เสียงดังแต่ฟังไม่ชัด..."ธงทอง"แจงมติเยียวยา กับ5คำถามค้างคาที่ยังพลิ้ว
นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันอังคารที่ 12 มิ.ย.2555 เพื่ออธิบายมติที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 5/2555 วันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีประชาชนทั่วไปที่เป็นเหยื่อเหตุร้ายรายวัน และกำหนดตัวเลขเงินเยียวยาสำหรับเหยื่อความรุนแรงชุดแรก ได้แก่ กรณีตากใบ, สะบ้าย้อย, กรือเซะ และกรณีคนหาย คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร
นายธงทอง ซึ่งออกตัวว่าเป็นเลขานุการคณะกรรมการเยียวยากรณีภาคใต้ แจกแจงหลักเกณฑ์การเยียวยาแต่ละกลุ่มแต่ละเหตุการณ์ ดังนี้
1.กรณีประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เดิมเสียชีวิตได้รับ 1 แสนบาท เพิ่มเป็น 5 แสนบาท ทุพพลภาพเดิมได้รับ 8 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 5 แสนบาท โดยผลของการเพิ่มอัตราเงินเยียวยาจะนับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตและทุพพลภาพหลังจากนั้นจะได้รับอัตราใหม่ทันที
ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้าที่ ครม.จะมีมติ ย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ม.ค.2547 เนื่องจากมีจำนวนมาก จึงไม่ง่ายที่จะจัดการให้เรียบร้อยในคราวเดียว จึงได้วางแนวทางให้จ่ายให้หมดภายใน 4 ปีงบประมาณ คือ 2555-2558 เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณมากเกินไป สมมติผู้เสียหายรายหนึ่งเคยได้เงินเยียวยา 1 แสนบาท แต่ตามหลักเกณฑ์ใหม่พึงได้ 5 แสนบาท ก็จะได้เพิ่มอีก 4 แสนบาท แต่วิธีการจ่ายอาจจะแบ่งจ่ายปีละ 1 แสนบาท 4 ปีงบประมาณ อย่างนี้เป็นต้น
กลุ่มนี้มีทั้งสิ้นราว 3,800 คน สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐน่าจะได้รับตามเกณฑ์ใหม่อยู่แล้ว
2.เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ แต่มติคณะกรรมการเยียวยาฯ พูดถึง 2 เหตุการณ์จาก 2 พื้นที่ คือ ที่มัสยิดกรือเซะ พิจารณาโดยใช้ข้อมูลของคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ในมัสยิดกรือเซะ ที่มี นายสุจินดา ยงสุนทร อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธาน (ไต่สวนและสรุปเมื่อปี 2547 หลังเกิดเหตุ) ซึ่งเสนอให้รัฐควรพิจารณาจ่ายเงินค่าช่วยเหลือให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายโดยอาศัยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก
สรุปก็คือให้จ่ายเยียวยาเป็นเงิน 4 ล้านบาทโดยไม่ดูว่าฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูก แต่ดูในแง่มนุษยธรรม จึงช่วยเหลือทุกฝ่ายทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เงินนี้ผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ใช้ คนที่ได้ใช้คือทายาทและครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งถามว่าคนเหล่านั้นรู้เห็นเป็นใจกับเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะหรือไม่ ก็ตอบไม่ได้ ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นการช่วยเหลือเยียวยาเพื่อประคับประคองให้ทุกฝ่ายก้าวผ่านความยากลำบากไปให้ได้ ประกอบกับจุดเกิดเหตุคือภายในมัสยิด ซึ่งเป็นศาสนสถาน มีความสำคัญด้านจิตใจ
สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ 3 รายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่น่าจะยังน้อยกว่าอัตราที่จะให้ใหม่นี้ ก็จะดำเนินการให้ได้รับครบถ้วนตามมติของคณะกรรมการเยียวยาฯต่อไป
ที่มาของตัวเลข 4 ล้านบาท มาจากระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ระเบียบ กพต.) ซึ่งได้วางหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเอาไว้เบื้องต้น 5 แสนบาท บวกการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 7 ล้านบาท แต่สำหรับกรณีกรือเซะ ยึดหลักตรงกลางของระเบียบนี้ จึงให้ลดลงกึ่งหนึ่ง ได้แก่ 5 แสนบาทในเบื้องต้น บวกกับอีก 3.5 ล้านบาทที่ให้เพิ่มเติม รวมเป็น 4 ล้านบาท
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดในวันที่ 28 เม.ย.2547 คือที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้สอบสวนเป็นการภายในแล้ว รวมทั้งการใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ พบร่องรอยว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีแนวทางการทำงานไม่พอเหมาะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จึงคิดว่าเป็นไปตามเกณฑ์ในระเบียบ กพต. ประกอบกับผู้เสียชีวิตทั้ง 19 รายก็เป็นเยาวชนด้วย จึงเยียวยาให้เต็มจำนวน 7.5 ล้านบาท
3.เหตุการณ์ตากใบ (สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย เหตุเกิดเมื่อ 25 ต.ค.2547) มีความชัดเจนว่าเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงใช้เกณฑ์เดียวกับสะบ้าย้อย
4.กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2547 มูลเหตุเกิดจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนช่วยเหลือผู้ต้องหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องโดยตรง แม้เหตุการณ์ไม่ได้เกิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ถือว่าเกี่ยวโยงกัน จึงมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาเต็มจำนวน 7.5 ล้านบาท และไม่ตัดสิทธิการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
5.กรณีบุคคลสูญหาย (อุ้มหาย) แยกเป็น 2 กรณี คือหากมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ก่อนจะสูญหายมีคนเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐพาไป อย่างนี้จะได้ 7.5 ล้านบาท แต่ถ้าไม่มีหลักฐานชัดเจน เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นว่าเจ้าหน้าที่รัฐน่าจะเกี่ยวข้อง ก็จะลดดีกรีลง คือช่วยเหลือเยียวยา 4 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะมีอนุกรรมการพิจารณากลุ่มบุคคลสูญหายเป็นการเฉพาะว่าแต่ละรายเข้าข่ายหลักเกณฑ์ข้อใด
5 คำถามที่ยังตอบไม่เคลียร์
อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายของการแถลง มีการตั้งคำถามจากสื่อมวลชนหลายคำถามซึ่ง นายธงทอง ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ได้แก่
1.เหตุใดกรณีเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 จึงจ่ายเงินเยียวยาไม่เท่ากัน ประเด็นนี้ นายธงทอง กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ได้อธิบายไปแล้วว่ารายละเอียดของเหตุการณ์แตกต่างกันอย่างไร จึงไม่ขออธิบายซ้ำ เมื่อซักว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐก่อนเหมือนกัน แต่ นายธงทอง กล่าวเพียงว่า รายละเอียดของเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน แต่ไม่ขอก้าวล่วงที่จะอธิบายว่าไม่เหมือนกันอย่างไร
2.การจ่ายเงินเยียวยาทั้งกรณีผู้ชุมนุมทางการเมือง และกรณีผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้กฎหมายใดรองรับ นายธงทอง กล่าวว่า ในอดีตเคยจ่ายมาหลายครั้ง ก็เป็นการจ่ายตามมติ ครม.ทั้งนั้น ครั้งนี้ก็เช่นกัน ถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยใช้งบกลางในหมวดรายจ่ายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำกันแบบนี้
3.การตัดสินใจจ่ายเยียวยาในอัตรา 4 ล้านบาท ถึง 7.5 ล้านบาทโดยอ้างว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่หลายกรณีไม่มีผลทางคดีรองรับ จะสร้างความสับสนในแง่กฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ นายธงทอง ตอบว่า มติของคณะกรรมการเยียวยาฯไม่ได้พูดถึงในแง่กฎหมาย แต่มองที่หลักมนุษยธรรม
4.หลายกรณียังไม่มีความชัดเจนทางคดี เช่น คดีทนายสมชาย ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือคดีที่มัสยิดกรือเซะ อัยการก็สั่งไม่ฟ้อง มติการจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาลที่ระบุว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จะทำให้เกิดการฟ้องร้องหรือรื้อคดีขึ้นใหม่ หรือสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ประเด็นนี้ นายธงทอง ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม
5.เหตุใดหลักเกณฑ์การเยียวยา โดยเฉพาะในแง่ของการไม่ตัดสิทธิการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม (กรณีของทนายสมชาย) จึงแตกต่างจากกรณีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง นายธงทอง ตอบว่า วิธีคิดคนละอย่าง แม้ตัวเลขจะออกมาเหมือนกันคือ 7.5 ล้านบาท แต่ทั้งที่มาที่ไป สาเหตุของปัญหาในภาคใต้ล้วนแตกต่างจากชุมนุมทางการเมือง ฉะนั้นความต่างของเกณฑ์การเยียวยา จึงมาจากความต่างของสภาพเหตุการณ์ที่ไม่เหมือนกัน
ประเด็นเดียวกันนี้ นายธงทอง ยังได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมในช่วงของการแถลงข่าวด้วยว่า กรณีทนายสมชายมีความชัดเจนว่าไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และระดับนโยบายไม่เกี่ยวข้อง แต่ระดับเจ้าหน้าที่ไปทำกันเอง ส่วนกรณีชุมนุมทางการเมือง เป็นเรื่องที่ระดับนโยบายสั่งการ ซึ่งการจะวินิจฉัยว่าผิดหรือถูกเป็นเรื่องที่ต้องว่าไปตามกระบวนการ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ นายธงทอง จันทรางศุ จากเว็บไซต์เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th/politics/116319