‘สุภัทรา นาคะผิว’ วิจารณ์ สธ.-พาณิชย์ ปมอำนาจกำหนดราคากลางค่ารักษา รพ.เอกชน
องค์กรผู้บริโภคจี้กำหนดราคากลางยา-ค่ารักษา ก่อนเผยแพร่บนเว็บ
ภาพประกอบ:Raks Thai Foundation