สปสช.เคาะแล้วเก็บ 30 บาท สมทบบัตรทอง ดีเดย์ 1 ส.ค.
มติบอร์ด สปสช.เก็บ 30 บ.รักษาโรค นำร่อง รพ.ใหญ่ 1 ส.ค. ชี้รายได้เข้าระบบปีละ 2 พัน ลบ.กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพระบุรัฐบาลได้แบรนด์ แต่กระทบคนจนจริง
วันที่ 13 มิ.ย.55 ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) มีมติเห็นชอบให้จัดเก็บเงินสมทบค่ารักษาพยาบาล 30 บาท จากผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ โดยจะเก็บเฉพาะผู้ป่วยที่แพทย์สั่งจ่ายยา ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้สิทธิบัตรทองมี 47 ล้านคน แบ่งออกเป็นผู้ที่ต้องร่วมจ่าย 30 บาท 23 ล้านคน ส่วนอีก 24 ล้านคน ได้รับการยกเว้นได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี พระสงฆ์ สามเณร ผู้พิการ ทหารเกณฑ์และทหารผ่านศึกทุกระดับชั้น นักเรียนทหาร อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ผู้นำชุมชน และผู้ที่มีฐานะยากจน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย
นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่าการเก็บเงินครั้งนี้จะทำให้โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 2,000 ล้านบาท และในอนาคตจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้พัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือสนับสนุนค่าตอบแทนบุคลากร ทั้งนี้จะเริ่มนำร่องเก็บ 30 บาท เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อาทิ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะดำเนินการหลังพัฒนาระบบให้มีคุณภาพ คาดว่าจะเริ่มเก็บได้ภายใน 1 ปี
รมว.สธ. กล่าวอีกว่าจะมีการยกระดับบริการภายหลังเก็บ 30 บาท ได้แก่ 1.ใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินฟรีไม่ต้องสำรองจ่าย 2.เปลี่ยนหน่วยบริการตามภูมิลำเนาได้ปีละ 4 ครั้ง 3.เข้ารับบริการได้ทั้งช่วงเช้าและบ่าย โดยมีการขยายบริการถึง 16.00 น. จากเดิมที่จะใช้สิทธิได้เฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ด สปสช.ยังพิจารณาขยายมารตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยปรับเพิ่มเพดานการจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข 3 กรณี คือ 1. เสียชีวิตหรือพิการถาวร ปรับเพิ่มจาก 2 แสนบาท เป็น 4 แสนบาท 2.กรณีพิการเพิ่มจาก 1.2 แสนบาทเป็น 2.4 แสนบาท 3.กรณีได้รับความเสียหายอื่นๆเพิ่มจาก 5 หมื่นบาทเป็น 1 แสนบาท คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 เดือน
ด้านกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกแถลงการณ์คัดค้านการเก็บเงินสมทบ 30 บาทดังกล่าว โดย น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าคนยากจนจะได้รับผลกระทบจากการต้องจ่ายเงินสมทบ 30 บาทตามมติดังกล่าว ซึ่งคนยากจนจำนวนมากเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องไปหาหมอและรับยาอยู่เป็นประจำ บางคนไปล้างแผลทุกวันก็ต้องจ่าย 30 บาททุกวัน นอกจากนี้การจะบอกว่าใครเป็นผู้ยากจนนั้นทำได้ยาก บางคนถูกกลั่นแกล้งทำให้ไม่ได้รับบัตรผู้ยากไร้ เพราะฉะนั้นการเก็บเงินสมทบแล้วยกเว้นคนว่าคนนี้เก็บคนนี้ไม่ต้องเก็บจึงไม่เกิดประโยชน์กับคนจนจริงๆ
“การเก็บ 30 บาทเป็นการสร้างแบรนด์ของรัฐบาล คนที่สนับสนุนนโยบายนี้ไม่ได้เป็นผู้ที่ใช้บัตรทอง คนชงข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยรู้รสแบบชาวบ้าน เงิน 2 พันล้านที่เก็บได้มันเข้าไปอยู่ในสถานบริการก็จริงแต่เป็นเบี้ยหัวแตก” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว .