ส่องกม.ปราบทุจริตใหม่มาเลฯ ยุคมหาเธร์ เอาผิดเอกชนขี้โกง คุก 20 ปี ปรับ 1 ล้านริงกิต
"... หากเกิดเหตุว่าพนักงานในองค์กรมีพฤติกรรมทุจริต ทางบริษัทจะต้องมีส่วนรับผิดชอบไปด้วย ไม่ว่าจะรู้ถึงพฤติกรรมทุจริตของเจ้าหน้าที่บริษัทหรือไม่ก็ตาม เว้นเสียแต่ว่าทางบริษัทได้แสดงให้เห็นแล้วว่าบริษัทได้มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อยับยั้งพฤติกรรมทุจริตของเจ้าหน้าที่บริษัท ถ้าเป็นเช่นนั้นทางบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบทางกฎหมายจากพฤติกรรมทุจริตของพนักงานบริษัท..."
"ไม่รับ ไม่ให้ ของขวัญในเทศกาลปีใหม่"
คือ เสียงเรียกร้องผ่านจดหมายเปิดผนึกของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ไปยังหน่วยงานราชการให้นำนโยบายงดรับของขวัญ หรือ No Gift Policy มาใช้ โดยกำหนดให้บุคลากรในองค์กรทุกระดับ งดรับของขวัญตามเทศกาลต่างๆ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา
ACT ระบุชัดเจนว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ถือเป็นความริเริ่มสร้างสรรค์ ช่วยลดโอกาสของการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐโดยแอบแฝงไปกับการให้ของขวัญตามประเพณี และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติ พร้อมขอชื่นชมหน่วยราชการและองค์กรของภาครัฐต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาแล้วในปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดี และโปร่งใสให้กับหน่วยราชการ และองค์กรภาครัฐของไทย ให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ (อ่านประกอบ:ไม่รับ-ไม่ให้ ของขวัญ’ จุดเริ่มการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน)
หากพิจารณาในมุมมองการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องร้องให้หน่วยงานภาครัฐ ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญในการต่อต้านป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านการให้ของขวัญตามประเพณีในช่วงเทศกาลปีใหม่ดังกล่าว ต้องยอมรับว่า เป็นนโยบายที่ดีเรื่องหนึ่ง เพราะสำหรับสังคมไทยแล้ว การให้ของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมแห่ง การ "ให้" และการ "รับ" ที่ฝั่งรากลึกมายาวนาน ถ้าสามารถเริ่มต้นปรับเปลี่ยนสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่จุดนี้ได้ ก็น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ แห่งวัฒนธรรม การให้ และการ รับ เรื่องอื่นๆ ให้ปลอดจากเรื่องการทุจริตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย
ขณะที่ ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เคยแสดงความเห็นต่อนโยบายเรื่องนี้ ในช่วงปลายปี 2560 ที่ ACT เริ่มต้นจุดประเด็นนโยบายเรื่องนี้ ให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรมว่า "เหตุผลที่ควรเลิกการปฏิบัติแบบนี้กล่าวคือ เป็นภาระและสิ้นเปลือง ผู้ให้ต่างหวังที่จะวิ่งเต้นเส้นสายเอาใจนายหรือแสดงการสวามิภักดิ์ เพื่อหวังประโยชน์ตอบแทนหรือหวังให้ได้รับการส่งเสริมให้ได้รับลาภยศได้ตำแหน่งที่ดีหรือให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในวันข้างหน้า ซึ่งทุกเหตุผลที่กล่าวมาล้วนเข้าข่ายการมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ทั้งสิ้น แม้จะมีข้าราชการและเอกชนจำนวนมากที่ไม่เต็มใจจะเที่ยวเอาของขวัญไปให้ผู้ใหญ่ แต่ก็เกรงว่าเมื่อคนอื่นเขายังทำกันอยู่ หากตนไม่ทำก็จะเสียโอกาสหรือโดนเจ้านายหาเหตุตำหนิเอาภายหลังได้ ดังนั้นเรื่องนี้หากได้กำหนดเป็นนโยบายที่ทุกหน่วยงานของรัฐทำเหมือนๆ กัน ก็จะเป็นการช่วยให้ความตั้งใจของทุกๆ ฝ่ายประสบความสำเร็จไปด้วย เพราะไม่ต้องกังวลหรือถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐอีกต่อไป" (อ่านประกอบ : ไม่รับ-ไม่ให้ ของขวัญ’ จุดเริ่มการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน)
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในสังคม ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากมาตลอด ก็คือ กำหนดบทลงโทษทางกฎหมายที่ยังไม่รุนแรงเพียงพอ รวมไปถึงความจริงจังและจริงใจของหน่วยงานรัฐ และผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ในการเร่งสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด ภายใต้ระบบ "อุปถัมภ์"
น่าสนใจว่า ในต่างประเทศ มีข้อกำหนดบทลงโทษทางกฎหมาย รวมไปถึงข้อห้ามเรื่องการรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ข้าราชการอย่างไรบ้าง?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ www.bakermckenzie.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของบริษัทที่ปรึกษานานาชาติ พบว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฉบับแก้ไข ค.ศ. 2018 ซึ่งมีการออกข้อบังคับขั้นตอนการสอบสวน รวมไปถึงการดำเนินคดีกับบริษัทเอกชน ที่ถูกสอบสวนพบว่ามีส่วนรู้เห็นในคดีทุจริตอย่างเข้มงวดด้วย
สำหรับรายละเอียดการแก้ไขกฎหมายนั้นมีดังต่อไปนี้
-นอกเหนือจากธนาคารแล้ว สถาบันทางการเงินต่างๆที่ถูกจดทะเบียนทำธุรกรรมทางการเงินภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคลังปี ค.ศ.2013, กฎหมายการเงินปี ค.ศ.2013,กฎหมายว่าด้วยการบริการทางการเงินปี ค.ศ.2007 และกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ปี ค.ศ. 2007 จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับนี้
-จะต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ที่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
-ตามกฎหมายฉบับเดิมนั้นระบุแค่ว่าเจ้าหน้าที่จากทางราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายใต้กำกับของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเท่านั้นที่จะมีสิทธิขึ้นให้การเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของทรัพย์สินของผู้ที่ถูกสอบสวน ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่ง จึงได้มีการแก้ไขตรงนี้ออกไป โดยเปลี่ยนเป็นคำว่า ใครก็ได้มีสิทธิที่จะขึ้นให้การ
-เอกสารใดที่อยู่ภายใต้การครอบครองของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้สามารถนำไปใช้บนชั้นศาลได้ทุกกรณีโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะขัดแย้งต่อกฎหมายอื่น และให้ถือว่าการใช้เอกสารดังกล่าวนั้นมีผลทำให้เอกสารอื่นๆที่ถูกตีตกไปโดยกฎหมายอื่นๆสามารถมีผลในชั้นศาลได้ด้วย
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวยังได้ระบุถึงภาระของภาคเอกชนที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย เพื่อให้เกิดมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มีผลบังคับใช้ได้จริง โดยการเอาภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้นถือว่าเป็นหลักที่ยึดโยงกับ กฎหมายป้องกันการให้หรือรับสินบนของสหราชอาณาจักร
ซึ่งขอบเขตของภาคเอกชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและถูกบังคับใช้ภายใต้กฎหมายฉบับนี้นั้นไม่ได้มีแค่บริษัทสัญชาติมาเลเซียอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงบริษัทต่างประเทศที่ธุรกิจในประเทศมาเลเซียด้วย โดยบุคลากรในบริษัททุกระดับจะถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
กฎหมายฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่าหากเกิดเหตุว่าพนักงานในองค์กรมีพฤติกรรมทุจริต ทางบริษัทจะต้องมีส่วนรับผิดชอบไปด้วย ไม่ว่าจะรู้ถึงพฤติกรรมทุจริตของเจ้าหน้าที่บริษัทหรือไม่ก็ตาม เว้นเสียแต่ว่าทางบริษัทได้แสดงให้เห็นแล้วว่าบริษัทได้มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อยับยั้งพฤติกรรมทุจริตของเจ้าหน้าที่บริษัท ถ้าเป็นเช่นนั้นทางบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบทางกฎหมายจากพฤติกรรมทุจริตของพนักงานบริษัท
แต่ถ้าหากบริษัททำผิดกฎหมาย ให้สันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัททั้งผู้อำนวยการและระดับบริหารมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้นเว้นเสียแต่ว่าจะหาข้อมูลมายืนยันว่าไม่ได้มีส่วนร่วม รู้เห็นและยินยอมกับการที่บริษัทกระทำผิดกฎหมาย และต้องมีการแสดงให้เห็นด้วยว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วเพื่อไม่ให้บริษัทไปกระทำการอันทุจริต
ทั้งนี้ หากสืบสวนสอบสวนจนพบข้อมูลที่แน่ชัดแล้วว่า บริษัทเป็นผู้ที่กระทำความผิดจริงบริษัทรวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องโทษปรับเป็นจำนวนเงิน 10 เท่าของเงินที่ได้กระทำการทุจริต หรือจะต้องปรับเป็นเงิน 1 ล้านริงกิต หรือตั้งโทษจำคุกเป็นระยะเวลาไม่เกิน 20 ปี หรือต้องโทษทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น จึงถือว่าเป็นหน้าที่ของบริษัท องค์กรธุรกิจการค้าต่างๆที่จะต้องสอดส่องภายในองค์กรเพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นซึ่งรวมไปถึงการที่บริษัทจะเป็นผู้ให้ของขวัญ สื่อบันเทิงต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตตามมา และจะต้องมีการฝึกฝนและออกมาตรการที่เข้มแข็งให้กับพนักงาน เพื่อให้บริษัทไม่ต้องเข้าไปพัวพันกับกรณีทุจริต (ที่มาข้อมูล: https://www.bakermckenzie.com/en/insight/publications/2018/10/the-malaysian-anti-corruption-commission)
จากการศึกษาข้อกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ของประเทศมาเลเซียฉบับนี้ จะพบว่า ให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้ออกมาให้ข้อมูลเรื่องการทุจริต รวมไปถึงการสอบสวนลงโทษบริษัทเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทุจริตอย่างมาก และยังสอดคล้องกับนโยบายของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ที่กำลังชูนโยบายป้องกันและปราบปรามการทุจริตในประเทศ รวมไปถึงประเด็นการทุจริตทั้งในหมู่ข้าราชการและฝ่ายเอกชนด้วย
เห็นได้จากการสอบสวนคดีทุจริตของอดีตผู้บริหารประเทศต่างๆ ที่มีความคืบหน้าเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม หลังจากที่ มหาเธร์ โมฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา
ชี้ให้เห็นความจริงจังและจริงใจ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาในการแถลงข่าวหลังการรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ที่ มหาเธร์ โมฮัมหมัด เน้นเป็นพิเศษเรื่องจะโยกย้ายหรือปลดข้าราชการชั้นสูงและหัวหน้าหน่วยงานอิสระบางรายที่ทำงานรับใช้รัฐบาลนาจิบ ราซัก โดยกล่าวว่า “ศีรษะ (ของข้าราชการ) บางรายจะต้องขาด” (Some heads will fall) (อ่านประกอบ : 100 วัน ในสัญญาของ รัฐบาล ‘มหาเธร์’)
และนั้น อาจเป็นความแตกต่าง ระหว่าง มาเลเซีย และไทย เกี่ยวกับนโยบายป้องกันและปราบการทุจริตในประเทศ ที่ปรากฎให้เห็นเด่นชัด ณ ห้วงเวลานี้ อย่างชัดเจน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/