โซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา หลายแห่งเปิดใหม่ หลังถูกปิด 'เปลี่ยนชื่อ-เจ้าของ-ย้ายที่'
เสียงปชช.สะท้อนโซนนิ่งคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ทำร้านเหล้าลดลงจริง แต่ยังท้าทายอำนาจลอยนวลเปิดใหม่ แค่เปลี่ยนชื่อร้านที่ตั้ง เผยคุมพื้นที่ร้านเหล้าที่มีอยู่กว่า3 หมื่นแห่ง ทำให้ผลกระทบลดลงได้
วันที่ 3 ธันวาคม 2561 ที่เดอะฮอล์บางกอก เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยปลอดเหล้าทั้ง 70 แห่ง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนา “คุมโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา พัฒนาให้ยั่งยืนได้อย่างไร” ภายในงานมีการแสดงละครชุด “ปกป้องเยาวชนจากภัยน้ำเมา”
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า เครือข่ายได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและภูมิภาค ต่อกรณีโซนนิ่งควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ตามคำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 ระหว่างวันที่ 25-30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จำนวน1,500คน พบกลุ่มตัวอย่าง 1ใน 3หรือร้อยละ32.56 เท่านั้นที่รับรู้กฎหมายโซนนิ่งควบคุมร้านเหล้าตามคำสั่ง คสช. โดนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า คือการห้ามมีร้านเหล้ารอบสถานศึกษา
นอกจากนี้ ร้อยละ 65.39 ยังระบุว่า การมีคำสั่งคสช. ทำให้ร้านเหล้าลดลง ที่น่าห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง ร้อยละ 52.39 ชี้ว่า ยังไม่เคยพบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจร้านเหล้ารอบสถานศึกษาเลย
เมื่อถามถึง เคยทราบหรือพบเห็นร้านเหล้าทำผิดกฎหมายแล้วสั่งปิดหรือไม่ กว่าร้อยละ 67.03ตอบว่า เคยทราบและพบเห็น นอกจากนี้ 1ใน4 ยังทราบอีกว่า หลายแห่งถูกสั่งปิดไปแล้ว ยังกลับมาเปิดใหม่ได้ แค่เปลี่ยนชื่อร้าน ย้ายที่ตั้ง เปลี่ยนเจ้าของ
“จากผลสำรวจ สะท้อนชัดเจนว่า ผลกระทบที่เกิดจากร้านเหล้ารอบสถานศึกษา คือ เสียงดัง ทะเลาะวิวาท จราจรติดขัด อาชญากรรม อุบัติเหตุ การล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด และเมื่อมีกฎหมายนี้ ทำให้ร้านเหล้าลดลงจริง ข้อสำคัญคือร้านรายใหม่ก็จะมาเปิดในพื้นที่นี้ไม่ได้ ปัญหาต่างๆโดยรวมมีแนวโน้มลดลง ส่งผลดีขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ร้านนม ร้านอาหาร ร้านหนังสือ เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามเครือข่ายต้องการเห็นความยั่งยืนของคำสั่งนี้ ด้วยการสนับสนุนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ในกระทรวงยุติธรรมมีสถานะความเป็นเจ้าภาพที่ชัดเจน มีความเข้มแข็ง มีงบประมาณและคนทำงานที่มากขึ้น เพื่อรับมือกับภารกิจสำคัญนี้ซึ่งเป็นการจัดการกับปัญหาที่ต้นน้ำ ไม่ใช่จัดการแค่คนที่ทำผิดมาแล้ว” นายคำรณ กล่าว
นายปิยวัชน์ คงอินทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การควบคุมโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษาตามคำสั่ง คสช.22/2558ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ สามารถคุมร้านเหล้าให้อยู่ในที่ในทาง ร้านใหม่ไม่เพิ่ม ร้านเดิมทำตามกฎหมาย ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยได้ให้ความร่วมมือสอดส่องเฝ้าระวัง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสรรพสามิต เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ออกตรวจย้ำเตือนผู้ประกอบการห้ามทำผิดกฎหมาย หยุดธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จัดโปรโมชั่น โฆษณากระตุ้นยอดขายด้วย
“เราต่อสู้กับค่านิยมนี้มานานมาก และคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง เน้นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เชียร์ชื่นชมให้กำลังใจร้านนม ร้านอาหารที่เข้ามาทดแทนร้านเหล้า สื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริหารในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งนี้ ใกล้ถึงช่วงเลือกตั้ง จึงอยากเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างๆที่กำลังหาเสียงอยู่ขณะนี้ เสนอนโยบาย ที่ชัดเจนเน้นปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชนจากปัญหาอบายมุข ของมึนเมา และหากเข้ามาทำหน้าที่จะต้องกล้าหาญต่อสู้กับกลุ่มทุนที่มีอิทธิพล ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เพราะทุกวันนี้กลุ่มทุนได้ครอบงำสังคมไปมากแล้ว” นายปิยวัตย์ กล่าว
นางสาวสุภาภรณ์ ชมชัย เลขาคณะกรรมการศูนย์อำนวยการกำกับติดตามผลการดำเนินงานตามคำสั่ง คสช ที่ 22/2558 (ศอกต.) กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายโซนนิ่งควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ประสบความสำเร็จได้ผลยั่งยืนนั้น มาจากปัจจัยหลายส่วน ทั้งต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของชุมชน ภาคประชาสังคม สถานศึกษา นักเรียน ช่วยดูแลสอดส่องค่อยแจ้งเหตุ ทำให้ปัญหาอบายมุขรอบสถานศึกษาทั้ง3หมื่นกว่าแห่ง ลดลงอย่างต่อเนื่อง
“ล่าสุด ศอกต.ได้ประชุมหารือและวางกรอบแนวทางไว้ว่า ต้องมีการทบทวนปรับปรุงมาตรการกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พ.ร.บ.สุรา ของกรมสรรพสามิต พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ร.บ.สถานประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายให้ยั่งยืน กำหนดคำนิยามให้ครอบคลุมทุกสถานประกอบการ เนื่องจากในอนาคต หลังเลือกตั้ง ถ้าหากไม่มีคำสั่งคสช.ที่ 22/2558แล้ว มาตรการทางกฎหมาย รูปแบบนโยบายการดำเนินงานต่างๆต้องสานต่อ เพื่อไม่ให้ปัญหาเดิมกลับมาอีก ขณะเดียวกัน ศอกต. ยังเปิดรับการแจ้งเหตุร้องเรียนการทำผิดกฎหมายของสถานประกอบการ ได้ที่เบอร์ 02-1416501” นางสาวสุภาภรณ์ กล่าว
ขณะที่ นายธีรเสริฐ วัชฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานกำกับ สืบสวน และปราบปราม สำนักงานสอบสวนและนิติกร กรมการปกครอง กล่าวว่า ตั้งแต่มีคำสั่งคสช.ที่ 22/2558 ทำให้ทุกฝ่าย นักศึกษา เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ตื่นตัวขึ้นมาก ซึ่งอยากให้มีคำสั่งต่อเนื่อง เพราะอะไรที่เป็นกฎหมาย หรือเป็นคำสั่งมันส่งผลดีและเกิดประโยชน์กับประชาชนและบ้านเมืองทั้งนั้น