ก.เกษตรรับลูกครม.เร่งชดเชยราษีไศล-3อ่างเก็บน้ำศรีสะเกษ
ก.เกษตรฯ มอบกรมชลฯเร่งตรวจสอบสิทธิ์ หลังครม.อนุมัติจ่ายชดเชยผู้ได้รับผลกระทบฝายราศีไศล ห้วยตาจู ห้วยขนุน ห้วยด่านไอ จ.ศรีสะเกษ 230 ล้านบาท
วันที่ 13 มิ.ย.55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบอนุมัติในหลักการจ่ายเงินชดเชยแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิของราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด จำนวน 1,142 แปลง เนื้อที่ 4,172 ไร่ ในอัตราไร่ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 133.542 ล้านบาทด้วยแล้ว โดยการดำเนินการต่อจากนี้ให้กรมชลประทานพิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 รวมทั้งให้กำกับตรวจสอบสิทธิของบุคคลให้เป็นไปอย่างถูกต้องและการจ่ายเงินให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและโปร่งใส
“การตรวสอบจะมีคณะกรรมการกำกับดูแลการจ่ายเงินทั้ง 3 จังหวัด มีผู้ว่าฯเป็นประธาน ทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายค่าชดเชย โดยการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฝายราษีไศล เป็นการดำเนินการตามกรอบปฏิบัติที่กำหนดไว้คือพื้นที่ไม่ทับซ้อน มีการรับรองการทำประโยชน์จากคณะทำงานแก้ไขปัญหาระดับอำเภอ และคณะทำงานพิจารณาคำร้องคัดค้านประกาศอำเภอ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ทั้ง 3 จังหวัด และคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ตามขั้นตอนแล้ว”
นายอภิชาต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติการจ่ายเงินชดเชย ค่าที่ดินเป็นกรณีพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู จ.ศรีสะเกษ ในอัตราไร่ละ30,000 บาท จำนวน 216 แปลง วงเงินที่ใช้ไม่เกิน 48 ล้านบาท โดยให้กรมชลประทานพิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 และให้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนในรายการที่มีสิทธิอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการอนุมัติจ่ายค่าชดเชย ค่าขนย้ายเป็นกรณีพิเศษ (ค่าที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ) ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขนุนวงเงิน 43.656 ล้านบาท และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยด่านไอ จ.ศรีสะเกษ 5.206 ล้านบาท โดยให้กรมชลประทานพิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 ซึ่งการจ่ายค่าขนย้ายจะจ่ายได้ไม่เกินสิทธิที่เกษตรกรถือครองที่ดิน โดยควรมีหลักฐานของทางราชการมาประกอบ และเนื้อที่ที่จะจ่ายค่าขนย้ายต้องไม่เกินแปลงว่างที่เหลือตามปรากฏในแผนที่ ร.ว.43 ก.
ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขนุน และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยด่านไอ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2536 และเป็นปัญหาข้อเรียกร้องจากเกษตรกร โดยในการพิสูจน์สิทธิเรื่องการทำประโยชน์ในที่ดินย้อนหลังจะต้องนำภาพถ่าย ทางอากาศมาใช้ประกอบการพิจารณาจ่ายเงินค่าขนย้าย แต่จากการตรวจสอบของกรมแผนที่ทหารพบว่าไม่มีภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2530 และปีใกล้เคียง จึงจำเป็นต้องขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ก.ค.35 (ข้อ5.2) ประกอบกับเรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการของรัฐที่สมควรให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว