ดาวคนละดวงในการปฏิรูปประเทศ..
"...เข้าใจว่าที่รัฐบาลและ คสช. ตั้งคณะกรรมการจำนวนมากเพราะต้องการแยกภาระกิจกันทำ และเมื่อคณะเดิมที่ตั้งไว้เจออุปสรรคหรือข้อจำกัด เขาก็ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อให้ไปแก้ปัญหาหรืออุดช่องว่างเหล่านั้น แต่วิธีนี้อาจสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา คือทำให้คณะกรรมการอื่นเกิดสภาพลังเลสงสัยว่าใครมีอำนาจแค่ไหน ใครต้องฟังใคร คณะของตนมีหน้าที่แก้ไขข้อติดขัดหรือดำเนินการต่อไปเพียงใด และยังกลายเป็นภาระอย่างมากแก่หน่วยงานของรัฐที่ต้องร่วมมือและให้การสนับสนุน..."
นอกจากทำให้เห็นภาพรวมว่า ในการปฏิรูปประเทศที่เราได้ยินอยู่ทุกวันนี้มีใครกำลังทำหน้าที่อะไรอยู่บ้าง คำสั่ง คสช. ที่ 19/2561 ยังทำให้เข้าอีกว่า วันนี้ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดที่รู้จริงว่าแผนและวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูปประเทศนั้นควรเป็นอย่างไร ดังนั้นหากมองในแง่ดี คำสั่ง คสช. ฉบับนี้คือความพยายามอีกครั้งที่จะจัดกระบวนการทำงานให้บรรลุผล แต่อีกแง่หนึ่งต้องบอกว่า นับตั้งแต่มี สปช. และ สปท. เมื่อ 4 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้เรายังย่ำอยู่กับการลองผิดลองถูกโดยขาดการยอมรับและมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและคนส่วนใหญ่ในประเทศจนทำให้การปฏิรูปไม่ก้าวไปอย่างที่ควร
สาระสำคัญของคำสั่ง คสช. ฉบับนี้คือการจัดตั้ง “สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง” เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งไว้แล้วราว 36 คณะ (ดูรายชื่อท้ายบทความ) และอาจตั้งเพิ่มเติมขึ้นอีก
เข้าใจว่าที่รัฐบาลและ คสช. ตั้งคณะกรรมการจำนวนมากเพราะต้องการแยกภาระกิจกันทำ และเมื่อคณะเดิมที่ตั้งไว้เจออุปสรรคหรือข้อจำกัด เขาก็ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อให้ไปแก้ปัญหาหรืออุดช่องว่างเหล่านั้น แต่วิธีนี้อาจสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา คือทำให้คณะกรรมการอื่นเกิดสภาพลังเลสงสัยว่าใครมีอำนาจแค่ไหน ใครต้องฟังใคร คณะของตนมีหน้าที่แก้ไขข้อติดขัดหรือดำเนินการต่อไปเพียงใด และยังกลายเป็นภาระอย่างมากแก่หน่วยงานของรัฐที่ต้องร่วมมือและให้การสนับสนุน
แต่การมีคณะกรรมการมากอย่างนี้จะช่วยให้ปฏิรูปประเทศสำเร็จจริงได้จริงหรือ มีใครบอกได้ไหมว่าวันนี้แนวคิดและแผนงานของแต่ละคณะมีความต่อเนื่องหรือทับซ้อนกันอย่างไร หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ ยอมรับและพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางเดียวกันแล้วหรือไม่ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าด้วยขั้นตอนราชการทำให้ปีงบประมาณ 2562 ไม่มีหน่วยงานไหนตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิรูปเลย แม้แต่ปี 2563 ก็ยังไม่รู้ว่าจะตั้งได้ทันหรือเปล่า
มีข้อสังเกตอีกว่า คำสั่ง คสช. นี้ยังรวม คกก.อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ไว้ด้วย ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรด้วยกับเรื่อง ป.ย.ป. บางทีผู้ออกคำสั่งอาจตั้งใจให้ “หน่วยงานที่รัฐบาลชุดนี้ตั้ง” มีกฎหมายและหน่วยงานรองรับไว้ก็เป็นได้
เชื่อมั่นว่าคนไทยต้องการให้ปฏิรูปประเทศครั้งนี้สำเร็จและพร้อมให้การสนับสนุน ขอเพียงผู้มีอำนาจต้องเปิดกว้าง สร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมของคนในประเทศให้มากที่สุดครับ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
คณะกรรมการตามคำสั่ง คสช.:
คกก.บริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์และการสร้างความสามัคคีปรองดอง คกก.บริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คกก.เตรียมการปฏิรูปประเทศ คกก.เตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คกก.เตรียมการเพื่อสรางความสามัคคีปรองดอง คกก.ขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล คกก.ขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (มี 5 คณะ)
คกก.ติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล คกก.การปฏิรูปกฎหมายอย่างเร่งด่วน คกก.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คกก.อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ คกก.ประสานและขับเคลื่อนนโยบายประสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด คกก.ขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 คกก.ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม
ภาระกิจของสำนักงานแห่งนี้ ยังรวมถึงการประสานความร่วมมือกับ คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ คกก.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (มี 6 คณะ) คกก.ปฏิรูปประเทศ (มี 11 คณะ) และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่มา : มานะ นิมิตรมงคล