เลิกโบ้ยกัน! ‘สุภัทรา นาคะผิว’ วิจารณ์ สธ.-พาณิชย์ ปมอำนาจกำหนดราคากลางค่ารักษา รพ.เอกชน
คอบช.ชี้ สธ.-พณ.โบ้ยเรื่องไปมา ปมอำนาจกำหนดราคากลางค่ารักษา-ยา รพ.เอกชน เผยแสดงค่ารักษาบนเว็บไม่ใช่ทางออก
สืบเนื่องจากนพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมาระบุถึงกรณีกระทรวงพาณิชย์ (พณ.)ให้โรงพยาบาลเอกชนดำเนินการประกาศค่ารักษาพยาบาลทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลและเว็บไซต์กลางของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2562 เป็นต้นไป และอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดราคากลางค่ารักษาที่ได้มาตรฐาน แต่ต้องขึ้นอยู่กับการออกกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า สบส.และกระทรวงพาณิชย์ กำลังโบ้ยกันไปมาและเป็นมานานแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขอ้างว่า สบส.มีหน้าที่ดูแลเรื่องมาตรฐาน ไม่ใช่เรื่องการกำกับราคา ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ อ้างกลับเช่นกันว่า ต้องให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ในฐานะเจ้าของเรื่อง
“เราเคยไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ได้รับคำตอบว่า ทำไม่ได้ ต้องให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง เสนอเข้ามาก่อน กระทรวงพาณิชย์จึงจะทำได้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขตอบไม่ใช่หน้าที่” อนุกรรมการฯ คอบช. กล่าว และว่า หากจะทำควรชวนกันมาคุย แต่กลับไม่มีการดำเนินการ โบ้ยกัน แล้วอยู่ดี ๆ เชิญโรงพยาบาลเอกชนมาแถลงว่าทำไม่ได้ ทั้งที่เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องทำอยู่แล้ว
ที่สำคัญ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนไปร้องทุกข์กับรัฐชัดเจน ดังนั้นจะมาอ้างว่า หากรู้ว่าราคาสูงไม่ต้องใช้บริการ พูดไม่ได้ เพราะโรงพยาบาลเอกชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากธุรกิจใช้ทรัพยากรส่วนรวมของประเทศทั้งหมด โรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ผลิตแพทย์หรือพยาบาลเอง เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า สิ่งที่ทำมาหากินเป็นบริการที่แตกต่างจากบริการอื่น ๆ เพราะเป็นบริการที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต
“คงไม่มีใครอยากเจ็บอยากป่วย และจริง ๆ ไม่มีที่ไหนปล่อยเสรีแบบนี้ เพราะยิ่งทำให้ฉุดราคาในระบบหลักประกันสุขภาพ และดึงทรัพยากรด้วย ทำให้ยิ่งมีปัญหาทั้งระบบ เพราะฉะนั้นการให้ประกาศราคาบนเว็บไซต์จึงไม่ใช่ทางออก และไม่สามารถทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นธรรมได้ เพราะโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว” น.ส.สุภัทรา กล่าวในที่สุด
อ่านประกอบ:องค์กรผู้บริโภคจี้กำหนดราคากลางยา-ค่ารักษา ก่อนเผยแพร่บนเว็บ