กฤษฎีกา ชี้ขาด กกท. เบิกเงินกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพจ่ายโอที 2.7 แสนทำได้
กฤษฎีกา ชี้ขาดปม กกท. เบิกเงินกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพจ่ายค่าล่วงเวลาจนท. 2.7 แสนถูกต้อง หลัง สตง. สอบพบทำไม่ถูกระเบียบ ระบุชัดเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามสิทธิที่บุคคลพึงได้รับ แต่เห็นสมควรปรับปรุงระเบียบข้อบังคับใหม่ให้เป็นไปตามกม.
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย กรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบงบการเงินของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2559 โดยมีข้อสังเกตในการตรวจสอบงบการเงินสำหรับปี 2559 ว่า มีการเบิกค่าใช้จ่าย ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบ โดยจากการตรวจสอบค่าใช้จ่ายบุคลากร จำนวน 1,396,849.86 บาท พบว่ากองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ มีการเบิกจ่ายเงินค่าล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่ จำนวน 275,777.86 บาท
เบื้องต้นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) มีความเห็นว่า การที่การกีฬาแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้แก่ผู้ปฏิบัติงานตามอัตราของประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 จึงเป็นการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามสิทธิที่บุคคลดังกล่าวพึงจะได้รับแล้ว
ทั้งนี้ในการหารือข้อกฎหมายของกกท. ต่อ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในเรื่องนี้ กกท. อ้างอิงว่าเป็นการเบิกจ่ายตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด พ.ศ. 2554 หมวด 2 หลักเกณฑ์การจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ข้อ 10 และ ข้อ 11 ที่กำหนดอัตราและการคำนวณค่าล่วงเวลา โดยคำนวณจากเงินเดือนต่อชั่วโมงคูณจำนวนชั่วโมงของการทำงานล่วงเวลา นั้น เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้อง เนื่องจากกองทุนต้องถือปฏิบัติตามข้อ 16 แห่งระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายและการเก็บรักษาเงินกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2553 ซึ่งคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ออกระเบียบดังกล่าวโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ที่กำหนดว่า "การเบิกจ่ายเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ได้แก่ ค่าเบี้ยประชุม ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่ารับรอง ค่าตอบแทนและอื่น ๆ ให้แก่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ที่ปรึกษา คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน บุคลากรทางการกีฬา และเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามอัตราของทางราชการโดยอนุโลม"
ดังนั้น กกท. จึงขอหารือในประเด็น ดังต่อไปนี้
1. กรณีพนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยหรือผู้ช่วยปฏิบัติงานโครงการต่าง ๆ ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในการตรวจสอบเอกสารของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพในการดำเนินงานตามภารกิจของการกีฬาแห่งประเทศไทย และมิได้เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งหรือว่าจ้างจากคณะกรรมการบริหารกองทุน จะถือว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามอัตราของการกีฬาแห่งประเทศไทยหรือตามอัตราของเจ้าหน้าที่กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ
2. กรณีข้อ 16 "การเบิกจ่ายเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ได้แก่ ค่าเบี้ยประชุม ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่ารับรอง ค่าตอบแทนและอื่น ๆ ให้แก่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ที่ปรึกษา คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน บุคลากรทางการกีฬา และเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามอัตราของทางราชการโดยอนุโลม" คำว่า "เจ้าหน้าที่" ให้หมายความรวมถึงพนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยหรือผู้ช่วยปฏิบัติงานโครงการของการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วยหรือไม่
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณาข้อหารือของการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (สำนักงานปลัดกระทรวง) ผู้แทนกระทรวงแรงงาน(กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้แทนการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยได้อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยพนักงานและลูกจ้างของฝ่ายการคลังและฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานโครงการของการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยว่าจ้างจากงบประมาณของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายเงินของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ ซึ่งเป็นภารกิจของกองพัฒนากีฬาอาชีพ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดเพื่อดำเนินงานตามภารกิจดังกล่าว การกีฬาแห่งประเทศไทยได้เบิกจ่ายจากเงินกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด พ.ศ. 2554 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเบิกจ่ายเพื่อตอบแทนการปฏิบัติงานให้แก่พนักงานและลูกจ้างของการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งมีฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
แต่ในการตรวจสอบงบการเงินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีการตรวจสอบงบการเงินของกองทุนดังกล่าวและมีข้อสังเกตว่า การเบิกจ่ายค่าล่วงเวลาจากเงินของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพจะต้องเบิกจ่ายตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายและการเก็บรักษาเงินกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2553 ซึ่งข้อ 16 แห่งระเบียบดังกล่าวกำหนดให้เบิกจ่ายในอัตราของทางราชการโดยอนุโลม การที่การกีฬาแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราค่าล่วงเวลาของพนักงานและลูกจ้างของการกีฬาแห่งประเทศไทยจึงเป็นการเบิกจ่ายเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามข้อ 16 ทั้งนี้ หากการกีฬาแห่งประเทศไทยประสงค์จะเบิกจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานล่วงเวลาตามอัตราของพนักงานหรือลูกจ้างของการกีฬาแห่งประเทศไทยจะต้องทำการเบิกจ่ายจากงบประมาณของการกีฬาแห่งประเทศไทยตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด พ.ศ. 2554
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวประกอบกับข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว เห็นสมควรกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การกีฬาแห่งประเทศไทยสามารถเบิกจ่ายเงินจากกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพเพื่อเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้แก่พนักงานและลูกจ้างของการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานตามภารกิจของการกีฬาแห่งประเทศไทยในการตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายเงินของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพในอัตราของพนักงานและลูกจ้างของการกีฬาแห่งประเทศไทยได้หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 บัญญัติให้การกีฬาแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการกีฬาอาชีพ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ และคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษา วิเคราะห์และรวบรวมข้อมูล และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการกีฬาอาชีพ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ และคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ การปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายเงินของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพของพนักงานและลูกจ้างของการกีฬาแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของการกีฬาแห่งประเทศไทยและกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพในขณะเดียวกัน แต่เนื่องจากข้อ 3 แห่งระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายและการเก็บรักษาเงินกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2553 กำหนดบทนิยามคำว่า "เจ้าหน้าที่" ไว้ หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือว่าจ้างจากคณะกรรมการบริหารกองทุน ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุน ระเบียบดังกล่าวจึงต้องใช้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือว่าจ้างจากคณะกรรมการบริหารกองทุนให้ปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ซึ่งได้รับอนุมัติให้ปฏิบัติงานล่วงเวลาเพื่อตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายเงินของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพเป็นพนักงานและลูกจ้างของการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายการคลัง ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานโครงการของการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้ว่าจ้างจากงบประมาณของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ พนักงานและลูกจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตามข้อ 3 แห่งระเบียบดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจนำข้อ 16 แห่งระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายและการเก็บรักษาเงินกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2553 มาใช้ได้ และโดยที่การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจตามบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" และอยู่ในความหมายของคำว่า "นายจ้าง" ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 การกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะนายจ้างจึงย่อมผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามสภาพการจ้างซึ่งเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้าง อันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงต้องปฏิบัติตาม ข้อ 37 และข้อ 42 แห่งประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 และในกรณีที่พนักงานหรือลูกจ้างของการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว
ดังนั้น การที่การกีฬาแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้แก่ผู้ปฏิบัติงานตามอัตราของประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 จึงเป็นการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามสิทธิที่บุคคลดังกล่าวพึงจะได้รับแล้ว
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) มีข้อสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ในการบริหารกองทุน การกีฬาแห่งประเทศไทยสามารถเบิกจ่ายจากกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพได้ แต่เนื่องด้วยระเบียบหรือข้อบังคับของการกีฬาแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของกองทุน มิได้กำหนดอัตราค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดของบุคคลที่มาปฏิบัติงานให้แก่กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ไว้ ดังนั้น หากการกีฬาแห่งประเทศไทยประสงค์จะใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพก็สมควรปรับปรุงระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดอัตราค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้แก่บุคคลดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป